ดร.โสภณค้านแผนใช้ที่ดินราชพัสดุข้างโรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย เช่นเดียวกับที่ทางโรงเรียนและตัวแทนชุมชนโดยรอบคัดค้าน แต่ในวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
ที่ผ่านมามีข่าวว่า กรมธนารักษ์จะนำ "ที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ชม.25 เนื้อที่ 2 ไร่ 17 ตารางวา และแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ชม.1698 เนื้อที่ 7 ไร่ 3 งาน 16 ตารางวา รวมเนื้อที่ 9 ไร่ 3 งาน 33 ตารางวา ที่ตั้งอยู่ระหว่าง โรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1(เชียงใหม่) บนถนนเจริญประเทศ ตำบลช้างคลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทางกรมธนารักษ์เตรียมที่จะทำการพัฒนาที่ดินราชพัสดุดังกล่าวเพื่อจัดทำโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยตามนโยบายของรัฐบาล" (http://bit.ly/2b6Cyy7)
ต่อมามีข่าวการคัดค้าน ความว่า "15องค์กรลงชื่อค้านโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ ยื่นหนังสือถึงนายกฯวอนเลิกก่อสร้าง. . .(คัดค้าน) เนื่องจากเกรงจะผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จราจร และอื่นๆ. . .ควรจะเก็บรักษาที่ดินราชพัสดุแปลงนี้ ไว้ให้เป็นพื้นที่สีเขียว เป็นปอดของเมืองเชียงใหม่ ที่เหลือเพียงไม่กี่แห่งในตัวเมือง เพราะปัจจุบันเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ จึงอยากจะให้พัฒนาเป็นสวนสาธารณะ หรือแหล่งเรียนรู้ที่ประชาชนทั่วไปสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ซึ่งจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า" (http://bit.ly/2aWzEf0)
สำหรับรายละเอียดการก่อสร้างโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐนั้น "เป็นความร่วมมือระหว่างกรมธนารักษ์กับธนาคารอาคารสงเคราะห์ เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจัดสรรที่อยู่อาศัยให้แก่ข้าราชการและผู้มีรายได้น้อย เบื้องต้นจะเป็นอาคารชุดจำนวน 4 อาคาร สูงไม่เกิน 23 เมตร หรือ 8 ชั้น จำนวน 900 หน่วย มีพื้นที่ใช้สอยหน่วยละไม่เกิน 29 ตารางเมตร"
แม้ ดร.โสภณ ร่วมคัดค้านการใช้ที่ดินนี้ตามแผนของกรมธนารักษ์ แต่ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกับข้อคัดค้านของ 15 องค์กรดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง ข้ออ้างของ 15 องค์กรฟังไม่ขึ้นเพราะ
1. ที่ดินแปลงนี้เป็นสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนทั่วประเทศร่วมเป็นเจ้าของ ไม่ใช่จะใช้เพื่อประโยชน์ของคนในย่านนี้เท่านั้น หาไม่ก็เท่ากับ "มือใครยาว สาวได้สาวเอา"
2. ถ้าชุมชนโดยรอบต้องการได้ที่ดินแปลงนี้เพื่อประโยชน์ของตนหรือกลุ่มของตน เพราะตนอยู่ใกล้ได้ใช้ประโยชน์มากกว่าชาวเชียงใหม่ในท้องที่อื่น หรือคนจังหวัดอื่น ก็ควรจะเช่าหรือซื้อตามราคาหรือค่าเช่าตลาดจากกรมธนารักษ์ จึงจะถูกต้อง
3. การอ้างว่าควรสร้างสวนสาธารณะใจกลางเมืองนั้น ผู้ได้ประโยชน์คือคนอยู่ใกล้ แนวคิดการทำสวนสาธารณะในปัจจุบัน ควรมุ่งกระจายไปสู่ชุมชน ไม่ใช่สร้างในใจกลางเมืองเฉพาะจุด
4. การมีโรงเรียนนี้และโรงเรียนอื่นอยู่ในพื้นที่นี้และทำให้การจราจรติดขัด ถือเป็นความรับผิดชอบของโรงเรียนที่ต้องแก้ไขผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยตนเอง ด้วยทรัพยากรของตนเอง ไม่ให้กระทบต่อสังคม ไม่ใช่ผลักภาระให้กับสังคมโดยนำที่หลวงไปใช้ประโยชน์เฉพาะกลุ่ม
ที่ดินขนาดเกือบ 9 ไร่ 3 งาน 33 ตารางวานี้ หรือ 3,933 ตารางวา (9.8325 ไร่) หากประเมินตามราคาตลาด ดร.โสภณ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ประเมินไว้เบื้องต้นเป็นเงินตารางวาละ 150,000 บาท หรือรวมเป็นเงินประมาณ 589.95 ล้านบาท หากให้ชุมชนเช่าในระยะยาว 30 ปี ก็เป็นเงินประมาณ 40% ของมูลค่าตลาด หรือ 235.98 ล้านบาท
หากโรงเรียนต่าง ๆ และกลุ่มต่าง ๆ ในบริเวณนี้ต้องการนำไปใช้ ก็ควรร่วมกัน "ลงขัน" ออกเงินมาเพื่อเช่ากับทางกรมธนารักษ์ต่อไป อย่างไรก็ตามในทางตรงกันข้าม ในอนาคต โรงเรียนเหล่านี้เองก็อาจจะเลิกกิจการ หรือย้ายออกไปสู่ท้องที่อื่นของจังหวัดเชียงใหม่ เพราะไม่สะดวกที่จะอยู่ในใจกลางเมือง เช่นที่โรงเรียนหลายแห่งได้ขายหรือย้ายออกไปแล้ว ที่ดินของโรงเรียนเองก็อาจจะถูกขายเพื่อนำเงินมาใช้เพื่อประโยชน์ขององค์กรได้เช่นกัน
ในทางตรงกันข้าม ดร.โสภณ ก็ไม่เห็นด้วยกับการนำที่ดินแปลงนี้มาใช้เพื่อสร้างบ้านพักข้าราชการและบ้านผู้มีรายได้น้อย เพราะ
1. ข้าราชการก็ได้รับความช่วยเหลือ และสิทธิประโยชน์มากกว่าประชาชนทั่วไปอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องจัดหาสวัสดิการให้เพิ่มเติมเช่นนี้อีก
2. ที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยก็ได้รับการก่อสร้างโดยภาคเอกชนอย่างพอเพียง ไม่เคยมีปัญหาความขาดแคลนที่อยู่อาศัย ไม่เคยมีการร้องเรียนว่าบ้านราคาแพงเกินกว่าจะซื้อได้จนรัฐต้องจัดสร้างเอง
3. การจัดสร้างที่อยู่อาศัยของกรมธนารักษ์เช่นนี้ จึงอาจกลายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้รับเหมา และบริษัทขายปูนและเหล็ก หรือวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ เป็นสำคัญ ไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อผู้มีรายได้น้อยเลย
4. กรมธนารักษ์ไม่ทราบความจริงถึงราคาตลาดนี้ที่ 589.95 ล้านบาท ใช้แต่ราคาประเมินของทางราชการที่ประเมินไว้เพียง 124.64 ล้านบาท จึงวางแผนการพัฒนาผิดพลาด ผิดกลุ่มเป้าหมาย
5. การสร้างห้องชุดขนาด 29 ตารางเมตรในใจกลางเมืองนั้น หากขายโดยภาคเอกชน จะตกเป็นเงินตารางเมตรละ 80,000 บาท หรือรวมเป็นเงินหน่วยละ 2,320,000 บาท แต่กรมธนารักษ์จะขายในราคา 600,000 บาท ใครที่ซื้อไปหรือสามารถเช่าระยะยาวได้ ก็ถือว่า "ถูกหวย" ได้สินค้าราคาแสนถูกโดยอาศัยภาษีอากรของประชาชน และที่ดินผืนงามที่ประเมินราคาผิดพลาดมาใช้ กลายเป็นการสร้างปัญหาให้ซับซ้อนยิ่งขึ้น
ดร.โสภณ เสนอให้หยุดคิดสร้างบ้านราคาถูกและบ้านพักข้าราชการเพราะไม่จำเป็น ทำทรัพยากรของชาติสูญเสีย แล้วนำที่ดินแปลงนี้มาประมูลเพื่อการให้เช่าระยะยาว 30 ปี เพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์อื่น เช่น โรงแรมระดับ 4-5 ดาว หรืออาคารสำนักงานเกรด A ซึ่งมีอยู่หลายแห่งในพื้นที่ ในทางหนึ่งโรงแรมชั้นดีเหล่านี้ก็คงรักษาพื้นที่สีเขียวและสภาพแวดล้อมส่วนมากไว้เป็นอย่างดี อีกด้านหนึ่งก็จะได้นำเงินรายได้ที่ได้จากให้เช่าระยะยาวนี้ รวมทั้งค่าก่อสร้างอีกมหาศาลกับโครงการที่ผิดกลุ่มเป้าหมายแบบนี้ มาใช้เพื่อพัฒนาประเทศในด้านอื่น ๆ จะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายมากกว่า
การที่ทุกฝ่ายจะวางแผนการใช้ที่ดินที่สอดคล้องกับความเป็นจริงได้ จึงต้องอาศัยการประเมินค่าทรัพย์สินที่สอดคล้องกับความเป็นจริงเป็นพื้นฐานก่อน
ภาพประกอบ 1: แปลงที่ดิน 2 แปลงของกรมธนารักษ์
ภาพประกอบ 2: แผนที่ตั้งที่ดิน ด้านบนโรงเรียนเรยีนาฯ และโรงแรมโดยรอบ