เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 มีข่าว "นักปั่นจักรยานแซง 6 ล้อไม่พ้น ล้มลงใต้ล้อรถทับดับ" (tinyurl.com/hv82gaf) ก่อนหน้านี้ก็มีข่าว "ดร.วัย38 ซ้อมปั่น Bike For Mom เกิดอุบัติเหตุ (เสียชีวิต 15 สิงหาคม 2558 tinyurl.com/hhco2qy) รวมทั้งข่าวทำนองเดียวกันอีกมากมาย นครต่างๆ ควรมีนโยบายจักรยานอย่างไรดี ถ้าทำให้ดีไม่ได้ ก็เท่ากับเป็นการพาคนไปตายบนถนน เป็นการฆ่าคนขี่จักรยานโดยเฉพาะ เพราะโอกาสเกิดอุบัติเหตุมีมาก นครนิวยอร์กยังไม่สำเร็จ เป็นการเบียดบังช่องทางการจราจรที่มีอยู่น้อยนิดอยู่แล้วอีกต่างหาก ดร.โสภณ เสนอให้ใช้ทางเท้าเป็นเลนจักรยาน พร้อมเสนอแนวทางการสร้างเมืองจักรยานที่แท้จริง
ล่าสุด ได้ดำเนินการก่อสร้างทางจักรยานตามนโยบายของรัฐบาล ไปแล้วรวมทั้งสิ้น 765 กิโลเมตร อยู่ระหว่างก่อสร้าง 19 กิโลเมตร และเตรียมการก่อสร้างเพิ่มอีก 2,225 กิโลเมตร ซึ่งเชื่อว่าคงมีแต่ตัวเลข ไม่อาจสร้างได้จริง เพราะไม่เป็นประโยชน์ ท่านรัฐมนตรี และครอบครัวเอง ก็คงไม่ขี่จักรยาน ปกติรถก็ติดมากมายอยู่แล้ว ถนนควรสร้างเพิ่ม แม้ไม่มีรถใหม่สักคัน เพราะตอนนี้มีน้อยกว่าจำนวนรถเป็นอันมาก
ดร.โสภณ เห็นว่าการทำเลนจักรยานในกรุงเทพมหานครว่าไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง แม้แต่ในเขตเมืองเก่าหรือเกาะรัตนโกสินทร์และเขตพระนครโดยรวมก็ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะมีเลนจักรยานที่แคบ แทบขี่สวนกันไม่ได้ ทั้งนี้เพราะถนนในพื้นที่เหล่านี้ก็แคบอยู่แล้ว ยิ่งทำเลนจักรยาน ยิ่งไม่เหลือช่องทางจราจร จะทำเลนจักรยานแบบไปกลับก็ยิ่งเสียพื้นที่เข้าไปอีก
จากการตระเวนดูการใช้จักรยานในเขตพระนคร รวมทั้งเขตอื่น ๆ ที่มีจักรยานให้เช่าซึ่งดำเนินการโดยกรุงเทพมหานคร ปรากฏว่ามีคนใช้น้อยมากต่างจากในเมืองใหญ่ ๆ ในยุโรป ในการใช้บริการจักรยานสาธารณะ มีผู้ใช้ล่าสุดเพียง 418 คนต่อวัน โดยประมวลโดยรวมแล้ว จำนวนคนใช้จักรยานยนต์มีลดลงตามลำดับ
ที่มา: http://www.thanakom.co.th/thanakom/bike.html
สิ่งที่ผิดพลาดหนักในการใช้เลนจักรยานของกรุงเทพมหานครก็คือ เราทำเลนจักรยานลงไปในถนน แต่ในญี่ปุ่น ยุโรป และที่อื่น ๆ เน้นการขี่จักรยานบนบาทวิถีหรือทางเท้า แต่ในกรณีประเทศไทย บาทวิถีถูกครองครองใช้สอยเป็นการส่วนตัวโดยไม่เสียภาษีและค่าธรรมเนียมใด ๆ แก่รัฐ ดังนั้นจึงควรมีการแก้ไขให้ดีกว่านี้ โดยทำเลนจักรยานแบ่งจากบาทวิถี และห้ามการค้าขายบนทางเท้า รวมทั้งการรณรงค์การใช้จักรยานให้จริงจังกว่านี้
ดร.โสภณ เห็นว่า การสร้างเลนจักรยานตามถนนต่าง ๆ ในพื้นที่ใจกลางเมือง เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ด้วยเหตุผลสำคัญคือ เป็นการเสี่ยงอย่างยิ่ง โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุมีสูงมาก เท่ากับเป็นการฆ่าผู้ขี่จักรยานโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตามอาจมีผู้ขี่จำนวนหนึ่งคุ้นชินกับการขี่บนถนนใหญ่และขี่เป็นประจำอยู่แล้ว แต่ถือเป็นบุคคลยกเว้นจำนวนน้อยนิด
ยิ่งกว่านั้นการมีเลนจักรยานบนถนนสายต่าง ๆ ใจกลางเมือง ยังเป็นการเบียดบังพื้นที่การจราจรที่มีอยู่น้อยมากอยู่แล้ว ให้น้อยลงไปอีก เป็นการสร้างปัญหาให้กับสังคมโดยรวมอีกต่างหาก การที่จะคาดหวังว่าลำพังการสร้างเลนจักรยาน จะเปลี่ยนพฤติกรรมให้คนหันมาใช้จักรยาน จะเป็นเพียงความฝันเท่านั้น หากขืนดำเนินการต่อไปจะเป็นความสูญเปล่า และความเสียหายต่อสังคมส่วนรวม
รูปที่ 1: การขี่จักรยานในนิวยอร์ก อาจไม่เหมือนโคเปนเฮเกน: http://nymag.com/news/features/bike-wars-2011-3/
รูปที่ 2: การขี่จักรยานในโคเปนเฮเกน ก็ยังใช้ทางเท้า ใช่จะทำเลนจักรยานล้ำเข้าถนนเสียทั้งหมด และที่เขาเป็นเมืองหลวงจักรยานได้เพราะระบบขนส่งมวลชนไม่ทั่วถึงและที่สำคัญราคาแพงเกินไป
รูปที่ 3: ในนครแทบทุกแห่งของญี่ปุ่น ใช้ทางเท้าเป็นเลนจักรยานแทนการสร้างล้ำเข้าไปในถนนที่มีอยู่อย่างจำกัดอยู่แล้ว ยกเว้น ในพื้นที่เมืองนอกเมืองที่สร้างขึ้นใหม่
รูปที่ 4: ในกรุงโซล ก็ใช้ทางเท้าเป็นเลนจักรยานเป็นหลัก
รูปที่ 5: ในนครคุนหมิง ก็ใช้ทางเท้าเป็นเลนจักรยาน (ยกเว้นพื้นที่เมืองใหม่) แม้แต่จักรยานยนต์ไฟฟ้า ก็ใช้ทางเท้าได้
รูปที่ 6: ประสบการณ์ขี่จักรยานของ ดร.โสภณ พรโชคชัย ในกรุงวอชิงตันดีซี
สำหรับแนวทางการพัฒนาเลนจักรยานอย่างมีบูรณาการนั้น ดร.โสภณ เคยเสนอ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2556 ใน AREA แถลง ฉบับที่ 31/2556: 28 มีนาคม 2556 (http://goo.gl/sX7ppC) มีไว้ดังนี้
การส่งเสริมการใช้จักรยานทำได้จริงเพียงการทำจักรยานให้เช่าให้แพร่หลายเพื่อการใช้สอยจริงในชีวิตประจำวัน เช่น การเดินทางไปทำงานในแต่ละวัน ไม่ใช่เน้นเพื่อนักท่องเที่ยว โดยการให้มีจุดเช่า/คืนประมาณ 1,000 จุดทั่วเขตกรุงเทพมหานครชั้นใน-กลาง เช่น เขตบางรัก พญาไท ยานนาวา สาทร ปทุมวัน วัฒนา คลองเตย และส่งเสริมให้มีการใช้จักรยานอย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้การใช้จักรยานเป็นจริงได้
หากแต่ละจุดมีจักรยานให้เช่า 40 คัน รวม 40,000 คัน ๆ ละ 3,000 บาท (ราคาที่เป็นจำนวนมาก) ก็เป็นเงินเพียง 160 ล้านบาท ค่าสถานที่และจัดการอีกประมาณ 1 เท่าตัว จะเห็นได้ว่าโครงการนี้สำเร็จได้ด้วยเงินเพียงไม่เกิน 400 ล้านบาท ยิ่งหากมีการส่งเสริมการใช้จักรยานให้เช่าขี่ไปทำงานหรือไปติดต่อธุระใด ๆ มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มจำนวนประชากรจักรยานบนท้องถนนได้ ก็จะทำให้การขี่จักรยานยิ่งปลอดภัยขึ้น
ในทางการเงิน ค่าเช่าจักรยานขี่ในแต่ละวัน (วันหนึ่งได้หลายเที่ยว) อาจเป็นเงินเพียง 20 บาท โดยมีกำไรสุทธิ 20% หรือเพียง 4 บาท เมื่อโครงการอยู่ตัวแล้วในแต่ละวันอาจมีผู้เช่าเพียง 30% ของรถทั้งหมด คือมีผู้เช่า 12,000 คันจากทั้งหมด 40,000 คัน ในปีหนึ่งก็จะมีรายได้สุทธิ 17.52 ล้านบาท หรือมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ 4.4% ซึ่งแม้จะไม่สูงนัก แต่ก็ไม่ขาดทุน
หากพิจารณาถึงผลดีที่ได้ด้านการลดการใช้น้ำมันที่มีราคาแพงขึ้นเรื่อย ๆ การลดมลภาวะ และการมีสุขภาพที่ดีจากการออกกำลังกายนี้ ก็นับว่าคุ้มค่าเป็นอย่างมาก และแนวทางการดำเนินการด้วยงบประมาณเพียงเท่านี้ ก็อาจขอความอนุเคราะห์จากวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างภาพลักษณ์ ก็อาจทำให้โครงการนี้เป็นจริงได้โดยกรุงเทพมหานครแทบไม่ต้องเสียเงินอะไรเลย
โดยนัยนี้ เราต้องรณรงค์ให้ผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานคร ใช้รถจักรยานเช่าเสียก่อน ถ้าคนจำนวนมากขี่จักรยาน เลนจักรยานก็ไม่ต้องมี แต่ระยะแรกต้องมีอาสาสมัครคอยอำนวยความสะดวก ระวังอุบัติเหตุบนถนนในเขตชั้นในของกรุงเทพมหานครเป็นสำคัญ นอกจากนั้นยังสามารถจัดทำอาคารจอดรถเพื่อการพักรถก่อนเข้ามาในเขตกรุงเทพมหานครโดยรถจักรยาน ตลอดจนการสร้างหรือร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ สร้างห้องอาบน้ำสาธารณะ หรือห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า เป็นต้น
กรุงเทพมหานครน่าขี่จักรยานที่สุดเพราะไม่มีเนินเขา (แต่ต้องปรับเรื่องท่อและความเรียบ) บางคนนึกอิจฉาที่ชาวตะวันตกใส่สูทขี่จักรยานไปทำงานเพราะเมืองไทยร้อน แต่ในหน้าหนาวพวกเขาก็ทำเท่ไม่ได้ ถ้าเราจะขี่จักรยานในชีวิตประจำวัน เราก็ควรต้องมีชุดที่ปกคลุมร่างกายให้ดี แล้วค่อยไปเปลี่ยนชุดที่ทำงาน ใช้ชีวิตเรียบง่ายพอเพียง (ที่แท้) เช่นชาวตะวันตก คนเมืองควรทำเมืองให้สะอาดปลอดมลพิษด้วยสองมือของเรา
กรุงเทพมหานครอาจต่างจากกรุงโคเปนเฮเกนที่มีระบบขนส่งมวลชนที่มีค่าใช้จ่ายสูง ชาวบ้านจึงนิยมขี่จักรยานเองมากกว่า แต่สำหรับประเทศไทย ควรมีระบบขนส่งมวลชนมากกว่านี้ เพื่อลดปริมาณรถส่วนบุคคล ซึ่งทำให้มีปริมาณรถน้อยลง การขี่จักรยานยนต์จะปลอดภัยมากขึ้นนั่นเอง ถ้ารณรงค์ให้ใจกลางเมืองใช้จักรยานกันอย่างจริงจัง ไม่ใช่ไฟไหม้ฟาง ก็คงจะสำเร็จ กรุงเทพมหานครต้องทำให้จริงจังกว่านี้