ตามที่มีข่าวเร็วๆ นี้ถึงการนำบุตรหลานของผู้หลักผู้ใหญ่ในองค์กรของรัฐเข้ารับราชการอย่างขัดความรู้สึกประชาชน แต่ไม่ขัดระเบียบราชการนั้น ดร.โสภณ ในฐานะผู้บรรยายด้าน CSR เห็นว่าการฝากเด็กจะส่งผลร้ายต่อองค์กร ทำให้บุคลากรขาดประสิทธิภาพและองค์กรถดถอยในที่สุด
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ซึ่งเคยสอนในระดับปริญญาเอกด้าน Soft Laws และความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR: Corporate Social Responsibility) และเขียนหนังสือชื่อ "CSR ที่แท้" กล่าวถึงกรณีข้อวิจารณ์เกี่ยวกับ "เด็กฝาก" ในหน่วยราชการ ว่าเป็นสิ่งที่จะสร้างปัญหาในระยะยาว ทำให้องค์กรอ่อนแอ และถดถอยในที่สุด
ระบบเด็กฝากทำลายองค์กร
องค์กรที่เต็มไปด้วย "เด็กฝาก" ย่อมส่งผลเสียคือ
1. ทำให้ไม่ได้คนที่ดีที่สุดเข้ามาทำงานที่ควรมาจากการแข่งขันอย่างโปร่งใส
2. ทำให้องค์กรไม่พัฒนาเท่าที่ควร และก่อให้เกิดแนวโน้มการถดถอยในที่สุด ถือเป็นการกัดกร่อนองค์กร ทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดน้อยลง ในระยะยาว จะเห็นได้ว่าถ้าเป็นองค์กรของรัฐก็สู้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ ถ้าเป็นวิสาหกิจเอกชน ก็สู้วิสาหกิจอื่นไม่ได้ เพราะอาการ "เน่าใน" เช่นนี้เอง
3. ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม บั่นทอนกำลังใจคนดีมีความสามารถจำนวนมาก
4. สร้างอภิสิทธิชนที่สืบทอดด้วยตำแหน่งและวงศ์ตระกูล
5. เป็นการนำหน่วยราชการ องค์กร มาหากินเพื่อประโยชน์ส่วนตัวอย่างน่าละอาย
6. ก่อให้เกิดการทุจริต ตั้งแต่ตอนรับเข้า และในยามที่ผู้ใหญ่ที่ได้ฝากฝังตนมา ทำการทุจริต ก็คงไม่นำพา ไม่อาจทัดทานหรือตรวจสอบ ปล่อยให้ผลประโยชน์ของชาติเสียหายไปต่อหน้าต่อตา
7. เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แตกแยกเป็นก๊กเป็นเหล่าภายในองค์กรจากเด็กฝากของแต่ละฝ่าย ทำให้สูญเสียความเป็นเอกภาพ
8. ทำให้ระบบฝากฝังตำแหน่งอยู่ไปชั่วกาลปาวสาร ตั้งแต่การแต่งตั้งโยกย้าย ซื้อตำแหน่ง ส่งส่วย ฯลฯ กลายเป็นจุดกำเนิดของการทุจริตทั้งปวงนั่นเอง
ข้ออ้างมีเด็กฝากมักฟังไม่ขึ้น
การมีเด็กฝากโดยมีข้อยกเว้นว่าไม่ต้องผ่านการสอบนั้น มักมาจากข้อว่าว่า
1. เป็นบุตรหลานของผู้มีคุณต่อหน่วยราชการ ข้อนี้ควรพิจารณาใหม่ การทดแทนบุญคุณของคนนั้น ไม่จำเป็นต้องเอาเกียรติภูมิ ศักดิ์ศรีและอนาคตขององค์กรมาเสี่ยงต่อการถดถอยหรือแปดเปื้อนด้วย เติ้งเสี่ยวผิงเคยกล่าวไว้ว่า "อันบุญคุณของท่านที่ช่วยข้าพเจัาส่วนตัวนั้น ข้าฯก็เห็นแจ้งอยู่ หากท่านตัองการอะไรจากข้าฯ เป็นส่วนตัวแล้วไซร้. ข้าฯก็ยินดี ตอบสนองคุณท่าน มิได้ลืม แต่ประเทศชาติหาได้เป็นหนี้บุญคุณต่อท่านไม่ ข้าฯ มิอาจตอบแทน บุญคุณส่วนตัว ดัวยผลประโยชน์ของชาติได้" (http://goo.gl/7Ci6qz)
2. การเป็นวิชาชีพหายาก ในความเป็นจริง วิชาชีพหายากนั้นแทบไม่มี และหากเรามีระเบียบให้จ้างพิเศษด้วยอัตราค่าจ้างพิเศษ หรือจ้างชั่วคราว หรือจ้างแบบรับจ้างทำของ เป็นที่ปรึกษาชั่วครั้งคราวก็ได้ ไม่จำเป็นต้องจ้างตลอดชีวิต ยิ่งเป็นการรับราชการตั้งแต่อายุยังน้อย ความเชี่ยวชาญพิเศษที่ว่าเป็นวิชาชีพหายากคงไม่มี นี่เป็นเพียงข้ออ้างเพื่อหวังทุจริตเป็นสำคัญ
ควรเกรงใจประชาชนเจ้าของประเทศ
การแต่งตั้งบุคคลที่เป็นเครือญาติกับผู้บริหารระดับสูงในองค์กร เสี่ยงต่อการถูกครหา แต่บางครั้งผู้บริหารก็อาจ "หน้ามืด" หรือ "ด้านได้ อายอด" อย่างไรก็ตามผู้บริหารมักอ้างระเบียบที่มีอยู่ หรือธรรมเนียมปฏิบัติที่กระทำ (แบบโกงๆ) กันมาโดยตลอด นี่จึงเป็นอุทาหรณ์ของการกระทำที่ "ถูกกฎหมาย แต่ผิดจริยธรรม" กฎหมายในที่นี้ก็คือ Hard Laws แต่ในเชิง Soft Laws หรือมาตรฐานจรรยาบรรณ เป็นสิ่งที่ไม่พึงปฏิบัติ ผู้บริหารที่ไม่ยี่หระต่อการนี้ ย่อมเสี่ยมความน่าเชื่อถือ นับว่าขาดวิสัยทัศน์ที่เพียงเพื่อหวังเอื้อประโยชน์ต่อเครือญาติ กลับทำลายความน่าเชื่อถือของตนเองต่อสังคม
จะเห็นได้ว่า ก่อนหน้านี้เคยมีการรณรงค์กันว่า คนที่มีนามสกุลเดียวกัน เช่น บุพการีและบุตร สามีและภริยา พี่และน้อง ไม่พึงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะอาจทำให้เกิด "การขัดกันแห่งผลประโยชน์" (https://goo.gl/QOrcNq) แต่ทีการสมัครเข้ารับราชการ ผู้บริหารองค์กรกลับยอมรับการรับคนนามสกุลเดียวกันเข้าทำงานได้โดยไม่ต้องผ่านการสอบแม้แต่น้อย ข้อที่น่าคิดก็คือ ถ้าผู้บริหารนั้นหมดอำนาจไป ก็คงไม่สามารถ "ฝากเด็ก" ได้เช่นนี้อีก
อันที่จริง กรณีนักการเมืองใช้นามสกุลเดียวกันลงสมัคร ส.ส. ส.ว. หรืออะไรก็ตามที ไม่พึงไปห้ามด้วยซ้ำไป การที่ประชาชนจะศรัทธาในตระกูลนักการเมือง เช่น ตระกูลเคเนดี คานธี ชินวัตร เทือกสุบรรณ ฯลฯ ก็เป็นสิทธิของพวกเขาในฐานะเจ้าของประเทศ ตราบเท่าที่เราต้องควบคุมให้มีการเลือกตั้งอย่างสุจริต ถ้าจับได้ว่ามีการซื้อเสียง ก็ต้องจัดการขั้นเด็ดขาดนั่นเอง แต่ในกรณีของการเข้ารับราชการซึ่งเป็นผลประโยชน์ของชาติ จะเอาบุญคุณของคนมาทดแทนกันไม่ได้