ผู้เกี่ยวข้องในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดนครราชสีมาเห็นอย่างไร กับเศรษฐกิจและตลาดอสังหาริมทรัพย์ เป็นสิ่งที่พึงรับฟัง และเป็นภาพสะท้อนเศรษฐกิจไทยได้เป็นอย่างดี
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ได้สำรวจด้วยแบบสอบถามกับผู้เข้าสัมมนาตลาดอสังหาริมทรัพย์โคราช (นครราชสีมา) จำนวน 102 ราย จากผู้เข้าสัมมนาประมาณ 150 ราย ซึ่งเป็นนักพัฒนาที่ดิน นักลงทุน นายหน้า นายธนาคารและอื่น ๆ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ฯ จึงขอสรุปผลการสำรวจเบื้องต้น ดังนี้:
1. ในการประเมินภาวะเศรษฐกิจของจังหวัดนครราชสีมาปัจจุบัน หากคะแนนเต็มร้อย จะพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามให้คะแนนอยู่ที่ 48.6% หรือต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไม่สู้ดีนัก ทั้งนี้คงเป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจภาคการเกษตรไม่ดี ราคาสินค้าเกษตรกรรมตกต่ำนั่นเอง
2. เมื่อเทียบกับปี 2556 หรือก่อนรัฐประหาร พบว่า มีเพียง 21% ที่ตอบว่าในเศรษฐกิจจังหวัดนครราชสีมาในปัจจุบันดีกว่า ส่วนใหญ่ 61% ตอบว่าเศรษฐกิจในปี 2556 ดีกว่า และอีก 18% ตอบว่าพอ ๆ กัน การนี้แสดงให้เห็นว่าภายหลังจากรัฐประหารที่ผ่านมา แม้รัฐบาลจะพยายามพัฒนาเศรษฐกิจไทยทั่วประเทศ แต่ก็ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร รัฐบาลจึงควรพิจารณาหาทางกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้ผลกว่าที่ทำอยู่นี้
3. สำหรับการคาดการณ์เศรษฐกิจในอีก 1 ปีข้างหน้า ปรากฏว่า 49% คาดว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่อีก 51% คาดว่าเศรษฐกิจก็ยังจะคงสภาพปัจจุบันหรือเสื่อมถอยลงอีก ข้อนี้แสดงให้เห็นว่าประชาชนยังขาดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ จึงสมควรที่รัฐบาลจะต้องหาทางแก้ไขและสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมา
4. สำหรับตลาดที่อยู่อาศัยในจังหวัดนครราชสีมาในปัจจุบัน ผ่านการประเมินอย่างเฉียดฉิวที่ 51% การที่เป็นเช่นนี้ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะจังหวัดนครราชสีมาอาจเป็นที่ตั้งของส่วนราชการเป็นจำนวนมาก ถือเป็นศูนย์ราชการขนาดใหญ่ที่เป็นประตูสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงที่ผ่านมา แม้เกษตรกรจะได้รับผลกระทบหนักทางเศรษฐกิจ แต่ข้าราชการก็ยังไม่ได้รับผลกระทบ ไม่มีการดุนข้าราชการออก ไม่มีการลดเงินเดือนข้าราชการ และยังมีการขึ้นเงินเดือนและโบนัสอื่น จึงยังมีกำลังซื้อดี ทำให้ตลาดที่อยู่อาศัยในจังหวัดนครราชสีมา ยังมีการเติบโตอยู่ ตลาดที่อยู่อาศัยปี 2556 และในขณะนี้จึงแทบไม่มีความแตกต่างกัน
5. อย่างไรก็ตามมีเพียง 47% ที่คาดว่าตลาดที่อยู่อาศัยในอีก 1 ปีข้างหน้า จะดีกว่านี้ ส่วนใหญ่ยังคิดว่าไม่แตกต่างจากปีนี้หรืออาจจะแย่ลงไปบ้าง ผลจากการสำรวจตลาดที่อยู่อาศัยในจังหวัดนครราชสีมา ยังพบว่า ขณะนี้การขายชะลอตัวลงเป็นอย่างมาก การเปิดตัวโครงการใหม่ ๆ มีน้อยกว่าเดิมมาก เพราะผลของเศรษฐกิจโดยรวมนั่นเอง
6. สำหรับความเห็นต่อการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ปานกลาง) ปรากฏว่า ประชาชนมีความเชื่อมั่นประมาณ 60% ว่าจะมีการก่อสร้างในเร็ววัน การก่อสร้างโครงการนี้ รวมทั้งโครงการทางหลวงพิเศษ (Motorway) จากบางปะอินไปจังหวัดนครราชสีมา จะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดนครราชสีมาในอนาคต
7. สำหรับอุปสรรคในการพัฒนา เป็นดังนี้:
โครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมขนส่งไม่ทั่วถึง 28%
ราคาที่ดินสูง 17%
รายได้ของผู้ซื้อ และภาระหนี้สินต่อครัวเรือน 13%
เศรษฐกิจ และการจ้างงานโดยรวมซบเซา 11%
การเมืองไม่สงบ 6%
นโยบายโดยรวมด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล 6%
การจัดวางผังเมืองไม่ดี 4%
ความเข็มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ 4%
ไม่มีการรวมกลุ่ม เพื่อเสริมสร้างอำนาจต่อรอง 4%
เอกสารสิทธิ์ อุปสรรคเกี่ยวกับที่ดินทับซ้อน 4%
การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม 2%
8. สำหรับมาตรการที่ควรดำเนินการ ในหลัก ๆ ได้แก่ ให้ลดอัตราภาษี และค่าธรรมเนียมการซื้อ-ขาย ที่อยู่อาศัย การออกมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ (เช่น บ้านหลังแรก, อัตราดอกเบี้ยพิเศษ, สิทธิพิเศษทางภาษี, บ้านประชารัฐ ฯลฯ) การผ่อนปรน และลดความเข้มงวดในการให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตามรัฐบาลก็ได้ดำเนินมาตรการเหล่านี้อยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถกระตุ้นได้เท่าที่ควร จึงควรมีมาตรการอื่น ๆ อีก
โดยสรุปแล้ว เศรษฐกิจในจังหวัดนครราชสีมาตกต่ำลงกว่าแต่ก่อนทั้งที่รัฐบาลก็พยายามกระตุ้นอยู่แต่ยังไม่ได้ผลมากนัก ตลาดที่อยู่อาศัยในจังหวัดนครราชสีมา ก็ยังไม่ดีขึ้นกว่าแต่เดิมนัก โดยเฉพาะการขายเชื่องช้าลง การเปิดตัวโครงการใหม่ลดน้อยลงกว่าแต่ก่อน ประชาชนต้องการให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ส่วนมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่ประชาชนอยากได้นั้น ก็ได้ดำเนินการแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร จึงควรหามาตรการกระตุ้นใหม่ ๆ ที่ยั่งยืน