การเปิดตัวโครงการเป็นดัชนีที่สำคัญและชัดเจนที่สุดในการวางแผนการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ อย่าไปดูตัวเลขบ้านสร้างเสร็จ ตัวเลขขออนุญาตจัดสรร ฯลฯ ข้อมูลเหล่านั้นไม่สะท้อนภาวะตลาด ดูไปจะพาเราไปเจ๊ง
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม 2559 เวลา 20.15 น. โดยมีความตอนหนึ่งว่า "การขยายตัวทางเศรษฐกิจ. . .ไตรมาสแรกปีนี้ขึ้นเป็น 3.2 เปอร์เซ็นต์ ถ้าย้อนกลับไปเมื่อปี 57 ก่อนเราเข้ามาติดลบ 0.7% เห็นได้ว่าก็ขึ้นมา. . .ถือว่าเป็นการขึ้นสูงสุดในรอบ 3 ปี" (http://bit.ly/1qCg63T) ความข้างต้นอาจเป็นความเข้าใจผิด ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) จึงขอเสนอข้อมูลเพื่อประโยชน์ของทางราชการดังนี้:
1. ที่ท่านว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาส 1/2559 ขยายตัว 3.2% นั้น คือการขยายตัวเมื่อเทียบไตรมาสแรกของปี 2558 ซึ่งอาจถือว่าเป็นช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ (http://bit.ly/27MTEqs หน้า 15)
2. ในการเทียบกันจริง ควรเทียบการเปลี่ยนแปลงจริงในแต่ละไตรมาสมากกว่า โดยในการนี้เศรษฐกิจไตรมาส 1/2559 ขยายตัวกว่าไตรมาส 4/2558 เพียง 0.9% เท่านั้น (http://bit.ly/27MTEqs หน้า 1) ซึ่งไม่ได้โดดเด่นไปกว่าไตรมาสอื่น ๆ แต่อย่างใด
3. เมื่อเทียบเป็นรายปี การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2558 ที่ 2.83% นั้น ยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤติทางการเมืองคือปี 2555 ที่เศรษฐกิจขยายตัว 7.23% แต่มาตกต่ำในปี 2556 เหลือ 2.70% เพราะมีความวุ่นวายทางการเมืองตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปีนั้น) และเมื่อเกิดรัฐประหาร ก็ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2557 ตกต่ำเหลือเพียง 0.82% (http://bit.ly/20lNJ6o หน้า 3) เมื่อปลายปี 2557 ทางราชการว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตไม่เกิน4.5% โดยประมาณการไว้ที่ 4.0% (http://goo.gl/9SRICl) แต่ล่าสุดรัฐบาลบอกว่าจะพยายามให้ถึง 3.0% และธนาคารโลกพยากรณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2558 จะเติบโตเพียง 2.5% (http://goo.gl/gbAvzn) นี่แสดงให้เห็นชัดว่าการบริหารของรัฐบาลยังไม่บรรลุผล
4. การที่เศรษฐกิจไทยตกต่ำลงนั้น ไม่ใช่เพราะปัจจัยจากโลกภายนอก แต่เป็นเพราะเงื่อนไขในประเทศไทยเอง เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเซียที่ประเมินไว้ล่าสุดว่า ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างต่ำใน 10 ประเทศอาเซียน โดยได้ลำดับที่ 8 คือในปี 2559 นี้น่าจะเติบโตเพียง 3% ขณะที่ทั่วอาเซียนจะเติบโต 4.5% ส่วนในปี 2560 อาจเติบโตดีขึ้นเป็น 3.5% แต่อัตราเฉลี่ยโดยรวมของอาเซียนจะเป็น 4.8% จะสังเกตได้ว่าประเทศเมียนมาร์ กัมพูชา ลาว เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซียต่างเติบโตในอัตราที่สูงกว่าไทยทั้งสิ้น ประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่าไทยมีเพียงสิงคโปร์และบรูไน ซึ่งเป็นประเทศร่ำรวย มีรายได้ประชาชาติต่อหัวสูงบกว่าไทยประมาณ 5-7 เท่า ดังนั้น แม้จะเติบโตน้อย แต่ก็มีมูลค่าการเติบโตที่มหาศาล
ประชาชนควรให้กำลังใจรัฐบาลในการบริหารประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากที่ใดก็ตาม เพื่อให้ประเทศพัฒนาไปด้วยดี อย่างไรก็ตามก็ต้องยอมรับว่าการที่ประเทศอยู่ในภาวะพิเศษแบบนี้โอกาสที่จะเติบโตมีจำกัด และทำให้ไทยสูญเสียโอกาสดี ๆ ไปด้วย ดังนั้น ประเทศจึงควรคืนสู่บรรยากาศทางการเมืองที่ดีโดยเร็ว