อยากทราบหรือไม่ ราคาที่ดินที่อยู่ตามแนวรถไฟฟ้า ที่ไหนพุ่งแรงที่สุด แล้วเราจะไปลงทุนซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อื่นที่ไหนดีที่สุด
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) เปิดเผยถึงผลการศึกษาราคาที่ดินที่เปลี่ยนแปลงมาในช่วงปี 2537-2554 ซึ่งศูนย์ข้อมูลฯ ได้สำรวจมาอย่างต่อเนื่อง แต่สำหรับในปีล่าสุด ราคาเพิ่มขึ้นอย่างไรบ้าง โดยมีรายละเอียด ดังนี้:
1. ในปีล่าสุดที่สำรวจ พ.ศ.2558 ราคาที่ดินทั่วเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปรับเพิ่มขึ้น 3.2% ต่ำกว่าปี 2557 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.5% และคาดว่าปี 2559 นี้จะปรับเพิ่มขึ้นเหลือเพียง 3% ตามภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำลง
2. โดยเฉลี่ยแล้วใจกลางกรุงเทพมหานครปรับเพิ่มสูงสุดที่ 6.8% สูงกว่าค่าเฉลี่ยรวม เนื่องจากว่าประชาชนในย่านใจกลางเมืองเข้าเมืองมาทำธุรกิจต่าง ๆ ได้สะดวก โดยใช้รถไฟฟ้า จึงทำให้ใจกลางเมืองเติบโตกว่าเขตนอกเมืองเสียอีก
3. โดยสรุปแล้ว กรุงเทพฯ ชั้นนอก ทางด้านเหนือในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาเติบโตเพียง 2.0% ด้านตะวันออก เติบโต 3.2% ด้านตะวันตก 2.9% และด้านใต้ 3.3% จะเห็นได้ว่าการเติบโตลงไปทางด้านใต้ของกรุงเทพมหานคร คือ สมุทรปราการเป็นหลัก
4. สำหรับการเปรียบเทียบระหว่างฝั่งธนบุรี และฝั่งกรุงเทพมหานครเดิม (บางกอก) เฉพาะในเขตชั้นกลาง ฝั่งกรุงเทพฯ +5.1% และฝั่งธนบุรี +5.0% บริเวณนี้เป็นเขตต่อเมือง ที่มีการขยายตัวเข้มข้นไปตามแนวรถไฟฟ้า
5. เมื่อเทียบระหว่างแนวรถไฟฟ้าที่มีการเปลี่ยนแปลงราคาสูงสุด พบว่า
บีทีเอสปัจจุบัน | 6.50% | ขยายตัวเต็มที่ โดยเฉพาะใจกลางเมืองเพิ่ม 20% |
บีทีเอส ส่วนต่อขยาย อ่อนนุช-แบริ่ง | 5.70% | กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วมาก |
บีทีเอส ส่วนต่อขยาย ตากสิน-บางหว้า | 7.50% | กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วมาก |
บีทีเอส ส่วนต่อขยาย หมอชิต-สะพานใหม่ | 3.80% | ยังไม่เห็นผลชัดในขณะก่อสร้าง |
เอ็มอาร์ที (ใต้ดิน) | 6.10% | ขยายตัวเต็มที่ บางบริเวณสูงถึง 15-20% |
แอร์พอร์ต ลิงก์ | 4.00% | ไม่ค่อยมีผลมากนักเพราะมีที่ดินพัฒนาจำกัด |
สายสีม่วง บางซื่อ-บางใหญ่ | 9.60% | เติบโตสูงสุด |
สายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชัน | 1.90% | ไม่มีการพัฒนาใด ๆ นัก |
สายสีน้ำเงิน บางซื่อ-ท่าพระ | 8.10% | เติบโตอย่างเต็มที่แม้จะมีการพัฒนาหนาแน่นแล้ว |
สายสีน้ำเงิน หัวลำโพง-บางแค | 7.70% | เติบโตอย่างเต็มที่แม้จะมีการพัฒนาหนาแน่นแล้ว |
จะสังเกตได้ว่าแนวเส้นทางสายสีม่วง มีการเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินที่สูงที่สุดถึง 9.6% ในขณะที่แนวสายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชัน แทบไม่มีความเปลี่ยนแปลง เพราะไม่มีรถไฟฟ้าวิ่ง มีเพียงรางเท่านั้น