เร่งสร้างเขื่อนแม่วงก์ ดีต่อป่าไม้และสัตว์ป่า
  AREA แถลง ฉบับที่ 319/2559: วันพฤหัสบดีที่ 01 กันยายน 2559

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            บางท่านยังเข้าใจผิด สร้างเขื่อนนี้ไม่ได้ทำลายป่า แต่จะทำให้ป่าชอุ่ม เพื่อเพิ่มปา สัตว์ป่าเพราะมีอาหารสัตว์มากขึ้น ตลอกจนเป็นประโยชน์ต่อประชาชนคนเล็กคนน้อยอย่างอเนกอนันต์

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ซึ่งต่อสู้เพื่อการสร้างเขื่อนเพื่อประโยชน์ของประชาชน สัตว์ป่าและป่าไม้ ขอนำเสนอข้อมูลดังนี้

            1. ไม่มีเสือโคร่งที่เขื่อนแม่วงก์ ในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เมษายน 2555 ระบุว่าพบเสือในพื้นที่ก่อสร้างเขื่อน โดยในรายงานบอกเพียงว่าได้ข้อมูลจากการทบทวนเอกสารเก่าและการเดินสำรวจ แต่ไม่ปรากฏว่ามีชาวบ้านในพื้นที่ที่ออกหาของป่าพบเสือแต่อย่างใด หากเปรียบเทียบกับข่าวชาวบ้านแตกตื่นพบร่องรอยพบเสือโคร่งจริงนั้น จะพบว่าเจ้าหน้าที่ถืออาวุธพร้อมจำนวนมากเพื่อออกไล่ล่า คงไม่ปล่อยไว้เฉย ๆ ดังนั้นการพบร่องรอยตามรายงาน จึงนำมายืนยันไม่ได้ และบริเวณที่พบก็ห่างไกลจากจุดสร้างเขื่อน การนำเสือมาอ้างเพื่อคัดค้านการสร้างเขื่อนจึงไม่เป็นเหตุเป็นผล (bit.ly/1Pxan90)

            2. เมื่อพิจารณาจากสภาพป่าไม้ในพื้นที่ก่อสร้างเขื่อน ก็พบว่าเป็นป่าไผ่ ฯลฯ ไม่ใช่เป็นป่าดงดิบเช่นภาพต่าง ๆ ที่กลุ่มผู้คัดค้านมักจะนำมาแสดง ทั้งนี้เป็นคำชี้แจงของอดีต รมต.วีระกร ในรายการตอบโจทย์ (ซึ่ง อ.ศศิน ก็ไม่ได้ค้าน) ที่ว่าเป็นพื้นที่เดิมที่มีผู้อยู่อาศัย 200 กว่าครัวเรือนเมื่อ 20 กว่าปีก่อน แต่ภายหลังทางราชการให้ย้ายออกไป ดังนั้นกรณีการทำลายป่าไม้จึงสมควรทบทวนให้ดีเพราะท่วมพื้นที่ตามลำห้วยปัจจุบันเท่านั้น ไม่ได้กินพื้นที่กว้าง ยิ่งกว่านั้นพื้นที่โดยรวมของเขื่อนแม่วงก์ ก็มีขนาดเพียง 1 ใน 1,000 ของผืนป่าตะวันตก ซึ่งเสือคงไม่มาอยู่อาศัยยกเว้นผ่านมาแถวนี้บ้างเท่านั้น

            3. หากดูจากแผนที่ข้างต้น การก่อสร้างเขื่อนนี้จะทำให้ลำน้ำที่เคยแห้งแผกในช่วงหน้าแล้ง มีน้ำอยู่เป็นประจำ กลายเป็นแหล่งน้ำของสัตว์ป่าทั้งหลายกระจายออกไปในวงกว้าง หาดทราย แก่งนงยูงใหม่ ๆ ก็จะเกิดขึ้นได้อีกมาก และจะกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเช่นเดียวกับพื้นที่เขื่อนอื่น ๆ ด้วย

            4. บางท่านเกรงว่าหากมีการสร้างเขื่อนจะเกิดการล่าสัตว์ป่า หรือแอบตัดไม้ทำลายป่ามากขึ้น กรณีนี้ ทางราชการคงต้องป้องกัน และกลุ่มผู้คัดค้านเขื่อนก็สามารถมีบทบาทในเชิงสร้างสรรค์ด้วยการตั้งหน่วยสังเกตการณ์เพื่อรักษาป่าไม้ บวชต้นไม้ในที่นอกเหนือจากพื้นที่ก่อสร้าง ฯลฯ แต่จะเพียงอ้างลอย ๆ เพื่อคัดค้านการสร้างเขื่อน คงไม่ใช่เป็นแนวทางที่สมควร

          หากพิจารณาตามรายงาน EHIA ฉบับเดือนกรกฎาคม 2555 (http://bit.ly/1Prlq4r) ระบุข้อดีของการสร้างเขื่อนแม่วงก์ไว้ดังนี้:

            1. จะทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนในลุ่มน้ำแม่วงก์เพิ่มขึ้น โดยมีปริมาตรเก็บกักประมาณ 258 ล้านลบ.ม. เพื่อใช้เป็นน้ำเพื่อการเกษตร น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การประมงน้ำจืด รวมทั้งเพื่อการท่องเที่ยว เป็นต้น

            2. สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่รับประโยชน์ท้ายอ่าง 10,000 ไร่ และพื้นที่ชลประทาน 291,900 ไร่ (ฤดูฝน) และในฤดูแล้ง 116,545 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 127 หมู่บ้าน 23 ตำบล 6 อำเภอ 3 จังหวัด

            3. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทีดินด้านการเกษตรกรรม (Cropping Intensity : CI) เพิ่มขึ้น 40%

            4. การยกระดับรายได้ของเกษตร ซึ่งเกษตรสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวในฤดูฝน และเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกรวมทั้งผลผลิตพืชฤดูแล้ง

            5. เพิ่มผลผลิตด้านสัตว์น้ำและการประมงน้ำจืด ประมาณปีละ 165 ตัน/ปี คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งหมดปีละ 7.13 ล้านบาท รวมทั้งทำให้นิเวศน์ด้านท้ายน้ำในลำน้ำแม่วงก์มีความสมบูรณ์มากขึ้น

            6. อ่างเก็บน้ำสามารถเป็นแหล่งน้ำเพื่อการดับไฟป่าที่มักเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้ง ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ โดยในปี พ.ศ.2542 มีไฟป่าเกิดขึ้นถึง 108 ครั้ง พื้นที่เสียหาย 3,327 ไร่

            7. ทำให้สมบัติของดินโดยรอบอ่างเก็บน้ำและในพื้นที่ชลประทานมีความชุ่มชื้นเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในฤดูแล้ง เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของพืชพรรณธรรมชาติรวมทั้งพืชเกษตรกรรม

            8. สัตว์ป่าจะได้ประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำในด้านการเป็นแหล่งน้ำและแหล่งอาหาร

            9. มีน้ำใช้เพื่อการชลประทานและการอุปโภคบริโภคสำหรับประชาชน รวมทั้งกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยว

            10. ทำให้สภาพทางสาธารณสุขและภาวะโภชนาการมีแนวโน้มดีขึ้น

          ส่วนข้อเสีย มีดังนี้

            1. กระทบต่อพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ประมาณ 12,300 ไร่

            2. กระทบต่อที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ มว.4 (แม่เรวา) และหน่วยรักษาต้นน้ำขุนน้ำเย็น

            3. กระทบไม้ใหญ่ 677,922 ต้น มูลค่าไม้ทั่งหมดประมาณ 1,073 ล้านบาท ปริมาณธาตุอาหารพืช 11.71 ล้านบาท/ปี

            4. กระทบต่อแหล่งโบราณคดี 6 จุด

            5. กระทบต่อแหล่งท่องเที่ยว คือ แก่งลานนกยูง แก่งท่าตาแสง และแก่งท่าตาไท

            6. ชดเชยที่ดินและทรัพย์สิน เช่น ระบบคลองส่งน้ำและคลองระบายน้ำในพื้นที่ชลประทานรวม 15,742 ไร่ โดยมีผู้ถือครองที่ดินคิดเป็นมูลค่าชดเชยรวมทั้งสิ้น 801.08 ล้านบาท

            ข้างต้นคือผลสรุปรวบยอดจากผู้เชี่ยวชาญซึ่งถือเป็นผู้ที่รู้จริงจำนวนมาก ที่เด่น ๆ ได้แก่ ผศ.ดร.บญส่ง ไข่เกษ (คุณภาพน้ำ) ดร.สกุล ห่อวโนทยาน (สจล.ลาดกระบัง: ชลประทาน) ผศ.สารัฐ รัตนะ (ม.เกษตรฯ: การจัดการอุทยานฯ) รศ.ดร.ปรีชา ธรรมานนท์ (วนศาสตร์ ม.เกษตรฯ: ป่าไม้/จัดการลุ่มน้ำ) รศ.ดร.วีรยุทธ์ เลาหะจินดา (ม.เกษตรฯ: สัตว์ป่า) รศ.ดร.ประทักษ์ ตาบทิพย์วรรณ (ประมง ม.เกษตรฯ: นิเวศวิทยา) ดร.เสถียร รุจิรวนิช (จุฬาฯ: การมีส่วนร่วม) ดร.โกมล ศิวบวร (มหิดล: ผลกระทบต่อสุขภาพ) ดร.สุชาติ เหลืองประเสริฐ (ม.เกษตรฯ: สิ่งแวดล้อม) ดร.กิจจา จิตรภิรมย์ (ว.ราชสีมา: ระบาดวิทยา) รศ.ดร.ชวเลข วณิชเวทิน (วิศวฯ ม.เกษตรฯ: คมนาคม) เป็นต้น

            ดังนั้นในเบื้องต้นจึงสรุปได้ว่า การสร้างเขื่อนมีข้อดีมากกว่าข้อเสียหลายประการ แต่สิ่งที่พึงระวังก็คือจะมีแนวทางการจัดการข้อเสียอย่างไรบ้าง เช่น

            1. ในข้อที่เสียป่า 12,300 ไร่นั้นเป็น 2.2% ของอุทยานฯ หรือ 0.1% ของผืนป่าตะวันตกทั้งหมด เท่ากับ 2 เท่าของเขตสาทร ซึ่งเป็นเขตกระจิดริดในกรุงเทพมหานคร การเสียนี้กลับส่งผลให้เกิดแหล่งน้ำสำหรับสัตว์เพิ่มขึ้น เพิ่มความชุ่มชื้น อาจทำให้ป่าไม้โดยรอบหนาแน่นกว่าเดิมชดเชยส่วนที่เสียไปได้ รวมทั้งประโยชน์ที่จะตกแก่ประชาชนถึงราว 50,000 คน

            2. ในส่วนของอาคารที่ทำการ ที่เป็นไม้ก็คงสามารถรื้อไปสร้างใหม่ได้ ส่วนที่เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กก็คงต้องสูญเสียไป แต่คงมีมูลค่าน้อย และมีขนาดเล็ก ๆ เท่านั้น

            3. ในส่วนของต้นไม้ ซึ่งก็คงซ้ำซ้อนกับข้อแรก และต้องโปร่งใสนำไม้ที่ตัดได้มาขายเพื่อลดต้นทุนให้กับโครงการ และระมัดระวังไม่ให้เงินรั่วไหล หรือมีการตัดไม้เกินจำนวน ซึ่งทางราชการต้องตรวจสอบอย่างเคร่งครัด และเป็นช่องทางเชิงสร้างสรรค์ของ NGOs ที่จะทำงาน "ปิดทองหลังพระ" ส่งอาสาสมัครเข้าตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง

            4. ในส่วนของแหล่งโบราณคดี 6 จุด ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะมีได้อย่างไรในพื้นที่ป่าแห่งนี้ แต่ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อมีการก่อสร้างทางหลวง ก็เคยมีการยกย้ายเจดีย์แล้วสร้างใหม่ข้าง ๆ ให้พ้นจากเขตทางมาแล้ว แม้แต่วัดที่กาญจนบุรี หรืออุตรดิตถ์ก็ยังเคยย้ายเพื่อสร้างเขื่อนแล้ว

            5. ในส่วนของแก่งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเดิม คงไม่เป็นปัญหานัก เพราะเมื่อมีเขื่อน ก็จะเกิดแก่ง หาดทรายและแหล่งท่องเที่ยวสวยงามใหม่ ๆ มากกว่า 3 แก่งนี้ เช่น กรณีเกิดบางแสน 2 พัทยา 2 หลังการสร้างเขื่อน เป็นต้น

            6. ในส่วนของการชดเชย ทางราชการก็คงรวมค่าใช้จ่ายเหล่านี้อยู่ในต้นทุนของโครงการไว้แล้ว และมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และทำให้การระบายน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อการเกษตรกรรม

            ประเด็นเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปพึงทราบเพื่อประกอบการพิจารณาด้วยวิจารณญาณมากกว่าอารมณ์ความรู้สึกแบบ "ดรามา"

            จากผลการสำรวจล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2559 (bit.ly/1Ti1QZ0) พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ถึง 79% เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์บริเวณเขาสบกกที่เป็นเขตส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ หากพิจารณาจากจำนวนประชากรที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปในแต่ละท้องที่ที่มีอยู่รวมกัน 356,476 คน จะพบว่า มีจำนวน 280,392 คนที่อนุมานได้ว่าเห็นด้วยกับการก่อสร้างเขื่อนนี้ แสดงว่าเขื่อนนี้จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมจริง

            ดังนั้นรัฐบาลจึงควรเร่งสร้างเขื่อนแม่วงก์เพื่อประโยชน์ของป่าไม้ สัตว์ป่าและประชาชนที่จะได้ใช้เขื่อนเพื่อประโยชน์ในการป้องกันน้ำท่วม แก้ฝนแล้ง มีระบบชลประทาน ผลิตไฟฟ้า ประปา ประมง ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยว ฯลฯ

อ่าน 6,043 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved