ดร.โสภณ พรโชคชัย ผู้สนับสนุนการรื้อย้าย "กฎหมู่" ป้อมมหากาฬ ขอท้าอาจารย์ ม.รังสิต 41 คน ที่ลงชื่อหนุน "กฎหมู่" ถกเรื่องป้อมมหากาฬ เอาแบบเรียงหน้ามาหรือมาทั้งหมู่ ทั้ง 41 คนก็ได้
เมื่อวันเสาร์ที่ 10 กันยายน 2559 เวลา 15:48 นสพ.ออนไลน์ชื่อ "ประชาไท" ได้ลงข่าว "ผู้บริหาร คณาจารย์ ม.รังสิต หนุนชุมชนป้อมมหากาฬอยู่กับโบราณสถานได้" และได้มีภาพในหนังสือพิมพ์มติชนหนุนพวกบุกรุกเหล่านี้ ผมก็อยากจะถามเหมือนกันว่า "ผมจะถูกทำร้ายไหม ถ้าผมไปใช้สิทธิไปยืนตรงนี้บ้าง แต่ชูป้ายทวงสมบัติของแผ่นดิน และขอให้พวกเบียดบังไปใช้อย่างไม่ละอาย ออกไป!"
การสนับสนุนของพวกอาจารย์ สนับสนุนบนพื้นฐานของความเท็จ
1. พวกอาจารย์บอกว่าที่นี่คือ "ชุมชนประวัติศาสตร์เก่าแก่แห่งเดียวที่เหลืออยู่ของกรุงเทพ" นี่เป็นคำเท็จ พวกที่อยู่นี้อยู่มา 50-60 ปีมานี้เอง ไม่ใช่เกิดมาพร้อมกับการสร้างป้อมเมื่อ 234 ปีที่แล้ว การอ้างถึงภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของชุมชนโบราณ จึงเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ที่เป็นความเท็จ มีความพยายามอ้างอิง (ส่งเดช) เช่น บ้านตำรวจวัง ก็ไม่พบความเกี่ยวข้อง หรือวิกลิเกพระยาเพชปาณี ก็ไม่สามารถชี้ชัดว่ามีอยู่จริงตรงบริเวณไหน ชุมชนนี้จึงไม่ได้มีลักษณะเด่นเหมือนชุมชนโบราณ เช่น ชุมชนบ้านปูน ชุมชนบ้านบาตร ชุมชนบ้างช่างหล่อ ฯลฯ ที่มีมาแต่โบราณแล้ว
2. เรื่องของสิทธิที่คณะกรรมการสิทธิฯ พยายามมาเป็นตัวกลางนั้น คณะกรรมการสิทธิฯ ก็ไม่มีสิทธิใดๆ เพราะชาวบ้านไม่มีสิทธิ เจ้าของบ้านต่างก็โอนให้กับกรุงเทพมหานครแล้ว พวกที่อยู่อาศัยไม่มีสิทธิเพราะทำผิดประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.1304-7 ผิดประมวลกฎหมายอาญา ม.360 ผิดกฎหมายที่ดิน ม.18 ผิดพระราชบัญญัติโบราณสถาน ม.7 ทวิ ม.10 (http://bit.ly/2bEqAvy) แต่ก็ยังไม่ยอมรับการบังคับใช้กฎหมาย
3. การอยู่อาศัยต้องอยู่บนพื้นฐานที่เป็นธรรม อย่าอ้างความจน จากผลการสำรวจล่าสุด (http://bit.ly/2aYm8Eh) 19 ครัวเรือนที่ยังอยู่ พบว่า ส่วนใหญ่จะมีการใช้จักรยานยนต์สูงสุดอยู่ที่ 16 คัน มีการใช้เรื่องปรับอากาศ 6 เครื่อง และมีการใช้รถยนต์ 4 คัน มีชาวบ้าน 6 หลังคาเรือนที่ได้ซื้อที่อยู่อาศัยไว้เก็งกำไร ชาวบ้านมีความคิดจะซื้อบ้านหรือห้องชุด 47% รายได้ของหัวหน้าครอบครัวโดยเฉลี่ย 19,421 บาทต่อเดือน รายได้ของครอบครัวเฉลี่ยอยู่ที่ 25,895 บาท
ผมเชื่อว่าหลายเรื่องคนที่เป็นอาจารย์ลงชื่อไปคงไม่ทราบ เช่น บางบ้านที่มีทะเบียนบ้านอยู่กันถึง 17-18 คน มาแฝงไว้อย่างนี้ไม่น่าสงสัยบ้างหรือ บางคนได้รับเงินค่าทดแทนแล้ว ยังหวนกลับมาใหม่อย่างไม่เกรงกลัวต่อบาป คนที่ได้รับเงินแล้ว จะรื้อบ้าน พวกที่ไม่ยอมย้ายนี้ก็ไม่ยอมให้รื้อ นี่ไม่ใช่กฎหมู่หรืออย่างไร คนที่มาต้านการรื้อเมื่อ 3-4 กันยายน 2559 บางคนพอได้ฟังคำชี้แจงของทางราชการ ก็เข้าใจ ก็กลับบ้านไปเลยก็มี คนที่มาโดยการว่าจ้าง แล้วจ่ายไม่ครบ ก็มี แต่เรื่องแบบนี้ คงจับมือใครดมไม่ได้ แต่คนเป็นอาจารย์พึงสังวร ไม่พึงหูเบา
คนเป็นอาจารย์ไม่ควรส่งเสริมเรื่องผิดศีลธรรม ให้คนครองสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งก็คือของประชาชนโดยรวม อย่างไม่ละอาย ขาดหิริโอตตัปปะ แม้แต่ใครจะขายของบนที่สาธารณะ ก็ยังต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่บุคคลเหล่านี้ครอบครองมานาน อยู่ฟรีมาหลายชั่วรุ่น และพอมีกำลังของตนเอง ก็น่าจะเลิกทำผิดเช่นนี้ต่อไปแล้ว