บางคนบอกว่าสหรัฐอเมริกาจะเป็นตัวอย่างประชาธิปไตยที่แท้จริงได้อย่างไร เห็นไปเที่ยวรุกรานประเทศอื่นทั่วโลก ข้อนี้เราคงต้องคิดแยกแยะ นโยบายต่อประชาคมต่างประเทศของผู้บริหารประเทศสหรัฐฯ ก็เรื่องหนึ่ง ความเป็นประชาธิปไตยในประเทศก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่ามาปะปนกัน ในด้านประชาธิปไตย สหรัฐฯ มีอย่างสมบูรณ์ยิ่ง
ผมมีโอกาสไปมลรัฐฟลอริดา สหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ก่อน ได้ความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยที่แท้ที่เราแทบไม่เคยรู้ ผมถามเพื่อนที่เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ท่านก็ยังเคยรู้มาก่อนเลย ประชาธิปไตยที่แท้ในสหรัฐฯ นั้นมีลักษณะดังนี้:
1. หลักสำคัญก็คือแทบทุกอย่างมาจากการเลือกตั้ง เขาถือว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน" (ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน) อย่างแท้จริง ถ้าไม่มีเลือกตั้งไม่ว่าจะระดับท้องถิ่นหรือระดับประเทศ ก็เท่ากับว่าไม่มีประชาธิปไตย
2. ในระดับประเทศ สหรัฐมีการเลือกตั้งหัวหน้าฝ่ายบริหาร (ประธานาธิบดี) ไทยเราก็น่าจะมีการเลือกตั้งนายกฯ โดยตรง หรืออย่างน้อยก็ต้องให้ผู้แทนของพรรคที่มีเสียงมากที่สุด ได้เป็นนายกฯ (ไม่ใช่ "เหาะ" มาจากภายนอก ซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตย) หัวหน้าฝ่ายบริหารมาบริหารแทนประชาชนทั้งมวลที่มอบอำนาจให้
3. ประธานาธิบดีที่ประชาชนเลือกเป็นผู้ตั้งองค์คณะในศาลฎีกา โดยความเห็นชอบของวุฒิสภา ซึ่งมีอยู่ 9 คนซึ่งจะอยู่จนตาย โดยในขณะนี้ มีอยู่ 5 คนที่ตั้งโดยนายจอร์จ บุช ที่ตั้งโดยนายโอบามามีเพียง 4 คน บางคนอาจตั้งคำถามว่าถ้าผู้นำฝ่ายบริหารตั้งศาล แล้วศาลจะยุติธรรมหรือ ข้อนี้อยู่ที่การกลั่นกรองของวุฒิสภาและเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับอำนาจประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งตามมติมหาชนว่าเป็นใหญ่ที่สุด
4. โดยนัยนี้จึงเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ และประเทศตะวันตกจึงกำหนดให้อำนาจฝ่ายบริหารเข้มแข็งเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ไม่ใช่แบบไทยๆ ที่พยายามบ่อนทำลายฝ่ายบริหาร เพราะมีอำนาจที่มองไม่เห็น (พรรคข้าราชการ) คอยจะเป็นใหญ่แทนประชาชน
5. ไม่มีการห้ามว่าสามี ภรรยา เครือญาติ ลงสมัครรับใช้ประชาชนในทุกตำแหน่ง การทั้งปวงอยู่ที่การตัดสินใจของประชาชน (โปรดอย่าหาว่าประชาชนไทย จะถูกซื้อเสียง นี่เป็นการอ้างเท็จ (http://bit.ly/2c5dOFk)
6. การเลือกตั้ง สส. และ สว. มีทั้งในระดับประเทศและในระดับมลรัฐ แต่ในระดับมลรัฐจะอยู่ในตำแหน่งในระยะเวลาที่สั้นกว่า
7. ในแต่ละมลรัฐมีการเลือกผู้ว่าการมลรัฐ รองผู้ว่าฯ "รมว.คลัง" อัยการ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ และศาลชั้นต้น และตำแหน่งอื่นๆ อีกมากมายที่ล้วนแต่มากการเลือกตั้ง
8. ต่อลงมาจากระดับมลรัฐก็ถึงระดับจังหวัด (County) หรืออาจเรียกว่าอำเภอหรือเขตก็แล้วแต่ถนัด ในระดับนี้ก็จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ประธานกรรมการเลือกตั้ง หัวหน้าตำรวจ (Sheriff) ผู้อำนวยการฝ่ายประเมินค่าทรัพย์สิน ผู้อำนวยการฝ่ายจัดเก็บภาษี ประธานและกรรมการจัดการศึกษา และอื่นๆ นอกจากนี้ในระดับเทศบาลหรือเมืองย่อย ตำแหน่งต่างๆ ที่คล้ายกันเหล่านี้ก็มาจากการเลือกตั้งทั้งสิ้น
9. ผู้พิพากษายังต้องมาจากการเลือกตั้ง และไม่ได้มีการกำหนดคุณสมบัติว่าต้องจบกฎหมายเสียด้วย (แต่ผู้สมัครทุกคนก็จบกฎหมาย) ทั้งนี้ยกเว้นศาลปกครอง ซึ่งพิจารณาคดีระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับประชาชน ก็จะมาจากการแต่งตั้ง โดยอำนาจของประธานาธิบดีเป็นคนตั้งตั้งแต่ระดับศาลฎีกาลงมา ในระดับจังหวัดของบางมลรัฐ ผู้พิพากษาอาจมาจากการแต่งตั้งโดยหัวหน้าผู้พิพากษาที่ประธานาธิบดีแต่งตั้งอีกที
10. การมีการเลือกตั้งผู้พิพากษาเป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นผู้ที่อยู่ในท้องถิ่น เข้าใจปัญหาต่าง ๆ ดีกว่าผู้พิพากษาจากส่วนกลางที่ไม่ยึดโยงประชาชนและไม่เข้าใจปัญหาที่แท้จริง การเลือกตั้งผู้พิพากษาจึงเหมือนการให้อำนาจ เคารพภูมิปัญญาท้องถิ่น และให้ความสำคัญแก่ท้องถิ่น ผู้นำ ผู้มีอิทธิพลทางความคิดในท้องถิ่นอย่างแท้จริง
11. ส่วนข้าราชการประจำนั้นมีไว้เพื่อการเป็น "มือไม้" ให้กับข้าราชการการเมือง ประเทศประชาธิปไตยที่แท้ เขาถือว่ายิ่งเลือกตั้งมามาก ยิ่งได้คนที่ต้องใจประชาชน ไม่ได้มาสร้างภาพกล่าวหานักการเมืองว่าเลวสารพัด เพื่อตัวเองจะได้ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างถาวร
12. รายได้ก็มีการกำหนดชัดเจน เช่น ผู้ว่าการมลรัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศมนตรี ผู้พิพากษา หรือผู้จัดเก็บภาษี ฯลฯ มีรายได้ปีละประมาณ 130,000 เหรียญสหรัฐ หรือเท่ากับเดือนละ 380,000 บาท แตกต่างกันไปตามจำนวนประชากรในแต่ละท้องถิ่น โดยท้องถิ่นที่มีคนต้องดูแลมาก ก็มีรายได้สูงกว่า แต่ก็ต่างกันไม่มากนัก ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงด้านตัวเลขรายได้เลย
13. เมื่อเทียบกับไทย รายได้นี้มากกว่าผู้ว่าราชการจังหวัดของไทยเราเพียง 3 เท่า และพวกเขาไม่มีสวัสดิการอู้ฟู่แบบข้าราชการบิ๊กๆ ของไทย ไม่มีโอกาสเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ ไม่ผลประโยชน์แอบแฝง "ตามน้ำ" อื่น หากพิจารณาจากการซื้อขายตำแหน่ง ๆ ละ 15 ล้านบาท อยู่ได้ 3 ปี ราชการไทยบางตำแหน่ง อาจมีเงินเดือนเทียบเท่ากับ 417,000 บาท นับว่ารวยกว่าข้าราชการสหรัฐฯ เสียอีก ด้วยเหตุนี้ "พรรคข้าราชการ" จึงไม่อยากให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนนั่นเอง
14. ทุกประเทศก็ต้องการคนดีมาเป็นตัวแทนของประชาชนบริหารประเทศหรือท้องถิ่น แต่เขาไม่มีการโหมกระแสคนดี (ที่ไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง) ยิ่งเลือกตั้งบ่อย ยิ่งจะได้คนดีเข้ามา ไม่ใช่ไม่เลือกตั้ง ยกเว้น สว.ระดับประเทศที่จะถูกเลือกตั้งให้อยู่ในตำแหน่งคราวละ 6 ปี สส. จะมีอายุเพียง 2 ปี เพื่อการเฟ้นหาคนดีๆ เข้ามา ไม่ใช่หาคนดีๆ จากการแต่งตั้งหรืออีกนัยหนึ่งก็คือความดีแบบอุปโลกน์นั่นเอง
15. ความสำเร็จสำคัญอย่างหนึ่งของการนี้เกิดจากการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เก็บและใช้ในท้องถิ่น ก็คล้ายกับการจัดเก็บค่าส่วนกลางในอาคารชุดหรือบ้านจัดสรรของไทยเรานั่นเอง แต่ทุกวันนี้เราไม่มีภาษีนี้ มีแต่ภาษีโรงเรือนอันบิดเบี้ยว ภาษีส่วนมากเก็บผ่านส่วนกลางแล้วส่งมาส่วนท้องถิ่น ทำให้เกิดอาการ "วัดครึ่งหนึ่ง กรรมการครึ่งหนึ่ง" เพราะไม่มีความรู้สึกเป็นเจ้าของ แต่ถ้าเก็บในท้องถิ่นและใช้ในท้องถิ่นเป็นหลัก และมีผู้แทนของประชาชนมาดูแลผลประโยชน์ตั้งแต่ประเมินค่า เก็บภาษี จัดการศึกษา ฯลฯ งบประมาณก็ใช้เพื่อท้องถิ่นอย่างเต็มที่
ดังนั้นถ้าหากไทยจะมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยจริงโดยไม่เป็นแค่คำลวง จะต้อง
1. มีการเลือกตั้งโดยควรปฏิรูประบบราชการให้มีการเลือกตั้งทุกระดับ ตั้งแต่นายอำเภอ ผู้ว่าฯ นายกรัฐมนตรี หรือแม้แต่ตำแหน่งผู้พิพากษาอรรถคดี (ยกเว้นคดีปกครอง) เพราะเท่ากับเราให้ความสำคัญต่อคนท้องถิ่นในการตัดสินคดีความกันเอง อย่าได้มีการสรรหาซึ่งเป็นกระบวนการกำมะลอของระบอบเผด็จการ
2. ราชการส่วนกลางที่เทอะทะสมควรได้รับการลดทอน ราชการส่วนภูมิภาคต้องมีขนาดเล็กที่สุดหรือไม่มี มีแต่ส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น เพื่อให้งบประมาณแผ่นดินไปสู่ส่วนท้องถิ่นมากขึ้น
ส่วนการปฏิรูปแบบไทยๆ ยิ่งทำให้ไทยเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ อำนาจอธิปไตยเป็นของคนไทยหรือไม่ ประเทศชาติจะไปสู่ความรุ่งโรจน์ หรือรุ่งริ่ง ทุกท่านต้องลองตรองดูเองเอง
ดูวิดิโอ: https://www.facebook.com/dr.sopon4/videos/1007060636073189