ดร.โสภณ ในฐานะผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน มองการสร้างบ้านพักข้าราชการเป็นสิ่งที่ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ควรทบทวนใหม่
เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวว่า "ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานวางศิลาฤกษ์ ก่อสร้างอาคารแฟลตสวัสดิการข้าราชการกองทัพบก สูง 18 ชั้น วงเงินในการก่อสร้าง 2,100 ล้านบาท. . .บริเวณพื้นที่สวัสดิการทหารบกแห่งใหม่ ถนนเทอดดำริ เขตดุสิต. . .สามารถรองรับกำลังพลได้ 494 ครอบครัว" (http://news.sanook.com/2016346) กรณีนี้ถือเป็นการใช้จ่ายเงินที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยพิจารณาในแง่มุมต่างๆ ดังนี้:
1. ในกรณีนี้เท่ากับที่อยู่อาศัยหน่วยหนึ่งมีมูลค่าถึง 4.25 ล้านบาท (2,100 ล้านบาท / 494 ครัวเรือน) หากประมาณการค่าที่ดินเข้าไปด้วยโดยสมมติให้ใช้ที่ดิน 5 ไร่ ๆ ละ80 ล้านหรือตารางวาละ 200,000 บาท ก็จะเป็นเงินอีก 400 ล้าน รวมมูลค่าโครงการประมาณ 2,500 ล้านบาท หรือตกเป็นเงินหน่วยละ 5.1 ล้านบาท หากสมมติว่าหน่วยหนึ่งมีขนาด 100 ตารางเมตร ก็เท่ากับตารางเมตรละ 50,000 บาท หากสามารถนำไปขายให้เป็นเสมือนอาคารชุด ก็จะขายได้ ณ ราคาตารางเมตรละ 80,000 บาท การใช้ทรัพยากรมหาศาลเพื่อข้าราชการจำนวน 494 ครัวเรือนที่แต่ละครัวเรือนมีผู้รับราชการ 1-2 ท่าน จึงอาจไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
2. หากนำทรัพยากรนี้ไปใช้สร้างอาคารชุดเพื่อขายหรือให้เช่าในระยะยาวแก่ประชาชนทั่วไป ก็จะได้เงินหน่วยละประมาณ 8 ล้านบาท หากให้เช่าระยะยาว 30 ปี ก็คงจะได้เงินประมาณ 60% ของมูลค่าหรือ 4.8 ล้านบาท หรือรวมเป็นเงินประมาณ 2,371 ล้านบาท ยิ่งหากในย่านใจกลางเมืองที่มีส่วนราชการหลายแห่งที่สามารถย้ายออกนอกเมืองแล้ว ก็จะทำให้นำที่ดินราชการมาพัฒนาเพื่อการนี้ เช่น สมมติพัฒนาได้ 50 โครงการในทำนองนี้ ก็จะมีค่ารวมกันถึงประมาณ 118,560 ล้านบาท สามารถนำเงินไปพัฒนาประเทศได้อีกมหาศาล
3. หากคิดจากราคา 4.25 ล้านบาทต่อหน่วย และณ อัตราผลตอบแทนการลงทุนที่ 6% (ตามมาตรฐานของมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย http://bit.ly/1Q2Fdcj) ก็เท่ากับพวกราชการระดับสูงคนหนึ่ง ๆ จะได้รับผลตอบแทนสุทธิเดือนละ 21,250 บาท เพิ่มจากเงินเดือนที่พวกเขาได้รับอยู่แล้ว หากสมมุติว่าพวกเขาได้รับเงินเดือน เดือนละ 1 แสนบาท ก็เท่ากับว่าการให้อยู่แฟลตฟรี เป็นการขึ้นเงินเดือนให้พวกเขาอีกคนละ 21% ข้อนี้อาจทำให้เกิดความลักลั่นในด้านสวัสดิการหมู่ข้าราชการคนอื่น ๆ
4. ที่มักกล่าวว่าข้าราชการมีปัญหาการขาดแคลนที่พักอาศัย ก็อาจไม่เป็นความจริง เพราะหากสำรวจให้ดี จะพบว่าข้าราชการจำนวนมากก็ซื้อบ้านของตนเองไว้แล้ว อันที่จริงข้าราชการที่มีบ้านเป็นของตนเอง ก็ไม่ควรอยู่ "บ้านหลวง" เพราะจะได้นำบ้านไปให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ขาดแคลนที่อยู่อาศัยจริง
5. ส่วนที่ว่าด้วยเรื่องของการเดินทางนั้น ก็คงเป็นปัญหาการเดินทางเฉพาะบุคคล บุตรหลานก็มีที่อยู่อาศัยที่ซื้อไว้ชานเมือง เรียนหนังสืออยู่ชานเมืองอยู่แล้ว ก็คงจำเป็นต้องย้ายมาทั้งครอบครัว
6. ส่วนเรื่องขวัญและกำลังใจนั้น ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย เราควรทุ่มเททรัพยากรให้ขวัญและกำลังใจแก่ประชาชนมากกว่า ในยามจำเป็นอาจต้องดุนข้าราชการออกไปบ้างเพื่อให้ประเทศชาติอยู่รอด
7. หากจำเป็นต้องสร้างจริง ควรสร้างให้แก่ข้าราชการขั้นผู้น้อยเป็นสำคัญ การสร้างบ้านพักราคา 4.25 ล้านบาท (เฉพาะค่าก่อสร้าง) คงเป็นประโยชน์ต่อข้าราชการระดับสูงมากกว่า ข้าราชการระดับสูงน่าจะมีศักยภาพที่จะซื้อที่อยู่อาศัยเอง หรือเกือบทั้งหมดมีที่อยู่อาศัยเองในบริเวณอื่นอยู่แล้ว
8. รัฐบาลควรนำเงินงบประมาณแผ่นดินมาพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่จะสร้างที่อยู่อาศัยเช่นนี้ หรืออย่างน้อยก็ควรจัดรถรับส่งพนักงานเท่าที่จำเป็น เป็นต้น
กรณีนี้จึงเป็นกรณีศึกษาเพื่อทางราชการจะได้ใช้ประกอบการพิจารณาการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดเพื่อประโยชน์ของประชาชนเจ้าของประเทศ
ตัวอย่างแฟลตข้าราชการ