อุทาหรณ์แก่ผู้ซื้อบ้านหรือผู้ครองครองที่ดินไว้ในกรณีการผิดกฎหมายครอบครองสาธารณสมบัติ บุกรุกที่หลวง เช่น ในป่าเขา ตามริมคลอง โดยขอยกตัวอย่างชาวบ้านชุมชนป้อมมหากาฬ ซึ่งขณะนี้เหลืออยู่เพียง 16 ครัวเรือนเท่านั้น (http://bit.ly/2bb2kAU) ที่ไม่ยอมย้าย โดยที่ดินทั้งหมดตกเป็นของ กทม.โดยชอบตามกฎหมายแล้ว
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
บุคคล 16 ครัวเรือนที่ยังไม่ยอมย้ายออกจากป้อมมหากาฬกระทำผิดกฎหมายแพ่ง ดังนี้:
มาตรา 1304 สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดิน ซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันเช่น
(1) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่น ตามกฎหมายที่ดิน
(2) ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่าที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวงทะเลสาบ
(3) ทรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะเป็นต้นว่า ป้อมและโรงทหารสำนักราชการบ้านเมือง เรือรบ อาวุธยุทธภัณฑ์
มาตรา 1305 ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น จะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา
การเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น เราจะไปซื้อหากันไม่ได้ จะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจของกฎหมาย จะยกอายุความขึ้นต่อสู้กับแผ่นดินมิได้ และจะยึดเพื่อการบังคับคดีตามคำพิพากษาไม่ได้
ตามประมวลกฎหมายอาญา
สำหรับกฎหมายอาญานั้น ผู้กระทำความผิดถึงขั้นติดคุกติดตาราง เพราะการละเมิดเช่นนี้ โดยมาตรา 360 ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ใช้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อประโยชน์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การที่ชาวบ้านจำนวนหยิบมือเดียวมาครอบครองแบ่งปันที่ดินของสาธารณสมบัติไปใช้ส่วนตัวจึงถือว่าผิดกฎหมายอาญาโดยชัดแจ้ง
ตามประมวลกฎหมายที่ดิน
มาตรา 18 บรรดาที่ดินทั้งหมดอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินนั้น ถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นให้อธิบดีมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันได้ตามควรแก่กรณี อำนาจหน้าที่ดังว่านี้รัฐมนตรีจะมอบหมายให้ทบวงการเมืองอื่นเป็นผู้ใช้ก็ได้
ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันหรือใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ หรือเป็นที่ดินที่หวงห้ามหรือสงวนได้ตามความต้องการของทบวงการเมือง อาจถูกถอนสภาพหรือโอนไปเพื่อใช้ประโยชน์อย่างอื่น หรือนำไปจัดเพื่อประชาชนได้ในบางกรณี
ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน
พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535) มาตรา 7 ทวิ ห้ามมิให้ผู้ใดปลูกสร้างอาคารตามกฎหมายว่าด้ายการควบคุมการก่อสร้างอาคารภายในเขตของโบราณสถาน ซึ่งอธิบดีได้ประกาศขึ้นทะเบียน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดี
ในกรณีที่มีการปลูกสร้างอาคารโดยมิได้รับอนุญาต ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งระงับการก่อสร้าง และให้รื้อถอนอาคาร หรือส่วนแห่งอาคารนั้น ภายในกำหนดหกสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง
ผู้ใดขัดขืนไม่ระงับการก่อสร้างหรือรื้อถอนอาคาร หรือส่วนแห่งอาคารตามคำสั่งอธิบดีมีความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน และให้อธิบดีดำเนินการรื้อถอนอาคารหรือส่วนแห่งอาคารนั้นได้ โดยเจ้าของผู้ครอบครองหรือผู้ปลูกสร้างไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย หรือดำเนินคดีแก่ผู้รื้อถอนไม่ว่าด้วยประการใดทั้งสิ้น
จะเห็นได้ว่าใครที่มีที่ดินอยู่บนป่าเขาวิวสวย หรือบุกรุกที่หลวงในกรณีใด ๆ ยิ่งในกรณีโบราณสถานยิ่งไปกันใหญ่ ไม่สามารถให้อยู่ได้ ยิ่งใครหลงไปซื้อ ยิ่งอาจเป็นความผิด จึงพึงสังวร