รถไฟฟ้าสายสีทอง: ปล้นประชาชน/เอื้อนายทุนใหญ่/หวัง "เงินทอน"?
  AREA แถลง ฉบับที่ 335/2559: วันพฤหัสบดีที่ 08 กันยายน 2559

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            รัฐบาลของประชาชนต้องทำเพื่อประชาชน ไม่ใช่ทำเพื่อนายทุนใหญ่ จริงๆ แล้ว รถไฟฟ้าสายสีทอง ภาคเอกชนก็มีแนวคิดที่จะลงทุนเองโดยรัฐบาลไม่ต้องดำเนินการ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่า

            เมื่อวันอังคารที่ 6 กันยายน 2559 คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทอง (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี–สำนักงานเขตคลองสาน-ประชาธิปก) (http://bit.ly/2cHQ8uO) โดย

            ระยะที่ 1 ช่วงถนนกรุงธนบุรี แยกคลองสาน (BTS กรุงธนบุรี-โรงพยาบาลตากสิน รวมระยะทาง 1.72กิโลเมตร (3 สถานี) เริ่มต้นจากสถานีรถไฟฟ้า BTS สถานีกรุงธนบุรี โดยแนวเส้นทางจะวิ่งมาตามถนนกรุงธนบุรีมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนเจริญนคร ผ่านวัดสุวรรณารามมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือไปตามถนนเจริญนคร ผ่านถนนเจริญรัถผ่านแยกคลองสาน และสิ้นสุดระยะที่ 1 หน้าโรงพยาบาลตากสิน (คาดว่าจะเปิดให้บริการประมาณปี 2561)

            ระยะที่ 2 ช่วงถนนสมเด็จเจ้าพระยา ถนนประชาธิปก (โรงพยาบาลตากสิน–วัดอนงคารามวรวิหาร) รวมระยะทาง 0.96 กิโลเมตร 1สถานี) เริ่มจากหน้าโรงพยาบาลตากสินถนนสมเด็จเจ้าพระยา โดยแนวเส้นทางจะวิ่งคู่ขนานไปกับคลองสมเด็จเจ้าพระยาผ่านสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาข้ามถนนท่าดินแดง มุ่งหน้าสู่ถนนประชาธิปกและสิ้นสุดระยะที่ 2 ก่อนถึงบริเวณหน้าวัดอนงคารามวรวิหาร (จะเปิดให้บริการตามการพัฒนาของรถไฟฟ้าสายสีม่วงคาดว่าจะเป็นช่วงปลายปี  2565)

            สำหรับเหตุผลที่ระบุไว้ก็คือกระทรวงมหาดไทยรายงานว่าการดำเนินการโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทอง (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี–สำนักงานเขตคลองสาน-ประชาธิปก) มีวัตถุประสงค์ ในการรองรับการเดินทางจากการพัฒนาพื้นที่ฝั่งธนบุรี และส่งเสริมการใช้บริการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ได้มีการกำหนดแนวเส้นทาง ตำแหน่งสถานที่ โรงจอดและศูนย์ซ่อมบำรุงของระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทองให้มีความสอดคล้องกับการเดินทางและการเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนทางรางทั้งที่มีอยู่ในปัจจุบันและในแผนการพัฒนาต่อไปในอนาคต

          อย่างไรก็ตามการสร้างรถไฟฟ้าสายนี้ขาดความเหมาะสมเพราะ

         1. ระยะทางถึงโรงพยายาลตากสิน หากเดินเท้าก็เพียง 1.5 กิโลเมตรเท่านั้น สามารถเดินได้ หรือใช้มอเตอร์ไซค์รับจ้างในราคาที่ไม่สูงนัก

         2. บริเวณนี้รถไม่ได้ติดมากมายเช่นถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ประชาชนจึงใช้เป็นทางลัดด้วยซ้ำไป

         3. เป็นโครงการซ้ำซ้อน โดยในระหว่างการแสดงความคิดเห็นของประชาชน มีการเสนอว่า "ย่านคลอนสานมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าในแนวบริเวณใกล้เคียงทั้งโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง และโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสซึ่งหากก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีทองจึงถือเป็นโครงการซ้ำซ้อนมากเกินไป" (http://bit.ly/2cfk7Z1)

         4. ผู้ที่ได้ประโยชน์ชัดแจ้งก็คือ "นายทุนใหญ่" ตามรายงานข่าวว่า "จะรองรับโครงการไอคอนสยาม ถนนเจริญนคร โปรเจ็กต์ร่วมทุนมูลค่า 5 หมื่นล้านบาท ของ 2 ตระกูล “จูตระกูล” แห่ง “สยามพิวรรธน์” เจ้าของศูนย์การค้าสยาม พารากอน และตระกูล “เจียรวนนท์” แห่ง แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น ที่ร่วมลงทุนสร้างศูนย์การค้าขนาดใหญ่ 5.25 แสน ตร.ม. และคอนโดมิเนียมซูเปอร์ลักเซอรี่ ริมเจ้าพระยาสูง 70 ชั้น 1 อาคาร และสูง 40 ชั้น 1 อาคาร ปัจจุบันกำลังก่อสร้าง เตรียมอวดโฉม เดือน ธ.ค. 2560" (http://bit.ly/2c7oR0U)

            โครงการนี้จะใช้เงินทั้งหมด 3,840 ล้านบาท สำหรับระยะทางทั้ง 2 ระยะคือ 2.68 กิโลเมตร (http://bit.ly/2cfkm6a) เมื่อเทียบกับโครงการดิไอคอนสยามก็จะเป็นสัดส่วนเพียง 8% ของมูลค่าโครงการเท่านั้น เช่นนี้แล้ว หากให้ภาคเอกชนสร้าง ก็ไม่เป็นภาระแก่รัฐบาลในด้านภาษีอากรที่นำมาใช้ แถมยังจะได้ค่าสัมปทานอีกด้วย แต่หากรัฐบาลลงทุนทำเอง อาจเกิดข้อครหาถึงการหวัง "เงินทอน" จากการทำโครงการใหญ่ ๆ ก็ได้

            ยิ่งหากเทียบว่าโครงการดิไอคอนสยามนี้ มีมูลค่า 50,000 ล้าน แต่เมื่อมีรถไฟฟ้า จะทำให้มูลค่าโครงการเพิ่มขึ้นราว 8% ต่อปี ก็เท่ากับว่าแค่มูลค่าเพิ่มของโครงการเอกชนนี้ ก็นำมาสร้างรถไฟฟ้าได้แล้ว รัฐบาลจึงไม่ควรลงทุนเองเด็ดขาด

ดูข่าวที่เกี่ยวข้อง
อ่าน 32,713 คน
2025 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved