วันนี้เรามาเรียนเลขกันครับ คิดความคุ้มค่าในการลงทุน เผื่อจะไปลงทุนซื้ออะไร จะได้คิดได้ว่า สิ่งที่เราลงทุนนั้น น่าจะมีความคุ้มค่าในระยะยาวหรือไม่
ในการคิดถึงการลงทุนระยะยาว ผมก็ขออนุญาตยกตัวอย่างเรื่องเขื่อนก็แล้วกันนะครับ เอาเป็นกรณีของเขื่อนแม่วงก์ก็แล้วกัน ที่มักมีข้อถกเถียงว่ามันคุ้มค่าหรือไม่ เรามาลองศึกษากันดู กรณีเขื่อนแม่วงก์นี้ ถ้าได้สร้างเขื่อนเมื่อปี พ.ศ.2525 ตามที่วางแผนไว้แต่แรก จะใช้เงินเพียง 3,761 ล้านบาท ป่านนี้คุ้มทุนไปแล้ว แต่ถ้าไม่ได้สร้าง ก็ทำให้เกิดความสูญเสียที่เราไม่รู้ตัว
ในส่วนต่อไปนี้เป็นการคำนวณทางการเงินเพื่อความเข้าใจอย่างง่าย ๆ ถึงการสูญเสียโอกาสในการไม่ได้ก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ในอดีต และในอนาคตจะยิ่งมีต้นทุนสูงขึ้น
1. ค่าก่อสร้างเขื่อนที่ประมาณการไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2525 เป็นเงินเพียง 3,761 ล้านบาท แต่มาในปี พ.ศ.2556 เพิ่มขึ้นเป็น 13,000 ล้านบาทตามข้อมูลของกรมชลประทาน
2. ในระยะเวลา 31 ปีที่ผ่านมา การเพิ่มขึ้นของค่าก่อสร้างนี้ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 4.08% ตามสูตร
= ราคาสร้างล่าสุด หารด้วย ราคาสร้างตอนแรก แล้วเอาผลลัพธ์ มาถอดรูท 31 ปี แล้วเอาผลทั้งหมดมาลบด้วย 1 ก็จะได้เป็นอัตราเพิ่มของมูลค่าที่เกิดขึ้นในแต่ละปี
= ((13,000/3,761)^(1/31))-1 ซึ่งถือว่าค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นไม่มากนักในช่วง 31 ปีที่ผ่านมา
3. หากขณะนั้นกู้เงินมาทำโครงการด้วยเงิน 3,761 ล้านบาท ณ อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 8% เป็นระยะเวลา 15 ปี ก็เท่ากับผ่อนชำระคืนเพียงปีละ 419 ล้านบาท หรือเดือนละ 37 ล้านบาท หรือ
= เอาเลข 1 หารด้วย 1+ดอกเบี้ย 8% แล้วเอา 1 ไปลบด้วยผลลัพธ์ดังกล่าว จากนั้นก็เอา 8% ไปหารด้วยผลลัพธ์ต่อมา แล้วคูณด้วย 3,761 ล้านบาท
= 8%/(1-(1/(1+8%)^15))*3,761
กรณีนี้ก็เท่ากับว่าตอนนี้ก็ผ่อนหมดไปแล้ว 16 ปี
4. หากยิ่ง "ซื้อเวลา" ออกไป และหากสร้างในอีก 30 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2586) ค่าก่อสร้างจะเพิ่มขึ้นเป็นเงิน 43,128 ล้านบาท หรือ
= 1 บวดด้วยดอกเบี้ย 4.08% แล้วยกกำลัง 30 ปี แล้วจึงคูณด้วยค่าก่อสร้างล่าสุดที่ 13,000 ล้านบาท
= (((1+4.08%)^30)*13,000)
ผลก็คือจะแพงขึ้นเป็น 3.32 เท่า (332%) ทั้งนี้โดยใช้อัตราดอกเบี้ยเดิมคือ 4.08% ยิ่งปล่อยนานวันไป ประเทศชาติจะยิ่งเสียหาย
5. ถ้าต้องมีเงิน 43,128 ล้านบาท ในการก่อสร้างเขื่อนในอีก 30 ปีข้างหน้า นับแต่วันนี้ไปอีก 30 ปี รัฐบาลต้องเริ่มสะสมเงินปีละ 759 ล้านบาท หรือเดือนละ 63 ล้านบาท ณ อัตราดอกเบี้ย 4.08% ต่อปี หรือ
= 1 บวกด้วย 4.08% แล้วนำไปยกกำลัง 30 ปีข้างหน้า จากนั้นเอา 4.08% ไปหารด้วยผลลัพธ์ แล้วคูณด้วย 43,128 ล้านบาทที่เป็นมูลค่าในอีก 30 ปีข้างหน้า
= 4.08%/(((1+4.08%)^30)-1)*43,128
ดังนั้นจึงจะได้เงินจำนวนดังกล่าว นี่คือความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจากการ "เตะถ่วง" โครงการอย่างไม่สิ้นสุด
6. หากสมมติให้ผลตอบแทนจากเขื่อนเป็นเงิน 5% ของ 3,761 ล้านบาทหรือ 188 ล้านบาทต่อปี และเก็บกินมาได้แล้ว 23 ปี (31 ปีที่ผ่านมาลบด้วย 8 ปีในการก่อสร้าง) ก็จะได้เม็ดเงิน ณ อัตราดอกเบี้ย 4.08% เป็นเงินถึง 6,952 ล้านบาท หรือ = ((((1+4.08%)^23)-1)/4.08%)*(3,761*0.05) นี่คือโอกาสที่สูญเสียไปจากการไม่ได้สร้างเขื่อนแม่วงก์
7. ถ้าเขื่อนแม่วงก์สามารถสร้างผลตอบแทนสุทธิได้ 10% ต่อปีเท่า ๆ กันโดยไม่มีการเติบโตของผลตอบแทนเลย (ปกติควรมี) และนำผลตอบแทนนี้มาคิดด้วยอัตราเงินเฟ้อที่คำนวณจากการเพิ่มค่าก่อสร้างของเขื่อน ณ 4.08% ต่อปี ซึ่งค่อนข้างสูงกว่าความเป็นจริง ก็จะพบว่า การลงทุนก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์จะคุ้มทุนในปีที่ 14 ของการดำเนินงาน และหากคิดถึงปัจจุบัน คงได้กำไรไปเป็นอันมากแล้ว
ในการตัดสินใจลงทุน ถ้าเรายิ่งช้า เพราะยิ่งไปหลงเรื่อง "ดรามา" หรือมัวแต่มะงุมมะงาหราอยู่ เราก็จะ "ไม่ทันกิน" คนอื่นเขา เราจึงต้องตัดสินใจอย่างฉับไวแต่กอปรด้วยข้อมูลที่แม่นยำ