AREA แถลง ฉบับที่ 59/2553: 20 กันยายน 2553
จุดเปราะบางของฟองสบู่ที่ยังไม่เกิด
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
มีผู้สันทัดกรณีหลายคนออกมาให้ความเห็นถึงปรากฏการณ์ฟองสบู่แตกสำหรับอสังหาริมทรัพย์ประเทศไทย แต่ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ก็ยืนยันมาตลอดว่ายังไม่เกิดขึ้นในขณะนี้ เว้นแต่ในอีก 2 ปีข้างหน้า มีการก่อสร้างบ้าน ‘บีโอไอ’ ออกมามากมายเพื่อการเก็งกำไร อย่างไรก็ตามแม้ในขณะนี้จะยังมีบ้าน ‘บีโอไอ’ เกิดขึ้นมามาก แต่ก็ยังสร้างไม่แล้วเสร็จ
บ้าน ‘บีโอไอ’ คือบ้านเดี่ยวหรือทาวน์เฮาส์ที่สร้างขายในราคาไม่เกิน 1.2 ล้านบาท หรือหากเป็นห้องชุด ก็ต้องมีราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยได้รับสิทธิพิเศษยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ในอัตรา 30% ของเงินได้เป็นเวลา 5 ปี
จากผลการสำรวจของ ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส พบว่า ณ กลางปี 2553 มีหน่วยขายรอคนซื้ออยู่ทั้งหมด 110,666 หน่วย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าขายไม่ได้หรือขายไม่หมด แต่ ณ วันที่สำรวจ ยังไม่มีผู้ซื้อทั้งนี้อาจเป็นทั้งที่ยังขายไม่หมด และที่เพิ่งเปิดตัวโครงการไม่นาน จึงยังไม่พบผู้ซื้อเป็นต้น
ในจำนวน 110,666 หน่วยนี้ รวมมูลค่า 333,043 ล้านบาท ดังนั้นตัวเลขนี้จึงเป็นขนาดของตลาดที่อยู่อาศัยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งมีค่าถึงประมาณ 3 ใน 4 ของมูลค่าพื้นที่สำนักงานที่สะสมมาจนถึงปัจจุบันนี้ แสดงว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับอสังหาริมทรัพย์อื่น
จากการสำรวจในรายละเอียดพบว่า ที่อยู่อาศัยที่สร้างเสร็จ 100% แล้วแต่ยังไม่ได้ขายมีอยู่ 21,649 หน่วย หรือ 20% ของจำนวนหน่วยทั้งหมด รวมมูลค่า 53,342 ล้านบาท หรือเท่ากับ 16% ของมูลค่าที่อยู่อาศัยทั้งหมดเฉพาะที่ยังรอผู้ซื้อ
หากเกิดวิกฤติขึ้นมาจริง บ้านที่สร้างได้ถึง 80% จนถึง 100% นั้น น่าจะผ่านพบวิกฤติไปได้เพราะใกล้แล้วเสร็จแล้ว แต่ทั้งหมดมีรวมกันเพียง 30% ของจำนวนหน่วยรอผู้ซื้อทั้งหมด หรือเท่ากับ 27% ของมูลค่าทั้งหมด แต่ที่แล้วเสร็จต่ำกว่านั้น คงไม่อาจสร้างต่อได้ เช่นที่เคยเกิดขึ้นในกรณีวิกฤติช่วงปี 2540-2543 ในอีกทางหนึ่งที่อยู่อาศัยที่สร้างไม่ถึง 60% ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะถูกปล่อยทิ้งร้างไว้ มีรวมกันถึง 54% ของจำนวนหน่วย และ 54% ของมูลค่าทั้งหมด
จุดนี้จึงเป็นจุดเปราะบางในกรณีการขายที่อยู่อาศัยที่ยังไม่แล้วเสร็จ ปัญหาการปล่อยทิ้งโครงการร้างไว้จึงอาจเกิดขึ้น เช่นที่เคยเกิดในอดีต อย่างไรก็ตามโอกาสเกิดวิกฤติเช่นในอดีตคงมีจำนวน เนื่องจากมีการก่อสร้างน้อยกว่าแต่ก่อนมาก
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ในฐานะศูนย์ข้อมูล-วิจัยและประเมินค่าทรัพย์สินที่มีฐานข้อมูลภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุด ได้รับ ISO 9001-2008 ทั้งระบบแห่งแรกในฐานะที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ได้รับรางวัลจรรยาบรรณดีเด่น และเป็นสมาชิก UN Global Compact อีกด้วย |