ตามที่นายกฯ ไม่เห็นด้วยกับการลงโทษผู้ข่มขืน (ฆ่า) ด้วยการจับไปประหารชีวิตสถานเดียว (http://bit.ly/29JJQ8y) ข้อนี้มีเหตุที่ไม่ควรประหาร แม้ว่าการข่มขืนอาจเกิดขึ้นกับลูกสาวฝาแฝดของนายกฯ หรือลูกเมียของผมเอง เพราะนี่ไม่ใช่ทางแก้ เป็นเพียงการตอบสนองทางอารมณ์ จะยิ่งทำให้ปัญหาบานปลาย
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ย้ำว่าในสังคมยังอ่านแต่คำพาดหัวไม่ได้สนใจข้อเท็จจริง จึงขอยำให้เห็นว่า การประหารแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เพราะจะทำให้เหยื่อถูกสังหารทุกราย เนื่องจากผู้ข่มขืนกลัวจะถูกประหาร การแก้ปัญหาด้วยอารมณ์แบบตาต่อตาฟันต่อฟันในอดีตก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา คดีคนแปลกหน้ามาข่มขืนเกิดขึ้นน้อยมากเมื่อเทียบกับการเกิดขึ้นโดยคนรู้จัก เกิดในเวลากลางวัน และมักเกิดขึ้นในบ้านของตัวเอง ไม่ใช่ในที่เปลี่ยว
ทางที่ควรคือการปรับปรุงระบบคุ้มครองความปลอดภัยของหญิงมากกว่า และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น เช่น จำคุกตลอดชีวิต แต่ที่ผ่านมาไม่เป็นเช่นนั้น คดีชาย 30 คนรุมข่มขืนหญิงจนตายแล้วนำร่างไปให้รถไฟทับตาย ก็ติดคุกกันไม่เกิน 10 ปีก็ออกจากคุก หรือคดี 'ไอ้หนุ่ย' ฆาตกรต่อเนื่องฆ่าขืนใจเด็ก 6 ขวบ รวมเหยื่อกว่า 10 ราย (ตาย 4 ราย) สุดท้ายศาลตัดสินประหารชีวิต แต่ลดโทษให้เพราะสารภาพเหลือจำคุกตลอดชีวิต และอาจอยู่ในคุกไม่นาน ยิ่งถ้าเป็นผู้มีฐานะดี เช่น คดีลูก ส.ส.จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ข่มขืนสาวพม่าจนไส้แตก ข่มขืนนักศึกษา ฆ่าและพยายามฆ่า มียาเสพติด ฯลฯ ก็ไม่ถูกประหาร เป็นต้น
คงต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของไทย เพราะหากเป็นในยุโรปและอเมริกา โทษของนักโทษเด็ดขาดก็ไม่มีการลดแล้วลดอีก สารภาพลดครึ่ง ฯลฯ ในยุคสมัยใหม่ อารยประเทศไม่ใช้การประหารชีวิต แต่ลำพังแค่โทษจำคุกตลอดชีวิตหรือ 50 ปีโดยไม่มีการลดโทษ ก็ทำให้คนคิดก่ออาชญากรรม จะได้เตือนตนอยู่ตลอดเวลาก่อนเข้าสู่ภาวะขาดสติ เรายังต้องสร้างคุกเพิ่มเพื่อเก็บอาชญากรไว้ ไม่ใช่พ้นโทษข่มขืนออกมา 10 เดือนก็ก่ออาชญากรรมอีก
เราอยู่ในสังคมแห่งการเอารัดเอาเปรียบที่ 'รวยกระจุก จนกระจาย' อาชญากรรมและความรุนแรงเป็นผลพวงของความยากจน ประชาชนจึงต่าง 'ปากกัดตีนถีบ' พ่อแม่ก็ไม่ค่อยได้ดูแลลูก จนบางครั้งก็ 'ด้านได้อายอด' กระทั่งทำผิดบาปเมื่อเทียบกับ 'คนดี' ผู้มีอันจะกินที่สุขสบายไม่ต้องดิ้นรน การใช้ยาเสพติด การ 'หากินแนวนอน' ก็เพื่อบำบัดความขาดแคลน แต่เป็นการกดขี่ทางเพศ ทำให้หญิงกลายเป็นแค่เครื่องบำบัดความใคร่
ในเชิงโครงสร้าง วิธีช่วยเหลือประชาชนให้มั่นคงปลอดภัยก็คือการพัฒนาเศรษฐกิจที่ให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้ โดยการจัดสรรทรัพยากร ทุน และภาษีอย่างเป็นธรรม เช่น งบประมาณปี 2559 จำนวน 2.72 ล้านล้านบาทนั้น เป็นของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์เพียง 10,078 ล้านบาท หรือเพียง 0.37% ถ้าเรามีงบประมาณจัดสวัสดิการและความปลอดภัยในสังคมเพียงพอ สังคมคงน่าอยู่กว่านี้ เราต้องดูแลคนจนเพราะ คนจนอันไพศาลเสียภาษีทางอ้อมมหาศาลมาหล่อเลี้ยงประเทศมากกว่าคนรวยที่เลี่ยงภาษีเก่ง ยิ่งถ้าเรามีการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอย่างเป็นธรรม เรายิ่งจะสามารถจัดสวัสดิการชุมชนได้ดีกว่านี้
ถ้าประชาชนมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้นโดยเฉพาะจากการค้าขาย อุตสาหกรรม การส่งออก การท่องเที่ยว การเกษตรและอื่น ๆ โจรผู้ร้ายก็จะลดลง สังคมก็จะผาสุก แต่ถ้าบ้านเมืองเรายากจนลง ไม่มีใครคบค้า ถูกกีดกัน ประเทศชาติก็จะยิ่งเสื่อมทรุดลง ดูอย่างเมียนมาที่ปิดประเทศไปหลายสิบปี กลับกลายเป็นประเทศยากจนที่สุดประเทศหนึ่ง ทั้งที่เคยรุ่งเรืองกว่าประเทศไทยเมื่อ 60 ปีที่แล้ว
อารมณ์ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา โปรดอย่า "ลมเพลมพัด"