ทั่วโลกประชาชนเป็นคนแต่งตั้งผู้พิพากษา?!?
  AREA แถลง ฉบับที่ 346/2559: วันอังคารที่ 13 กันยายน 2559

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            AREA แถลงฉบับนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของ ดร.โสภณ พรโชคชัย ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส

            ในบางประเทศมีการโหมโฆษณาชวนเชื่อว่านายกฯ ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ทั้งที่ในหลายประเทศเคยหลั่งเลือดเพื่อสิ่งนี้มาแล้ว แม้ปากจะพร่ำบอกว่าประเทศปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยและอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน แต่ก็แอบพยายามแปรประเทศไปสู่ระบอบรัฐข้าราชการ ประชาธิปไตยที่แท้เป็นอย่างไรกันแน่

            ในประเทศประชาธิปไตยมักอบรมผู้ว่าฯ ให้เป็น CEO รับใช้ประชาชน สั่งให้ข้าราชการทำงานวันเสาร์บริการประชาชน เช่นในไต้หวัน หรือแม้กระทั่งลาว ถ้ามีวันหยุดคร่อมยาว ก็จะให้ข้าราชการมาทำงานในวันหยุดเพื่อชดเชย แต่ประเทศที่ข้าราชการประจำเป็นใหญ่ กลับสั่งให้หยุดเพิ่ม โดยอ้างเพื่อว่าจะได้กระตุ้นเศรษฐกิจโดยให้คนไปเที่ยวมาก ๆ ซะงั้น

            มีความพยายามที่จะทำให้ฝ่ายบริหารที่ประชาชนใช้อำนาจอธิปไตยเลือกตั้งมา มีอำนาจน้อยลง เพื่อให้พวกข้าราชการประจำมีอำนาจและเสพสุขมากขึ้น ถูกตรวจสอบน้อยลง ทำให้ประเทศค่อยๆ ถอยห่างจากประชาธิปไตย ทำให้ประเทศชาติอ่อนแอลง การรับใช้ประชาชนลดน้อยลง เรามาลองดูตัวอย่างประเทศทั่วโลกดูบ้าง ไอ้ครั้นที่ผมจะยกตัวอย่างอังกฤษและอเมริกา ประเทศต้นฉบับ พวกนิยมเผด็จการก็ไม่ชอบ เรามาเริ่มที่ประเทศเพื่อนบ้านกันดีกว่า

            สิงคโปร์ ประธานาธิบดีซึ่งเป็นประมุขในรัฐพิธี เป็นผู้แต่งตั้งผู้พิพากษาศาลฎีกาตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง (อย่าหาว่าสิงคโปร์เป็นเผด็จการนะครับ เพราะไม่เคยมีข่าวครหาว่า "ซื้อเสียง" แต่อย่างไร) และผู้พิพากษาเหล่านี้ยังอาจถูกถอดถอนโดยการเสนอของนายกรัฐมนตรีได้เช่นกัน (http://bit.ly/2c0MRpc)

            มาเลเซีย หลังการปรึกษากับที่ประชุมสุลตานแต่ละรัฐ นายกฯ ก็เป็นผู้เสนอชื่อประธานศาลฎีกาเพื่อให้พระราชาธิบดีลงพระปรมาภิไธย นายกฯ ยังเป็นผู้เสนอให้ถอดถอนโดยมีการตั้งคณะตุลาการขึ้นสอบสวน (http://bit.ly/2cKyL8v) แค่ 2 ประเทศนี้ก็เห็นชัดว่าอำนาจฝ่ายบริหารซึ่งมาจากประชาชนสำคัญที่สุด ไม่ใช่ให้ผู้พิพากษาที่เป็นแค่ข้าราชการประจำที่ทำงานด้านกฎหมายมา "ขี่คอ"

            ฟิลิปปินส์ กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่ารัฐสภามีอำนาจในการแต่งตั้ง ถอดถอนผู้พิพากษาในศาลระดับต่าง ๆ (http://bit.ly/25BTJ1Q) ทั้งนี้เพราะถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ผู้พิพากษาก็เป็นข้าราชการประจำแขนงหนึ่งที่สามารถถูกประชาชนถอดถอนได้นั่นเอง

            อินโดนีเซีย คณะกรรมการตุลาการเป็นผู้เสนอชื่อประธานศาลฎีกาเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบก่อนนำส่งประธานาธิบดี (ที่ประชาชนเลือกตั้งมาโดยตรง) เพื่อประกาศแต่งตั้งต่อไป (http://bit.ly/2crkiSp) ด้วยเหตุนี้จึงถือว่าการปกครองของอินโดนีเซียในปัจจุบันเป็นประชาธิปไตยโดยแท้

            เวียดนาม ทีนี้มาดูประเทศสังคมนิยมซึ่งระบบกฎหมายต่างจากไทย โดยผู้พิพากษาซึ่งถือเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงต้องเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ แต่รูปแบบของการแต่งตั้งผู้พิพากษาก็คล้ายกับประเทศอื่นที่ต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาและที่สำคัญต้องให้ประธานาธิบดี ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในฝ่ายบริหารเป็นผู้แต่งตั้ง ไม่ใช่มาตีเสมอกับฝ่ายบริหาร  ฝ่ายบริหารควบคุมไม่ได้ หรือพยายามควบคุมฝ่ายบริหารเสียเอง (http://bit.ly/2cMQfW8)

            จีน ก็คล้ายกันประธานศาลฎีกา และผู้พิพากษาต่าง ๆ ได้รับการคัดเลือก/แต่งตั้งโดยสภาประชาชนจีน (http://bit.ly/2cMYu4e) เฉพาะศาลฎีกาก็มีผู้พิพากษามากถึง 340 คน (http://bit.ly/2cMZzJl)

            ญี่ปุ่น มาดูประเทศประชาธิปไตยในเอเซียบ้าง อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล สรุปว่า "จักรพรรดิแต่งตั้งประธานศาลสูงสุด จากการเสนอชื่อของรัฐสภา (จักรพรรดิลงนามอย่างเดียว ไม่มีดุลพินิจ). . .ผู้พิพากษาศาลสูงที่เหลือให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง" (http://bit.ly/2ct2R2W) นายไชยยศ วรนันท์ศิริ เพิ่มเติมว่า ". . .มีการทบทวน (การดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาโดยประชาชน ด้วยวิธีการลงคะแนนพร้อมกับการเลือกตั้งทั่วไป. . . การทบทวนนี้จะมีไปทุกระยะเวลา ๑๐ ปี"(http://bit.ly/2cetIw5) นอกจากนี้ยังมีการเลือกตั้งผู้พิพากษา (ไม่ใช่ศาลฎีกา) อีกด้วย (http://bit.ly/2cNAe0R)

            เกาหลี ซึ่งก็เป็นประเทศประชาธิปไตย ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 104 (1) ว่า ประธานศาลฎีกา ได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี (จากการเลือกตั้ง) โดยผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา (http://bit.ly/2ceu3z6) ทุกประเทศข้างต้น เขาให้ความสำคัญกับผู้แทนประชาชนที่มาบริหารประเทศ ไม่ได้ถูกใส่ร้ายว่าจะเข้ามาโกงสถานเดียว

            ศรีลังกา หันมาดูเอเซียใต้บ้าง นายกฯ ก็เป็นคนตั้งผู้พิพากษาศาลฎีกา ตามที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ไม่ใช่รับราชการมาจนแก่แล้วมีอำนาจอธิปไตยส่วนตัว คนอื่นแตะต้องไม่ได้ ยิ่งกว่านั้นผู้พิพากษาศาลฎีกายังอาจถูกถอดถอนโดยรัฐสภาซึ่งถือว่าเป็นผู้รับมอบอำนาจอธิปไตยมาจากประชาชนโดยตรง (http://bit.ly/2ckYhDa)

            อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศใหญ่มีระบบศาลฎีกาที่มีการแต่งตั้งโดยระบบสถาบันของตนเอง (Supreme Court of India's collegium system) แต่ก็มีความพยายามตั้งคณะกรรมการสรรหาข้าราชการตุลาการซึ่งยังไม่สำเร็จ ผู้ว่าการรัฐก็มีส่วนร่วมพิจารณาแต่งตั้งผู้พิพากษาในแต่ละรัฐด้วย (http://bit.ly/2csYwN1) และที่น่าสนใจยิ่งก็คือ การมีศาลหมู่บ้านหรือศาลประชาชนที่ประกอบด้วยผู้พิพากษา นักกฎหมายและนักสังคมสงเคราะห์ (http://bit.ly/2ciV2ZQ)

            ตะวันออกกลาง ลองหันมาดูประเทศมุสลิมบ้าง ในกรณีอิหร่านอำนาจในการแต่งตั้งขึ้นอยู่กับผู้นำทางศาสนา (Faqih) (http://bit.ly/2cKK8NW) ในซาอุดิอารเบียก็ขึ้นอยู่กับกษัตริย์ (http://bit.ly/2ce65oP) ส่วนอียิปต์ซึ่งใช้ทั้งหลักกฎหมายอิสลามและยุโรป ก็ให้ประธานาธิบดีเป็นคนแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลฎีกา (http://bit.ly/2cKL5FT) ในทั้ง 3 ประเทศมุสลิมนี้ ต่างก็ให้ฝ่ายบริหารซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการแต่งตั้ง จะเห็นได้ชัดเจนว่าอำนาจฝ่ายบริหารเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนประเทศ ไม่ใช่อำนาจตุลาการ

            รัสเซีย มาดูประเทศสังคมนิยมบ้าง ผู้พิพากษาศาลฎีกาของรัสเซียมีจำนวนมากถึง 115 คน มาจากการเสนอชื่อของประธานาธิบดี (ที่มาจากการเลือกตั้ง) เพื่อให้วุฒิสภา (ที่มาจากการเลือกตั้ง) เป็นผู้อนุมัติ (http://bit.ly/2cMVLIi) นี่ก็เป็นการให้ฝ่ายบริหารเป็นผู้แต่งตั้งฝ่ายตุลาการ ศาลในระดับล่างๆ ลงมาก็แต่งตั้งโดยประธานาธิบดีหรือผู้บริหารแต่ละท้องที่ ในบางกรณียังมีการเลือกตั้งผู้พิพากษาศาลแขวงอีกด้วย

            อังกฤษ ต้นตำรับประชาธิปไตย คณะกรรมการสรรหา สรรหาผู้พิพากษาศาลฎีกา และนำเสนอต่อ Lord Chanceller (รัฐมนตรียุติธรรมในอังกฤษที่มีหน้าที่เป็นอธิบดีศาลสูงสุดและเป็นประธานสภาขุนนาง) โดยรัฐมนตรีอาจอนุมัติ ไม่อนุมัติ หรือสั่งให้ไปสรรหาใหม่ และนายกฯ จะเป็นผู้นำชื่อผู้ได้รับเลือกทูลเกล้าให้พระราชินีอังกฤษลงพระปรมาภิไธย (http://bit.ly/2cKSx3U)

            สหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีที่ประชาชนเลือกเป็นผู้ตั้งองค์คณะในศาลฎีกา โดยความเห็นชอบของวุฒิสภา ซึ่งมีอยู่ 9 คนซึ่งจะอยู่จนตาย โดยในขณะนี้ มีอยู่ 5 คนที่ตั้งโดยนายจอร์จ บุช ที่ตั้งโดยนายโอบามามีเพียง 4 คน ปกติผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อุทธรณ์ ฎีกายังต้องมาจากการเลือกตั้ง และไม่ได้มีการกำหนดคุณสมบัติว่าต้องจบกฎหมาย (แต่ผู้สมัครทุกคนก็จบกฎหมาย) ทั้งนี้ยกเว้นศาลปกครอง การเลือกตั้งทำให้ได้ผู้พิพากษาที่รู้เรื่องในท้องถิ่น เข้าใจภูมิปัญญาท้องถิ่นดีกว่าส่งผู้พิพากษาจากส่วนกลางที่ไม่ยึดโยงประชาชน (http://bit.ly/2c8Dksc)

            จะเห็นได้ว่าในประเทศทั่วโลกไม่ว่าระบอบไหน ภูมิภาคไหน ก็ล้วนแต่ให้อำนาจฝ่ายบริหารเข้มแข็งเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ไม่ใช่บ่อนทำลายฝ่ายบริหาร เพราะมีอำนาจที่มองไม่เห็น (พรรคข้าราชการ) คอยจะเป็นใหญ่แทนประชาชน ในสากลโลกข้าราชการประจำมีไว้เพื่อเป็น "มือไม้" ให้กับข้าราชการการเมือง ประเทศประชาธิปไตยที่แท้ เขาถือว่ายิ่งเลือกตั้งมากทุกระดับ ยิ่งได้คนที่ต้องใจประชาชน ไม่ได้มาสร้างภาพกล่าวหานักการเมืองว่าเลวสารพัด เพื่อตัวเองจะได้ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แม้แต่ผู้พิพากษายังต้องมาจากการเลือกตั้ง และสามารถถูกถอดถอนได้โดยตัวแทนของประชาชน

            เห็นหรือยัง ประชาธิปไตยที่แท้ที่ไม่ใช่แบบ "กะลาแลนด์" เป็นเยี่ยงนี้เอง แต่หัวหน้าเผ่า "กะลาแลนด์" กลับเที่ยวชี้หน้าว่าชาติอื่นไม่เป็นประชาธิปไตยเท่าตนเอง เอวัง

อ่าน 7,226 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved