ในวงการอสังหาริมทรัพย์ ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด ไม่ใช่นักพัฒนาที่ดิน แต่เป็นนายหน้าอสังหาริมทรัพย์นั่นเอง ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น แต่คำถามสำคัญกว่านั้นก็คือ ทำไม่ไม่มีการควบคุมทางวิชาชีพ ต้องการให้มีช่องโหว่เพื่อการโกงหรือไร
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) กล่าวว่า ณ สิ้นปี 2558 ประเทศไทยมีบ้านอยู่ทั้งหมด 24,712,420 หน่วย ซึ่งรวมตั้งแต่บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ ตึกแถว และห้องชุด ทั้งนี้จากข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา หากพิจารณาจากการโอนที่อยู่อาศัยของกรมที่ดิน ก็พบว่ามีการซื้อขายบ้านในขอบเขตทั่วประเทศประมาณ 857,984 หน่วย หรือประมาณ 3.5% ของบ้านทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าการขายบ้านในแต่ละแห่งนั้น ขายกันปีละ 3-4% โดยประมาณ โดยในจำนวนนี้ 227,208 หน่วย หรือราวหนึ่งในสี่ (26.5%) ของทั้งหมด อยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อย่างไรก็ตามหากพิจารณาในด้านของบ้านจัดสรรและห้องชุด จะพบว่าในเขตกรุงเทพมหานครมีการซื้อขายกันถึงครึ่งหนึ่งของทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตามในกรณีการขายบ้านและห้องชุดในโครงการจัดสรรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีอยู่ประมาณ 80,816 หน่วย หรือราว 35.6% ของที่อยู่อาศัยทั้งหมดในพื้นที่นี้ การนี้แสดงให้เห็นว่าบ้านส่วนใหญ่ 146,392 หน่วย (สองในสาม) ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นการซื้อบ้านบ้านมือสอง ไม่ใช่บ้านมือหนึ่งแต่อย่างใด อาจกล่าวได้ว่าสัดส่วนระหว่างการขายบ้านมือหนึ่งและมือสองอยู่ที่ 1:2 การขายบ้านมือสองมีมากกว่าบ้านมือหนึ่งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลแล้ว และหากในสัดส่วนทั่วประเทศ การขายในโครงการจัดสรร ยิ่งจะน้อยกว่าการซื้อขายกันเองในหมู่ประชาชน
นายหน้าซื้อขายบ้าน จึงมีบทบาทในการนี้มากเป็นพิเศษ ในอนาคต การซื้อขายบ้านผ่านนายหน้าจะมีมากขึ้นตามลำดับ นายหน้าจึงถือเป็น "ผู้ยิ่งใหญ่" ที่สุดในวงการอสังหาริมทรัพย์ เพราะทำให้เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนมากกว่า โดยที่นายหน้ามีบทบาทสำคัญแบบนี้ สังคมจึงควรมีการควบคุมวิชาชีพนี้ให้ดี เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคและสังคมโดยรวม อย่างไรก็ตามในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายควบคุมนายหน้าโดยเฉพาะ รวมทั้งยังไม่มีกฎหมายควบคุมนักวิชาชีพอื่นด้านอสังหาริมทรัพย์ เช่น ผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน นักบริหารทรัพย์สิน เป็นต้น
การเปิดช่องโหว่ไว้แบบนี้ รังแต่จะทำให้เกิดการโกง การทุจริตต่าง ๆ มาก เพราะการขาดการควบคุมทางวิชาชีพ รัฐบาลจึงควรมีการควบคุมทางวิชาชีพในรูปแบบของคณะกรรมการ สภาวิชาชีพ หรืออื่น ๆ โดยรัฐบาลดำเนินการโดยเคร่งครัด และเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น สถาบันการเงิน สถาบันการศึกษา ได้มีบทบาทในการนี้มากขึ้น
เพื่อประโยชน์ของสังคม เราต้องควบคุมนักวิชาชีพอสังหาริมทรัพย์