เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ยังมีบ้านซึ่งได้แก่บ้านแนวราบและห้องชุดพักอาศัย กำลังก่อสร้างอยู่และจะแล้วเสร็จหลังปี 2559 คือในปี 2560-2562 ถึง 238,591 หน่วย นี่แปลว่าตลาดค่อนข้างเปราะบาง หากเกิดอะไรขึ้นมา อาจทำให้ผู้บริโภคและผู้ผลิตพังได้
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ได้เปิดเผยผลการสำรวจสำคัญ ณ กลางปี 2559 ว่า ในจำนวนที่อยู่อาศัยทุกประเภทที่สำรวจนั้น มีอยู่รวมกัน 500,696 หน่วย แต่ส่วนมากสร้างมาก่อนปี 2559 และรวมถึงที่จะเสร็จสิ้นในปี 2559 อยู่ 262,105 หน่วย หรือราว 52% ของทั้งหมด ที่จะเสร็จหลังจากนั้นยังมีอีกถึง 238,591 หน่วย โดยที่อยู่อาศัยที่ยังสร้างไม่เสร็จในปี 2559 นี้ ส่วนมากยังรอคนซื้ออยู่
บ้าน (แนวราบและห้องชุด) ที่คาดว่าจะเสร็จในปี 2561 และ 2562 นั้นมี 85,886 หน่วย และ 36,398 หน่วย หรือรวมกันถึง 122,284 หน่วย บ้านเหล่านี้คงยังสร้างไม่ได้เท่าไหร่ เพราะที่สร้างเสร็จหรือใกล้เสร็จในปี 2559 และที่คาดว่าจะเสร็จในปี 2560 ยังถือว่ามีสัดส่วนที่สร้างไปแล้วมากเป็นพิเศษ หากเกิดวิกฤติใด ๆ ขึ้น ก็ยังอาจพยายามก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามแผนได้ แต่จำนวน 122,284 หน่วยนี้ คงยังห่างไกลจากการสร้างเสร็จสมบูรณ์เป็นแน่ และหากเกิดความเสียหายขึ้น ก็คงเป็นเงินประมาณ 366,852 ล้านบาท หรือราว 13% ของงบประมาณแผ่นดินไทย ทั้งนี้โดยสมมติว่าหน่วยหนึ่งๆ มีมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 3 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ดร.โสภณ เชื่อว่าวิกฤติที่จะเกิดขึ้น คงยังไม่มาถึง แต่ถึงกระนั้น ทางราชการ ผู้ประกอบการ สถาบันการเงิน คงต้องตรวจสอบความคืบหน้าในการก่อสร้างโดยใกล้ชิด และมีการเบิกค่าก่อสร้างกันตามงวดงานก่อสร้างโดยเคร่งครัด นอกจากนี้การประกันความเสี่ยงในการดำเนินการ การแก้กฎหมายให้มีการบังคับการประกันเงินดาวน์ของลูกค้าผู้ซื้อบ้านอย่างถ้วนหน้า จึงเป็นมาตรการในการคุ้มครองวงการพัฒนาที่อยู่อาศัย และทำให้ผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยได้รับความเชื่อถือมากขึ้น ทำให้ได้รับประโยชน์จากการนี้มากขึ้น
หากดูในรายละเอียดของฐานข้อมูลของศูนย์ฯ จะพบว่าห้องชุดยังมีที่ต้องสร้างให้เสร็จในปี 2560-2562 ถึง 100,574 หน่วยก็จริง แต่ที่สร้างเสร็จแล้วภายในปี 2559 ยังมีสูงถึง 58% ของทั้งหมด แสดงว่าภาวะยังไม่น่าเป็นห่วงนัก ที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือทาวน์เฮาส์ เพราะสัดส่วนที่สร้างเสร็จก่อนปี 2560 หรือภายในปี 2559 มีเพียง 44% ส่วนมากยังไม่เสร็จ ต้องรอต่อไปถึงปี 2560-62 จึงถือได้ว่ามีความเปราะบางมากเป็นพิเศษ นอกจากนี้บ้านแฝดก็อยู่ภาวะเดียวกัน แต่ที่น่าแปลกก็คือบ้านเดี่ยวเสร็จแล้ว 50% ที่เหลือกำลังรอการก่อสร้างอยู่
โดยสรุปแล้ว วิกฤติเศรษฐกิจแบบปี 2540 คงไม่เกิดขึ้น แต่หากผู้ประกอบการเฉพาะรายใด เกิดสะดุดขึ้น ก็อาจทำให้เกิดปัญหาต่อทั้งตนเองและผู้บริโภคได้ รัฐบาล สถาบันการเงินและสมาคมพัฒนาที่ดินจึงควรติดตามสถานการณ์โดยใกล้ชิด