เรื่องนี้น่าคิด หากบังเอิญเราครอบครองบ้านสักหลังที่อยู่มาแต่เกิดและตกทอดมาจากคุณปู่ ซึ่งตอนนี้กลายเป็นทำเลทอง มีมูลค่า 100 ล้านบาท แต่เราในฐานะที่เป็นคนจนหรือมีรายได้เพียงบำนาญปีละ 2 แสนบาทเพื่อครอบชีพ จะมีปัญญาไปเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปีละ 0.1% หรือ 1 แสนบาทได้อย่างไร หากภาษีนี้ผ่านสภา อย่างนี้เท่ากับบีฑาคนจนหรือไม่
กรณีนี้อาจเกิดขึ้นได้เช่น
1. เราเป็นข้าราชการเกษียณอายุแล้ว มีรายได้ไม่มาก แต่บังเอิญอยู่บ้านหลังดังกล่าวที่มีราคานับร้อยล้านมาแต่เกิดที่คุณพ่อหรือคุณปู่ซื้อไว้หลายสิบปีแล้ว
2. เราเป็นเด็กหนุ่มสาวที่เพิ่งจบมหาวิทยาลัยมา และมีรายได้น้อยมาก แต่บังเอิญได้รับมรดกเป็นบ้านราคาแพงมาจากญาติผู้ใหญ่ผู้วายชนม์
3. "พจมาน สว่างวงศ์" ได้มรดก "บ้านทรายทอง" เป็นต้น
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ให้คำอธิบายว่า ประเด็นหลักที่พึงเข้าใจร่วมกันคือ คนไทยทุกคนไม่ว่าจนหรือไม่ ไม่อาจปฏิเสธการเสียภาษี ทุกคนเสียภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อม การที่ใครสักคนมีทรัพย์มูลค่าสูง ถ้าไม่อยากเสียภาษี ก็ขายทรัพย์ดังกล่าวไป ตัวเองก็จะกลายเป็นคนรวยขึ้นมาทันที เพราะได้เงินมานับร้อยล้าน ไปซื้อบ้านอยู่ที่อื่น ยังมีเงินเหลือ เอาไว้เสพสุขได้อีกมากมาย
บางท่านอาจโต้แย้งว่า ก็เราไม่อยากขาย เราอยู่มาตั้งแต่เกิดจนโต จะให้ขายบ้านที่ "เจ้าคุณปู่" สั่งเสียไว้ก่อนตายว่าให้รักษาให้ลูกหลานได้อย่างไร ในข้อนี้เราพึงคำนึงถึงคติในการอยู่ร่วมกันในสังคม จะนำมาอ้างส่งเดชไม่ได้ ทุกคนมีทรัพย์ก็ต้องเสียภาษี เช่น ถ้าเรามีรถจักรยานยนต์เก่า ๆ สักคันราคา 30,000 บาท ก็ต้องเสียภาษีรายปีราว 300 บาท หรือ 1% ในปัจจุบัน ถ้าเรามีห้องชุดในโครงการอาคารชุดสักห้องหนึ่ง ถึงแม้เราไม่เข้าไปอยู่เลย เราก็ยังมีหน้าที่ที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนกลางเพื่อรักษาสภาพชุมชนให้ดี หาไม่ก็ต้องถูกหักค่าส่วนกลางที่ค้างนี้จากราคาขายเมื่อขายได้เพื่อเข้าเป็นรายได้ของนิติบุคคลอาคารชุดนั้น
ต่อคนจนจริงๆ สังคมจะต้องดูแล หาไม่คนจนอาจถูกแรงกดดันจนกลายเป็นโจร หรือพวกลักเล็กขโมยน้อย ก่อปัญหาความไม่สงบขึ้นในสังคม หรือกระทั่งอาจเกิดกบฏหรือการปฏิวัติสังคมโดยคนจน ทำให้แม้แต่คนรวยๆ ก็จะ "อยู่ยาก" ในสังคมที่คนจนถูกเอาเปรียบ ถูกกดขี่ขูดรีดแรงงานนั่นเอง แต่ในกรณีคนที่ครอบครองทรัพย์มหาศาล ไม่ใช่คนจน เขาเป็นคนรวยเพราะมีทรัพย์ เพียงแต่ไม่มีรายได้เท่านั้น ดังนั้น เราจึงจะอ้างความจนบังหน้า มาแอบครอบครองทรัพย์สินโดยไม่เสียภาษีไม่ได้ ถือเป็นบาปอย่างหนึ่ง ทุกคนจึงควรมีหิริโอตตัปปะในเรื่องนี้
ถ้าผู้ที่ได้รับมรดกมา ต้องการจะรักษาทรัพย์ที่ "เจ้าคุณปู่" สะสมไว้ให้ ก็ต้องทำตนให้มีคุณสมบัติเพียงพอ นั่นก็คือ ต้องมีรายได้เพียงพอที่บำรุงรักษาและเสียภาษี หาไม่ก็ต้องขายทรัพย์เพื่อนำมาเสียภาษีและใช้จ่าย จะได้ไม่เป็นภาระแก่สังคม แถมยังทำให้ตนเองรวยขึ้นในบัดดลจากทรัพย์สินนั้น บางทีเราคงยึดความจริงด้านเดียวว่า ทรัพย์สินที่เราซื้อมา จะเป็นของเราชั่วกาลปาวสาร แต่เราปฏิเสธความจริงอีกด้านหนึ่งว่า ในการครอบครองทรัพย์นั้นเราต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย คือต้องเสียภาษีเพื่อบำรุงท้องถิ่น พัฒนาประเทศ เราจะอ้างความจนมาเลี่ยงภาษีไม่ได้ ตราบเท่าที่คนจนที่ประกอบอาชีพเป็น "มอเตอร์ไซค์รับจ้าง" ยังต้องเสียภาษีล้อเลื่อนปีละราว 1%
แต่บังเอิญว่าในสังคมบิดเบี้ยวนี้ พวกผู้มีอำนาจใหญ่โตทั้งหลายพากันหลีกเลี่ยงภาษีต่าง ๆ นานา ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะกระทบต่อคนรวยที่สะสมที่ดินก็ไม่ออกมา ภาษีมรดกก็เปิดช่องโหว่ให้หลีกเลี่ยงกันมากมาย ดังนั้นภาระภาษีจึงตกแก่คนจน คนชั้นกลางที่เลี่ยงภาษีได้ยากทั้งภาษีทางตรงและภาษีทางอ้อม อันได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น ด้วยเพราะตัวอย่างของการเอาเปรียบของพวกอภิสิทธิชนเหล่านี้นี่เอง ชาวบ้านธรรมดาจึงเอาอย่างด้วยการพยายามหาข้ออ้างเลี่ยงภาษีให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เช่นกัน และก็เพราะคนรวย ๆ เลี่ยงภาษี คนธรรมดาจึงต้องเสียภาษีแพง ๆ เช่น ภาษีโรงเรือนจากการให้เช่า ก็เก็บสูงถึงปีละ 12.5% จึงยิ่งทำให้ทุกคนพยายามเลี่ยงภาษี
เราต้องให้ทุกคนเสมอหน้ากันในทางกฎหมาย ไม่ใช่อ้างความเป็นอภิสิทธิชน หรือความเป็นคนจนมาเลี่ยงกฎหมายนั่นเอง