AREA แถลงฉบับนี้ เป็นความเห็นส่วนตัวของ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ต่อการบิดเบือนประวัติศาสตร์ มาเพียงเพื่อหวังให้คนกลุ่มหนึ่งครอบครองที่ดินของส่วนรวมไปเพื่อส่วนตัวอย่างไม่ละอาย
24 กันยายน 2559
เรื่อง ขอให้หยุดบิดเบือนประวัติศาสตร์เพื่อกฎหมู่ที่ป้อมมหากาฬ
เรียน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน และท่านสุจิตต์ วงษ์เทศ
ตามที่หนังสือพิมพ์ของท่านมักเสนอข่าวเอนเอียงเข้าข้างคนกลุ่มหนึ่งที่ครอบครองที่ดินของส่วนรวมไปใช้สอยส่วนตัวที่ป้อมมหากาฬ กระผมเห็นว่าท่านในฐานะบรรณาธิการและผู้ทรงคุณวุฒิควรทบทวนบทบาทให้เป็นสื่อมวลชนที่ดี
เสนอข่าวเท็จเรื่องบ้าน ดร.ป๋วย
เมื่อวันเสาร์ที่ 10 กันยายน 2559 มติชนได้ลงข่าวว่า ‘ป้อมมหากาฬไม่โดดเดี่ยว’ คนแห่คล้องแขนหนุนสู้ต่อ ชาวบ้านลั่น ถอยไม่ได้อีกแล้ว" (http://bit.ly/2cugvE9) เป็นการหนุนคนทำผิดกฎหมายเหล่านี้อย่างชัดเจน และไม่พบการลงข่าวในแง่มุมตรงข้ามบ้าง ทางกองบรรณาธิการพึงตรวจสอบจรยาบรรณของนักข่าวที่ทำข่าวและเสนอข่าวด้านเดียวหรือไม่ และที่ผ่านมา มติชนก็นำเสนอข่าวด้านเดียวเช่นนี้หลายครั้ง
วาทกรรมโกหกลวงโลกยังปรากฏในมติชน หวังให้ประชาชนไขว้เขว ให้เห็นใจผู้ทำผิดกฎหมายที่ไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่ ทั้งที่ที่ดินได้โอนให้ กทม. แล้ว เช่น “. . . บ้านหลังนี้สร้างตั้งแต่ปลายสมัย ร.5 เป็นบ้านของตระกูลอึ๊งภากรณ์ โดยป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยอยู่ 2 ปี แล้วย้ายออกไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2” (มติชน 28 ส.ค.59 16:36 http://bit.ly/2bXJnzB) เป็นต้น
ในความเป็นจริง เมื่อปี 2548 หรือ 11 ปีที่แล้ว "ทายาท "อึ๊งภากรณ์" โวย บ้านในป้อมมหากาฬไม่เกี่ยวข้อง ดร.ป๋วย" โดย "ผู้แทนนางอุไรวัลย์ อึ๊งภากรณ์ เจ้าของบ้านเลขที่ 99 ชุมชนป้อมมหากาฬ แสดงความสงสัยถึงกรณีที่มีการติดป้ายหน้าบ้านหลังดังกล่าวว่าเป็นบ้าน ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พร้อมชี้แจงว่า บ้านหลังนี้เป็นบ้านของญาติทางฝ่ายแม่ ส่วน ดร.ป๋วย เป็นญาติทางฝั่งพ่อ ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับบ้านหลังนี้
ยิ่งกว่านั้น "ส่วนเรื่องของมีค่าไม่ว่าจะเป็นลวดลายต่างๆ ที่ตกแต่งบนตัวบ้านนั้น ก็ถูกแกะขายไปหมดแล้ว และคนที่อยู่ที่นั่นในตอนนี้ก็เป็นคนที่ย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ ไม่ใช่คนเก่า. . . กล่าวพร้อมระบุว่า ทางเจ้าของบ้านยินยอมให้ทาง กทม. รื้อถอนไปแล้วแต่ผู้อยู่อาศัยยังไม่ยอมไป โดยส่วนตัวก็ไม่อยากเข้าไปยุ่ง จึงขอมอบให้เป็นหน้าที่ของ กทม." (http://bit.ly/2c736Sm)
ในความเป็นจริง นางอุไรวัลย์ อึ๊งภากรณ์ ท่านเป็นสะใภ้ และได้รับมรดกจากนางจิบ บุรกิจ บ้านนี้จึงไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับตระกูล “อึ๊งภากรณ์” ตามที่มีผู้พยายามอ้าง และนางอุไรวัลย์ยังพยายามจะรื้อหลังจากได้รับเงินชดเชยจาก กทม. แล้ว แต่ชาวบ้านไม่ยอมให้เขารื้อบ้านของตนเอง เดือดร้อนจนต้องมาให้ กทม. รื้อถอนแทน โปรดดูเล่ห์กลที่น่าละอายของคนที่เรียกร้องไม่ยอมย้ายออกไป
กระผมเห็นว่ามติชนไม่ควรเสนอข่าวของกลุ่มชนที่ใช้ความเท็จเข้าสู้เพื่อประโยชน์ส่วนตน จริงๆ มีเพียง 16 ครัวเรือนที่ไม่ยอมย้าย นอกนั้นเป็นคนนอกที่ถูกปลุกปั่น โปรดคิดใหม่เสียบ้างว่าตนได้อยู่อาศัยฟรีๆ มานานแสนนานแล้ว เลิกเอาเปรียบสังคมได้แล้ว คืนสมบัติของแผ่นดินให้แก่ประชาชนไทยใช้ร่วมกันโดยรวมเถอะ ท่านบรรณาธิการของมติชนควรตรวจสอบการทำงานของนักข่าวในด้านจรรยาบรรณการนำเสนอข่าวบ้าง จะได้ไม่ร่วมทำร้ายสังคม ไม่ส่งเสริมการปล้นชิงสมบัติของประชาชนโดยรวม
บิดเบือนประวัติศาสตร์เรื่องวิกลิเก
1. ภาพถ่ายที่ถูกตีความบิดเบือน ท่านสุจิตต์ วงศ์เทศได้เขียนไว้ในมติชนว่า "ชุมชนป้อมมหากาฬจะมีได้อย่างไร เพราะมันเป็นชื่อใหม่ที่เพิ่งเรียกกันภายหลัง แต่เดิมนั้น รู้จักกันในชื่อ “ตรอกพระยาเพชร” เพราะเป็นที่ตั้งของวิกลิเกแห่งแรกในกรุงเทพฯ ยุครัชกาลที่ 5 ของพระยาเพชรปาณี" (http://bit.ly/2cxvE5B) นอกจากนี้ในมติชน 22 กันยายน 2559 ยังเขียนว่า "'ป้อมมหากาฬ' ฟื้นวิกพระยาเพชรปาณี ยุค ร.5 “บุญสืบ” ลิเกดังอาสาโชว์อาทิตย์ 25 ก.ย.นี้" (http://bit.ly/2cVO9jb) ซึ่งสาระที่มติชนเสนอนี้เป็นเท็จหรือไม่ ขอท่านบรรณาธิการโปรดพิจารณา
รูปภาพลิเกพระยาเพชรปาณี แต่โปรดสังเกต ภาพเขียนว่าวัดสระเกศ ไม่ใช่วัดราชนัดดา
ที่มาของภาพ: http://www.matichon.co.th/news/112239
ตามภาพข้างต้น มีการอ้างอิงว่าถ่ายในที่ตั้งด้านหลังของป้อมมหากาฬ แต่ในความเป็นจริงตามคำบรรยายของเจ้าของลิขสิทธิ์ (San Diego Museum of Man) ระบุว่าถ่ายที่งานวัดสระเกศ (http://bit.ly/2dhaJ9E) ในภาพก็เขียนไว้ชัดเจนว่าวัดสระเกศ ถ้าวิกลิเกนี้อยู่หลังป้อมมหากาฬจริง ก็น่าจะเขียนว่าวัดราชนัดดา ซึ่งสร้างในปี 2389 (http://bit.ly/2dnR5Yq) ก่อนจะมีวิกลิเกพระยาเพชรปาณีในบริเวณนี้ถึง 51 ปี การที่วิกลิเกอยู่วัดสระเกศ แสดงว่าการแสดงก็ย้ายไปตามที่ต่าง ๆ ไม่ใช่ต้องปักหลักลงที่ใดที่หนึ่งที่เดียว
2. ประวัติลิเกมีมาก่อนแล้ว ลิเกมีตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาหรือต้นรัตนโกสินทร์ ไม่ใช่เพิ่งมีในสมัยรัชกาลที่ 5 (http://bit.ly/2dgB7vE) สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเขียนว่า "อาจจะเป็นพระยาเพชรปาณี (ตรี) คิดตั้งโรงลิเกเก็บค่าดูและเล่นเป็น “วิก” ตามแบบละครเจ้าพระยามหินทรที่มีวิกละครอยู่ที่ท่าเตียน. . ." (http://bit.ly/2dbiTjj) พระองค์ก็ไม่ได้ระบุแน่ชัดเพราะในยุคนั้นมีอยู่หลายวิกนั่นเอง
3. วิกลิเกพระยาเพชรปาณีแห่งแรกไม่ได้อยู่ที่ป้อมพระกาฬ นายศักดิ์ชัย บุญมา ผู้อำนวยการกองจัดกรรมสิทธิ์ สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ก็ยืนยันว่า คณะลิเกวิกนี้ แต่เดิมอยู่ที่บ้านหม้อ แต่เนื่องจากมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง และถูกศาลสั่งปรับ จึงได้ย้ายมาตั้งอยู่ที่ดินของวัดราชนัดดา (http://bit.ly/2crHISJ) ซึ่งไม่ใช่เป็นที่ตั้งของชุมชนในปัจจุบัน ดังนั้นจึงอย่าได้นำมาอ้างเพื่อประโยชน์ของกลุ่มกฎหมู่
4. ชาวชุมชนยังไม่รักษาวิกลิเก ความจริงที่น่าอนาถปนสมเพชประการหนึ่งก็คือบริเวณที่ถูกระบุว่าเป็นที่ตั้งของวิกลิเกพระยาเพชรปาณีในอดีตนั้น ไม่ได้มีการพิสูจน์ได้แน่ชัด แต่ที่เห็นเด่นชัดก็คือขณะนี้มีบ้านเลขที่ 127 ตั้งอยู่ เจ้าของเดิมได้รับค่าเวนคืนจากกรุงเทพมหานครและย้ายออกไปแล้ว (http://bit.ly/2d5ler9) การนี้แสดงว่าแม้แต่คนในชุมชนก็ยังไม่ได้มีการรักษา "มรดก" ดังกล่าว (ถ้ามีจริง) แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ไม่เคยมีโฉนดที่ดินฉบับใดในที่นี้ระบุว่าเป็นของพระยาเพชรปาณี
การที่มติชนโดยท่านสุจิตต์ กล่าวอ้างถึงวิกลิเกผิด ๆ ข้างต้น จึงควรแก้ไข เพื่อความน่าเชื่อถือของหนังสือพิมพ์ของท่านเอง
สิ่งที่มติชนพึงทราบก็คือ ในชุมชนนี้มีคนสร้างบ้านใหม่ๆ หลายหลัง ไม่ใช่บ้านเดิม การบุกรุกก่อสร้างอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่ ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การขัดขวางไม่ให้พัฒนาพื้นที่นี้เป็นสวนสาธารณะ เท่ากับสังคมต้องสูญเสียเป็นเงินปีละ 19 ล้านบาท กฏหมู่เหล่านี้เคยขอยื้ออยู่ต่อมาตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อ-แม่ (http://bit.ly/2cEJG31) โดยอ้างว่าขอให้ลูก ๆ โตก่อน จึงค่อยย้าย บัดนี้พอลูก ๆ โตขึ้นและตัวเองเสียชีวิตไปแล้ว ก็ไม่ยอมย้ายอีก หากให้กฏหมู่เหล่านี้ยื้ออยู่ต่อไปอีก 10 ปี ก็เท่ากับสังคมสูญเสียโอกาสไปอีก 144 ล้านบาท โดยการทำลายของคนไม่กี่คนเท่านั้น (http://bit.ly/2cxNCok)
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถือ
(ดร.โสภณ พรโชคชัย)