เลิกราชการส่วนภูมิภาค ส่งเสริมราชการส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นการกระจายอำนาจ คือการปฏิรูประบบราชการที่แท้ ทำได้ด้วยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่า
1. ราชการส่วนภูมิภาค หรือก็คือแขนขาของราชการส่วนกลางที่ถูกส่งไปประจำตามท้องถิ่นต่าง ๆ นั้น มีกำลังคนอยู่เป็นจำนวนมากถึง 360,928 คน ตามข้อมูลคนภาครัฐในฝ่ายพลเรือน พ.ศ.2557 ซึ่งเป็นข้อมูลเผยแพร่ล่าสุด ข้าราชการส่วนภูมิภาคจำนวนนี้มีสัดส่วนถึง 17% ของข้าราชการทั้งหมด
2. แต่ราชการส่วนท้องถิ่น มีกำลังคนเพียง 22% เท่านั้น ทั้งที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในจังหวัดภูมิภาคหรือในชนบท กลับมีข้าราชการไป "รับใช้ประชาชน" น้อยมาก
3. ที่น่าสังเกตก็คือราชการส่วนกลาง ที่กระจุกอยู่ในกรุงเทพมหานครมีข้าราชการรวมกันถึง 1,267,609 คนหรือราว 61% ของทั้งหมด ซึ่งแสดงถึงองคาพยพที่ใหญ่โตมากของระบบราชการที่อาจมีกำลังคนเกินความจำเป็น (นอกจากนั้นข้อมูลข้างต้นยังรวมเฉพาะในส่วนของกำลังคนในฝ่ายพลเรือนเท่านั้น ยังไม่รวมรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนข้าราชการทหารที่มีอีก)
และข้อมูลล่าสุดระบุว่า จำนวนกำลังคนภาครัฐเพิ่มขึ้นเกือบ 50% อยู่ที่ราว 2.2 ล้านคน (ณ ปี 2558) ถ้าหากรวมเอาภาระงบบุคลากรรวมทั้งสวัสดิการข้าราชการอื่นๆ อย่างค่ารักษาพยาบาล และบำเหน็จ บำนาญ ก็ร่วม 1.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้ของรัฐบาล. . .เมื่อเทียบกับจีดีพี งบบุคลากรภาครัฐของไทยสูงเป็นอันดับต้นๆ ในเอเชีย รองจากบาร์เรนและมัลดีฟส์ โดยสัดส่วนงบบุคลากรภาครัฐต่อจีดีพีของไทยอยู่ประมาณ 7% สูงกว่าเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย (6%) ฟิลิปปินส์ (5%) หรือสิงคโปร์ (3%) (http://bit.ly/1zgXzfh)
ในอดีตประเทศไทยมีแต่ราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค การจดทะเบียนต่างๆ ก็ต้องไปติดต่อที่อำเภอ หรือจังหวัด แต่ในปัจจุบันเรามีราชการส่วนท้องถิ่น จะเห็นได้ว่าบทบาทของอำเภอหรือจังหวัดมีน้อยลงมาก ยกเว้นอำนาจจากส่วนกลางที่พยายามจะรักษาไว้เพื่อการควบคุมส่วนท้องถิ่น อันที่จริงควรมีการเลือกตั้งนายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อการกระจายอำนาจ นี่จึงเป็นการปฏิรูประบบราชการที่แท้ และให้อำนาจตกเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง แต่ดูจากแนวโน้มประเทศไทยเราคงเดินไปในแนวทางที่จะให้อำนาจข้าราชการประจำมากขึ้น แทนที่จะส่งเสริมท้องถิ่นให้มีอำนาจจริง
ในการส่งเสริมส่วนท้องถิ่นนั้น สามารถดำเนินการได้โดย
1. ให้อำนาจส่วนท้องถิ่นในการจัดการศึกษา การดูแลความปลอดภัย การปกครองโดยตรง โดยมีข้าราชการเป็นของตนเอง ไม่สังกัดส่วนกลาง ไทยก็จะมีองคาพยพของระบบราชการที่ไม่อุ้ยอ้าย ไม่มีกระทรวงศึกษาธิการที่ "เทอะทะ" ตัดวงจรเส้นสายต่าง ๆ ไป
2. ให้ท้องถิ่นสามารถแต่งตั้งหรือสรรหา "City Manager" (ผู้จัดการเมือง) "City Appraiser" (ผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน) หรือผู้บริหารการศึกษา ผู้จัดการฝ่ายโยธา ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา โดยมีข้าราชการประจำคอยปฏิบัติตามนโยบาย ไม่ใช่ให้ข้าราชการประจำที่ควรรับใช้ประชาชนกลับมา "ขี่คอ"
3. การแต่งตั้งหรือสรรหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนี้ ก็มาจากท้องถิ่น โดยนายกเทศมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ใช่มาจากการแต่งตั้งจากส่วนกลางอย่างเด็ดขาด เพราะนั่นเท่ากับไม่เป็นประชาธิปไตย
ดังนั้นงบประมาณต่าง ๆ ที่จะใช้จึงมาจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง นำเงินส่วนนี้มาใช้เพื่อการบริหารเมืองหรือท้องถิ่นระดับต่างๆ ต่อไป ในการนี้
1. ต้องจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้เพียงพอ ไม่ใช่เก็บแค่ 0.1-1% แต่พึงจัดเก็บที่ 1-2% ของมูลค่าในแต่ละปี
2. ลดภาระภาษีทางอื่น เช่น เลิกใช้ภาษีโรงเรือน ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีและค่าธรรมเนียมโอน เป็นต้น
3. ลดการเก็บภาษีทางตรง หรืออย่างน้อยต้องไม่เพิ่มขึ้น เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อเงินจะได้ไม่ไหลไปส่วนกลาง ทำให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบต่างๆ ในระหว่างทางได้
ระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ดีจึงจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างยิ่ง