ที่ผ่านมามีข่าวเรื่องทรัพย์สมบัติในครอบครัวของ "น้ำพริกแม่ประนอม" ถึงขั้นว่า "แม่ประนอม" จะไม่ให้ลูกสาวคนโตใช้ "แม่ประนอม" เป็นยี่ห้อ เรามาคิดตีค่ายี่ห้อนี้กันในเบื้องต้น
ศึกมรดกน้ำพริก "แม่ประนอม"
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) กล่าวว่าที่ผ่านมามีข่าว "แม่ประนอมร้อง'บิ๊กตู่' ลูกสาวกับลูกเขยฮุบกิจการ'น้ำพริก'มูลค่า5พันล้าน" (http://bit.ly/2aenEqv) แสดงว่ากิจการนี้มีมูลค่าที่สะสมรวมกันถึง 4-5,000 ล้านบาท จากประสบการณ์ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2502 ทั้งนี้หมายรวมตั้งแต่ที่ดิน อาคาร เครื่องจักร ช่องทางการจัดจำหน่าย ยี่ห้อ และอื่นๆ นับเป็นธุรกิจที่มีความมั่นคงเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตามจากการสืบค้นของสำนักข่าวอิสรา บจก.พิบูลย์ชัยน้ำพริกเผาไทยแม่ประนอม มีทุนจดทะเบียน 59 ล้านบาท (http://bit.ly/2aw20dp) มีผู้ถือหุ้นประกอบด้วยนางศิริพร แดงสุภา นางอรชา พีชาสารานนท์ และนางสาวธนาภรณ์ ภาษาประเทศ ไม่ได้มีชื่อของนางประนอม แดงสุภา หรือ "แม่ประนอม" ผู้ก่อตั้งธุรกิจน้ำพริกเผาแม่ประนอมชื่อดังแต่อย่างใด ข้อนี้คงต้องไปพิสูจ์กันต่อไปว่าจะมีการแบ่งสมบัติกันอย่างไรบ้าง
เมื่อพิจารณาถึงรายได้ของบริษัท ณ สิ้นปี 2559 พบว่าเป็นเงิน 879.5 ล้านบาท เมื่อเทียบกับรายได้ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน ประมาณการได้ว่ารายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 14.6% ต่อปี ซึ่งนับว่าเป็นการเพิ่มขึ้นของรายได้ที่ค่อนข้างสูง แสดงว่าบริษัทมีการเติบโตต่อเนื่อง และโดยที่ในช่วงหลังมีการนำสินค้าไปขายยังตลาดอาเซียนและอาจเป็นในประเทศอื่น ๆ อีก จึงมีแนวโน้มว่ารายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นตามลำดับ
อย่างไรก็ตามสัดส่วนกำไรค่อนข้างต่ำ คือประมาณ 1.4% ของรายได้รวม ณ ปี 2554 จนเติบโตมาเป็นประมาณ 4.5% ของรายได้รวม หรือเป็นเงินประมาณ 39.2 ล้านบาท ณ ปี 2558 ซึ่งเป็นปีล่าสุด กรณีนี้เป็นลักษณะธรรมดาของบริษัทจำกัดที่มีกำไรสุทธิค่อนข้างต่ำ แตกต่างจากบริษัทมหาชนที่มักมีกำไรสุทธิสูงเพื่อการปันผลต่อผู้ถือหุ้น และทำให้บริษัทมหาชนเป็นวิสาหกิจที่น่าสนใจต่อการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์
หากตรายี่ห้อ "แม่ประนอม" ไม่สามารถนำมาใช้ได้ เนื่องจากผู้ก่อตั้งคือนางประนอม แดงสุภาไม่ยินยอม หรือด้วยเหตุใดก็ตาม และ บจก.พิบูลย์ชัยฯ ต้องเปลี่ยนตรายี่ห้อสินค้าใหม่ เช่น อาจจะเปลี่ยนเป็น "แม่ประทีป" หรือน้ำพริก "แม่ศิริพร" หรืออื่นใดก็ตาม จะทำให้มูลค่าของ "แม่ประนอม" หายไปเท่าใด หรือหากนางประนอมร่วมทุนกับบุคคลอื่นผลิตสินค้า "แม่ประนอม" บ้าง จะทำให้บริษัทนั้นเติบโตทางลัดด้วยยี่ห้อ "แม่ประนอม" เพียงใด อย่างไรก็ตามในกรณีหลังนี้คงเป็นไปได้ยาก เพราะลิขสิทธิ์ "แม่ประนอม" อาจเป็นของ บจก.พิบูลย์ชัยฯ ไปแล้ว
ยี่ห้อ "แม่ประนอม" มีมูลค่ามากน้อยแค่ไหน ในแง่หนึ่งอาจพิจารณาได้จากการเปรียบเทียบกับคู่แข่ง หากการมียี่ห้อ "แม่ประนอม" ทำให้การขาย ๆ ดีกว่าคู่แข่ง 10% ก็แสดงว่ากำไรสุทธิที่ 39.2 ล้านบาทนั้น มีส่วนของ "ยี่ห้อ" อยู่ 3.92ล้านโดยประมาณ หากกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นปีละ 10% และมีอัตราผลตอบแทนในการลงทุนอยู่ที่ 8% มีความเสี่ยงทางธุรกิจค่อนข้างน้อยเพราะเป็นกิจการที่มั่นคงอยู่ที่ 5% ก็จะทำให้มีมูลค่าของยี่ห้อแม่ประนอมเท่ากับดังนี้:
= รายได้สุทธิ / (อัตราผลตอบแทน + ความเสี่ยง - อัตราเพิ่มสุทธิของกำไร)
= 3.92 / (8% + 5% - 10%)
= 130.67 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เพื่อความถูกต้องแม่นยำ เรายังควรตรวจสอบเพิ่มเติมถึง
1. การเปรียบเทียบความเข้มแข็งและความจงรักภักดีของยี่ห้อ (ถ้ามี)
2. รายได้สุทธิที่แท้จากการดำเนินการในทางบัญชีและในความเป็นจริง
3. ต้นทุนในการสร้างยี่ห้อสินค้าใหม่ (หากไม่สามารถใช้ยี่ห้อเดิม หรือยี่ห้อเดิมได้รับการต่อต้านจากสังคม) ที่เกี่ยวเนื่องกับการโฆษณา ช่องทางการจัดจำหน่าย ผู้บริหารการขาย ฯลฯ
ยี่ห้อของสินค้าต่าง ๆ จึงมีมูลค่า โดยเฉพาะยี่ห้อที่มีเสถียรภาพและได้รับการต้อนรับจากตลาดมานาน ก็จะมีมูลค่าสูงเป็นพิเศษ การทำให้ยี่ห้อได้รับความเสียหาย ก็อาจส่งผลต่อการรับรู้รายได้ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตามในกรณีบริษัทนี้ การต่อสู้กันคงไม่ได้อยู่ที่ยี่ห้อ แต่อยู่ที่ที่ดิน อาคาร เครื่องจักร เงินที่ผันไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์อื่น ทรัพย์สินหมุนเวียน ฯลฯ ซึ่งอาจมีมูลค่าอยู่หลายพันล้านนั่นเอง