ราคาที่ดินที่มีการซื้อขายจริงในปี 2558 เป็นเงิน 1.9 ล้านบาทต่อตารางวา อยู่ถนนชิดลม ดร.โสภณ เสนอให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลการซื้อขายเพื่อความโปร่งใส และควรจ้างประเมินค่าให้ถ้วนถี่ก่อนการซื้อขายจริงเพราะค่าใช้จ่ายต่ำมาก
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ได้เปิดเผยว่าในรอบปี 2558 แม้ราคาตลาดที่ศูนย์ฯ ประเมินไว้สูงสุดที่ 1.9 ล้านบาทต่อตารางวา บริเวณติดสถานีรถไฟฟ้าสยามสแควร์ ชิดลมและเพลินจิต แต่บันทึกการซื้อขายที่ดินจริงที่แพงที่สุดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อยู่ที่ถนนชิดลมในราคา 1.9 ล้านบาทต่อตารางวาเช่นกันโดยมีขนาด 3 ไร่ ซึ่งแม้จะไม่ได้ติดถนนเพลินจิต แต่ก็อยู่ในบริเวณใกล้เคียง
อย่างไรก็ตามในกรณีราคาเรียกขาย ซึ่งยังไม่มีการซื้อขายจริง และคงเป็นราคาที่สูงกว่าราคาตลาดที่ควรจะเป็นยังมีการเรียกขายในราคา 2.2 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดที่ศูนย์ฯ ประเมินไว้ที่ 1.9 ล้านบาท และสูงกว่าราคาประเมินทางราชการที่กรมธนารักษ์ประเมินไว้เพียง 1.0 ล้านบาทต่อตารางวาบริเวณถนนสีลม ที่ดินที่เสนอขายราคาแพงได้แก่
1. ที่ดิน 4 ไร่เศษ ติดปากซอย 6 ถนนสุขุมวิท เสนอขายในราคา 2.2 ล้านบาทต่อตารางวา
2. ที่ดินเกือบ 4 ไร่ ติดถนนสีลม ใกล้แยกถนนเดโช เสนอขายในราคา 2.2 ล้านบาทต่อตารางวาเช่นกัน
อย่างไรก็ตามเชื่อว่าที่ดิน 2 แปลงนี้คงไม่สามารถขายได้ในราคาดังกล่าวในปี 2559 นี้ คงเป็นราคาเรียกขายที่ต้องมีการต่อรองกันเพื่อให้ได้ราคาตลาดที่เหมาะสมต่อไป แต่ถ้าขายได้ตามราคาดังกล่าว ก็นับเป็นความโชคดีของเจ้าของที่ดิน
ดร.โสภณ เสนอว่า รัฐบาลควรเปิดกว้างในการเปิดเผยราคาซื้อขายบ้านและที่ดินในบริเวณต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้ทราบถึงการซื้อขาย เพื่อป้องกันการฟอกเงิน เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลประกอบการตั้งราคาซื้อ-ขายที่เหมาะสม ทั้งนี้ในประเทศตะวันตก บุคคลสามารถไปขอรับข้อมูลการซื้อขายโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายหรือบางแห่งก็สามารถซื้อข้อมูลดังกล่าวในราคาถูกเพื่อใช้สำหรับการประเมินค่าทรัพย์สินของบริษัทประเมิน สถาบันการเงิน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ทำให้การประเมินค่าทรัพย์สินมีมาตรฐานที่ดี
ยิ่งกว่านั้นโดยที่ราคาประเมินทางราชการต่ำกว่าความเป็นจริง ทำให้รัฐบาลเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมโอนเพื่อนำเงินภาษีไปพัฒนาประเทศได้น้อย ดร.โสภณ จึงเสนอให้การซื้อขายทรัพย์สินทั้งหลายต้องผ่านการประเมินก่อนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม เช่น อาจเป็นทรัพย์ที่มีราคาตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป ดังนั้น รัฐบาลก็จะมีข้อมูลในการจัดทำราคาประเมินทุนทรัพย์ที่สอดคล้องกับความเป็นจริงยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายในการประเมิน ทางราชการเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายจ้างบริษัทประเมินเอง เพราะค่าใช้จ่ายถูกมาก อย่างเช่นแปลงที่ดินที่มีการซื้อขายจริงขนาด 3 ไร่ ณ ราคาตารางวาละ 1.9 ล้านบาทที่ถนนชิดลมนั้น รวมเป็นเงินถึง 2,280 ล้านบาท หากคิดค่านายหน้า 3% ก็จะเป็นเงินสูงถึง 68.4 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ค่าจ้างประเมินคงเป็นเงินประมาณ 20,000 บาทตามอัตราค่าจ้างมาตรฐานของสมาคมผู้ประเมินฯ เท่านั้น แต่หากเป็นกรณีของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) คงคิดค่าจ้าง 100,000 บาท เพราะทำการประเมินอย่างละเอียดครบถ้วน
อย่างไรก็ตามค่าจ้างประเมินไม่ว่าจะเป็น 20,000 บาท หรือ 100,000 บาท ก็เป็นเพียง 0.001% ถึง 0.004% เท่านั้น หรืออาจกล่าวได้ว่า ค่าจ้างประเมินเป็นเพียง 1 ใน 114,000 ส่วนของราคา - 1 ใน 22,800 ส่วนของราคาเท่านั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าค่าจ้างถูกมาก รัฐบาลสามารถจ้างผู้ประเมินได้มากกว่า 1 รายเพื่อการสอบทานข้อมูลได้อีกต่างหาก ซึ่งนับว่าคุ้มค่ามากเมื่อสามารถเก็บภาษีมาพัฒนาประเทศได้มากขึ้น
ทางราชการมีโอกาสหาเงินเข้าหลวงได้ไม่ยาก เพียงแค่ "ถอนขนห่าน" จากกลุ่มทุนใหญ่ ๆ ได้แบบนี้ ซึ่งพวกเขาก็คง "ขนหน้าแข้งไม่ร่วง" อยู่แล้ว อยู่ที่ทางราชการจะเต็มใจเก็บภาษีกับกลุ่มทุนใหญ่หรือไม่