นายกฯ ไม่เข้าใจเรื่องน้ำท่วมเพราะได้รับรายงานผิด
  AREA แถลง ฉบับที่ 215/2559: วันอังคารที่ 21 มิถุนายน 2559

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            การที่นายกฯ พูดว่าน้ำจะไม่ท่วมกรุงเทพมหานคร หลังท่านพูดน้ำก็ท่วม ท่านเข้าใจผิดว่าแก้น้ำท่วมไมได้เพราะกรุงเทพมหานครสูงกว่าระดับน้ำทะเลไม่มากนัก แต่ในหลายประเทศที่ดินอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ก็ยังป้องกันน้ำท่วมได้ กรณีนี้น่าเป็นห่วงนายกฯ ที่คงได้รับการรายงานที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง อาจส่งผลเสียต่อการบริหารราชการแผ่นดินได้

            เมื่อวานนี้ (20 มิถุนายน 2559) นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “แต่คงไม่ท่วม เพราะเราก็เตรียมการไว้พอสมควร ให้ไม่ท่วมเลยคงเป็นไปไม่ได้ เพราะระบบพื้นที่เรามันต่ำ พื้นที่เราสูงกว่าน้ำทะเลไม่มากนัก โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ยังไงมันก็ท่วม ก็ถ้าไม่อยากท่วมก็ต้องไปอยู่ที่อื่น เพราะมันทำไม่ทันไง ตอนนี้ไปหาที่อยู่ให้มันสูง ๆ หน่อยแล้วกันนะ ผมไม่ไล่ไปดาวอังคารหรอก เดี๋ยวพอพูดเล่น พูดตลก ก็นู่นเอาไปพาดหัว ผมล่ะเบื่อจริง ๆ เป็นพยานให้ผมด้วย ผมไม่ได้ไล่ท่าน" (bit.ly/28LyLWm)

ฉายภาพซ้ำตลกปนเศร้าปี 2558

            ผมอยากให้ท่านนายกฯ และท่านผู้ว่าฯ ดูภาพตลกปนเศร้าภาพนี้ ซึ่งผมนำมาจาก Clip https://goo.gl/bcxdm7 จะเห็นได้ว่าเด็กนักเรียนหญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง กำลังเลาะไปตามรั้วเหล็กที่มีฐานที่สูงกว่าระดับน้ำเล็กน้อย เพื่อให้ตนเองพ้นจากการเปียกที่ถุงเท้าและรองเท้า เธอเดินไปได้สักระยะหนึ่ง เห็นรถวิ่งมา และลางสังหรณ์ของเธอก็คือ คลื่นน้ำจากรถยนต์ต้องตามมาเป็นระลอก ๆ แน่นอน เธอจึงถอยกลับไป แล้วพอจวนตัวก็ตัดสินใจปืนรั้วเหล็ก โดยยกขาทั้งสองข้างห้อยขึ้นมาให้พ้นจากคลื่นน้ำนั่นเอง


ดูวิดิโอ: https://goo.gl/bcxdm7

            อันที่จริงยังมีภาพอเนจอนาถอื่น ๆ อีกมากในหน้าหนังสือพิมพ์ เช่น ภาพชายคนหนึ่งเข็นรถจักรยานยนต์ที่น้ำท่วมเกือบถึงเบาะ ภาพตำรวจจราจรช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนอย่างขะมักเขม้น ฯลฯ ปัญหาน้ำท่วมขังที่เกิดขึ้น ก็คงเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากจะให้เกิดขึ้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็คงไม่คิดแกล้งคนกรุงอยู่แล้ว มันเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ (แต่ป้องกันได้) แต่ป้องกันและแก้ไขให้ทันท่วงทีได้ แต่ประเด็นหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือการพูดของท่านผู้ว่าฯ หรือผู้มีอำนาจใด ๆ ก็ตาม ก็ควรดูไว้เป็นอุทาหรณ์ ว่าบางครั้งการพูดอะไรออกไป แทนที่จะเป็นการแก้ปัญหา กลับกลายเป็นการสร้างปัญหาได้

ใช้น้ำทิพย์แทนน้ำกรดแก้ปัญหาดีกว่า

            ปีที่แล้วผู้ว่าฯ ก็บอกว่า "ฝนชอบตกเวลาผมไม่อยู่" (http://goo.gl/pR0adq) มันเสียดแทงใจคนกรุงมากในแง่ที่แสดงถึงการขาดแผนการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการ ที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้นำเพียงคนเดียว หรือบางคนไพล่ไปมองว่าท่านผู้ว่าฯ คงไม่ค่อยได้อยู่เมืองไทย เพราะฝนตกน้ำท่วมออกจะบ่อยไป เป็นต้น มาปีนี้ท่านนายกฯ กลับพูดอีกว่าน้ำท่วมเพราะที่ต่ำ  หนักยิ่งกว่านั้นท่านยังไพล่ไปพูดถึงคนหนักแผ่นดินเสียอีก

            หรืออีกตัวอย่างหนึ่งก็คือนายกฯ และผู้ว่าฯ ไล่ให้คนไปอยู่ที่อยู่ ปีที่แล้วผู้ว่าฯ ก็พูดว่า "ถ้าไม่อยากมีจุดเสี่ยงเรื่องน้ำท่วมให้ไปอยู่บนดอย" (https://goo.gl/HrD6eU) ซึ่งภายหลังท่านก็ชี้แจงว่าท่านพูดเล่น เป็นต้น ผมว่าประโยคหรือวลี "น้ำกรด" เหล่านี้ไม่ควรมี เพราะบาดหัวใจของคนที่ได้รับความเดือนร้อนน่าดู เราควรพลิกวิกฤติเป็นโอกาส แม้ในห้วงเฉพาะหน้า เราจะแก้ไขปัญหาไม่ได้ แต่การลงพื้นที่ แสดงว่าใส่ใจ จะเป็นดั่ง "น้ำทิพย์" ชโลมใจ ให้ชาวบ้านเห็นว่าผู้ว่าฯ ก็เห็นหัวชาวบ้านอยู่ เป็นต้น นี่เป็นการพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ที่ไม่ควรพลาด อย่าให้ฝนหลงฤดู หรือแค่ฝนต้นหน้าฝน ทำให้ท่านเสียรังวัดนะครับ

รัฐบาลเอ็นดูผู้ว่าฯ กทม.

            แม้น้ำจะท่วมซ้ำแล้วซ้ำเล่าในเขตกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าฯ ก็ยังอยู่ได้ เมื่อปีที่แล้วเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2558 ก็มีข่าวว่า "ประยุทธ์ฉุนน้ำท่วมกรุง สั่งประวิตร นำคสช. ไปตรวจสอบ กทม." (http://bit.ly/28JLaWO) แต่จนแล้วจนรอด ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น โดยในวันที่ 9 มิถุนายน 2558 ก็มีข่าวว่า "ทีมหม่อมเปิดศึกน้ำท่วม ประยุทธ์ไม่ฟันผู้ว่าฯ" (http://bit.ly/28JMqtB) กรณีนี้อาจแตกต่างจากผู้ว่าฯ การรถไฟแห่งประเทศไทย ที่มีเด็กหญิงถูกข่มขืนบนรถไฟ ซึ่งแม้เป็นเรื่องเศร้าสลด แต่ก็ไม่น่าจะเป็นเหตุให้มีการปลดผู้ว่าฯ รฟท. เลย (http://bit.ly/28KabWG)


คลิป กรณีปลดผู้ว่าฯ รฟท. https://www.youtube.com/watch?v=MQKzc9EjHo0

ถ้ามีผังเมืองปี 2503 ป่านนี้น้ำไม่ท่วม

            ในร่างผังเมืองปี 2503 วางแผนให้มีการขุดแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่ใกล้กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ทางด้านใต้ของปากคลองรังสิต ผ่านแจ้งวัฒนะแถวหลักสี่ ลงสะพานสูง ผ่านบริเวณใกล้สวนหลวง ร.9 ในปัจจุบัน และลงอ่าวไทยแถวบางปูสมุทรปราการ  ส่วนอีกเส้นจะขุดจากคลองอ้อมนนท์ ผ่านคลองมหาสวัสดิ์ มาตามแนวคลองราชมนตรี ลงอ่าวไทยแถวบางขุนเทียน เป็นต้น

            เสียดายที่กฏหมายผังเมืองในสมัย จอมพล. ป.ที่มีมาตั้งแต่ปี 2495 และผังเมืองที่เริ่มร่างในสมัย จอมพล. ป. กลับถูกทอดทิ้งไปในสมัย จอมพล ส. จนกรุงเทพมหานครมามีผังเมืองในปี 2535 หรือ 40 ปีให้หลัง สิ่งต่าง ๆ จึงเติบโตแบบไร้ขอบเขตแล้ว และไม่มีแผนอะไรในการชี้นำความเจริญอย่างมีประสิทธิผลเลย

กางแผนแก้ไขออกมา

            ในการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะส่วนท้องถิ่นหรือส่วนกลาง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้โปร่งใส อย่างคำถามที่มักมีคนถามกันมากก็คือ "อุโมงค์ยักษ์อยู่ไหน" ควรแสดงในแผนที่ให้เห็นชัดเจนไปเลย เพราะไม่เช่นนั้นคนจะจินตนาการไม่ออก ระบบอุโมงค์ยักษ์ ถ้ามี หรือถ้าใช้ได้จริง ทำงานกันอย่างไร มีความเป็นไปได้ในการระบายน้ำได้เพียงใด ควรพานักข่าวไปดูให้เห็นกับตาในเวลาที่อุโมงค์ยักษ์ทำงานกันบ้าง ก็จะดีไม่น้อย

            นอกจากเรื่องอุโมงค์ยักษ์แล้ว เรามีแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม (ขัง) อย่างไรบ้าง ชาวบ้านจะได้สามารถตรวจสอบได้ว่า แผนการเหล่านั้นมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน หรืออย่างน้อยชาวบ้านจะได้อุ่นใจว่า เรามีระบบที่ดีเพียงพอ ไม่ได้แก้ไขปัญหาตามยถากรรม แบบ "มวยวัด" หรือเป็นการแก้ไขกันเฉพาะหน้าหรือ "ผักชีโรยหน้า" การสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนจึงเป็นหัวใจสำคัญของการวางแผนที่เชื่อถือและวางใจได้

การมีส่วนร่วมของประชาชน

            การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญเพราะประชาชนในพื้นที่จะรู้ปัญหาต่าง ๆ ได้ดีกว่าข้าราชการหรือนักการเมือง (รวมทั้งนักการทหารที่มาทำงานบริหารราชการแผ่นดินแทนนักการเมืองด้วย) แผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจึงควรผ่านความเห็นชอบและให้ประชาชนในพื้นที่ตัดสิน เช่น แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม (ขัง) ในหมู่บ้านจัดสรร ในชุมรุมอาคารย่านหนึ่ง ในแขวงหนึ่ง ๆ ของแต่ละเขต เป็นต้น

            หลายท่านอาจไม่ทราบว่าในจำนวนเขต 150 เขตนั้น ความจริงยังแยกออกเป็นแขวงได้ประมาณ 150 แขวงอีกต่างหาก ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ยังมีโครงการหมู่บ้านจัดสรรและโครงการอาคารชุดอีกนับหมื่นโครงการที่ผมไปสำรวจไว้ตลอดระยะ 20 ปีที่ผ่านมา หากได้รับความร่วมมือจากประชาชนเหลานี้ การแก้ไขปัญหาก็จะเป็นจริง

ท่วมได้แต่ต้องแก้อย่างทันท่วงที

            ท่านเชื่อหรือไม่ว่าที่ถนนออร์ชาร์ด ซึ่งเป็นแหล่งจับจ่ายชั้นนำของสิงคโปร์ มีห้างร้านตั้งอยู่เต็มไปหมด ชาวต่างชาติต้องไปท่องเที่ยวซื้อของที่นั่นกันเป็นอันมาก มีโรงแรมชั้นหนึ่ง สถานบันเทิง ฯลฯ ตั้งอยู่ในบริเวณนี้อย่างหนาแน่น มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงาม พร้อมต้นไม้ใหญ่น้อย ดูแล้วแสนรื่นรมย์ แต่ที่นี่ก็เคยถูกน้ำท่วมหนักมาตลอด 4 ปีซ้อน 2553-2556 (http://goo.gl/0piHPr) นี่ยังดีนะที่ประชาชนของเขาไม่ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเขาลาออก!

            ขนาดสิงคโปร์ที่มีเทคโนโลยีทันสมัย คาดการณ์อะไรได้แม่นยำ วางแผนอะไรก็นำไปปฏิบัติอย่างเหมาะสมเสมอ ก็ยังเกิดน้ำท่วมในใจกลางเมืองได้ น้ำท่วมกระทั่งน้ำไหลเข้าไปในอาคารสรรพสินค้าที่มีชั้นใต้ดิน กลายเป็นน้ำตกเข้ามาภายในอาคาร เป็นภาพแปลกตายิ่ง แต่การที่ชาวสิงคโปร์ไม่ก่นด่ารัฐบาลหรือผู้ว่าฯ ของเขาก็คือ เขาแก้ไขปัญหาได้อย่างฉับไวมิชักช้า ชาวบ้านยังไม่ทันได้อ้าปากด่า เขาก็แก้ไขปัญหาจบสิ้นแล้ว กรุงเทพมหานครของเราก็ควรเอาเยี่ยงอย่างบ้าง

ผังเมืองกับการแก้น้ำท่วม

            ผังเมืองไทยที่ประกาศใช้ไปตั้งแต่ปี 2556 นั้น ไม่มีมาตรการที่เป็นชิ้นเป็นอันในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเลย หากเกิดน้ำไหลหลากมากเช่นปี 2554 อีก กรุงเทพมหานครก็คงไม่รอด คงท่วมขังน้ำเช่นเคย มาตรการด้านผังเมืองอันหนึ่งก็คือการสร้างถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เป็นเสมือนเขื่อนป้องกันน้ำท่วม แล้วยังสามารถวิ่งรถได้ด้วย เช่น กรณีริมแม่น้ำฮันในกรุงโซล เขาก็สร้างถนนขนาด 6 ช่องจราจรในแต่ละฝั่งแม่น้ำ

            แต่นักผังเมืองไทยกลับไปเรียนมาแต่เปลือก เช่น ไปดูคลองช็องกเยช็อน (Cheong Gye Cheon) ที่แยกจากแม่น้ำฮัน (Han) กลับไปมองว่าเขารื้อทางด่วนคร่อมคลองเพื่อสร้างสวนสาธารณะริมคลอง โดยไม่ทราบความจริงว่า ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะตัวทางด่วนจะพังอยู่แล้ว ต้องรื้อ เดี๋ยวนี้เขาใช้รถไฟฟ้าใต้ดินกันแล้ว และย่านใจกลางเมืองก็ย้ายไปย่าน "กังนำ" แล้ว เป็นต้น การเข้าใจผิด ๆ จะนำไปสู่การเข้ารกเข้าพงได้ (อ่านรายละเอียดที่ http://goo.gl/GGhqMV)

เมืองน้ำก็รอดได้เช่นฮอลแลนด์

            เราจะอ้างว่ากรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ราบลุ่มริมน้ำ ยังไงน้ำก็ต้องท่วม ไมได้เลย ถ้าอ้างอย่างนี้ก็ต้องไปอยู่บนดอยตามที่ท่านผู้ว่าฯ เคยพูด (เล่น) ไว้ หรือไม่เราก็คงต้องย้ายเมืองหลวงไปอยู่บริเวณอื่นกันแล้ว แต่ความจริงในประวัติศาสตร์ของเมืองทั้งหลายก็คือ เมืองหลวงย้ายไม่ได้ โดยเฉพาะเมืองหลวงทางเศรษฐกิจ ดูอย่างปารีส ลอนดอน โรม อยู่กันมาหลายร้อยหรือบางแห่งนับพันปี ก็ยังอยู่กันโดยไม่ได้หนีไปไหนแต่อย่างใด

            ดูอย่างฮอลแลนด์หรือเนเธอร์แลนด์ จะพบว่าหลายบริเวณของประเทศนี้เป็นพื้นที่ ๆ ตั้งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลด้วยซ้ำไป แต่เขาก็สามารถอยู่ได้ เพราะมีระบบเขื่อนที่ดี ระบบสูบน้ำที่ดี พลิกวิกฤติเป็นโอกาสในการแปรพื้นที่ดินที่ถูกกัดเซาะให้เป็นพื้นที่เพาะปลูกใหม่ แต่ของไทยโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง ปรากฏว่าผืนดินของไทยถูกกัดเซาะกลายเป็นโฉนดใต้น้ำเป็นจำนวนมาก โฉนดอยู่ แต่ที่ดินไม่อยู่แล้ว แต่ก็ยังมีประโยชน์สำหรับมิจฉาชีพในการหลอกขายชาวบ้านอีกต่างหาก

            เราต้องวางแผนให้ดีกว่านี้ เริ่มต้นใหม่ ไม่ต้องกลัว ที่ผ่านมาผิดพลาดตรงไหน ก็ต้องบอกประชาชนให้รู้ ให้เตรียมรับสถานการณ์  ไม่ควรปัดสวะให้พ้นไป


เด็กนักเรียนน้อยแสนลำบากในวันน้ำท่วม (ขัง) 8 มิถุนายน 2558
 


สิงคโปร์ยังถูกน้ำท่วมเหมือนกัน เข้าไปในชั้นใต้ดินของห้างอีกด้วย
 


การจัดการน้ำท่วมอย่างมีบูรณาการ ประสบการณ์จากฮอลแลนด์
 


พนังกันน้ำท่วมแม่น้ำเทมส์ กรุงลอนดอน ดูรายละะอียดที่ http://bit.ly/1qqqxaS

อ่าน 12,083 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved