มาดูตลาดที่อยู่อาศัยในอังกฤษบ้าง เผื่อใครจะไปซื้อ แต่อย่าลืมกับดักภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นต้นทุนที่ไทยไม่มี!
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) กล่าวว่าจากข้อมูลสำนักงานสถิติ สหราชอาณาจักรล่าสุด ณ เดือนกรกฎาคม 2559 พบว่า ราคาที่อยู่อาศัยในอังกฤษ โดยเฉลี่ยเป็นเงิน 216,750 ปอนด์ หรือ 9.754 ล้านบาทต่อหน่วย (แพงกว่าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีราคาเฉลี่ยประมาณ 3 ล้านบาทต่อหน่วย) ทั้งนี้ราคาเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 8.3% ในขณะที่ราคาเพิ่มขึ้นต่อเดือนในเดือนล่าสุด (กรกฎาคม) สูงประมาณ 0.4%
จะเห็นได้ว่าราคาบ้านประเภทบ้านเดี่ยวมีราคาสูงกว่าค่าเฉลี่ย 50% ส่วนบ้านแฝดจะต่ำกว่า 6% ทาวน์เฮาส์ต่ำกว่า 19%และห้องชุดต่ำกว่า 10% สำหรับราคาบ้านในกรุงลอนดอน เฉลี่ยเป็นเงิน 484,716 ปอนด์ หรือ 21.812 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 1% และตลอดปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 12.3% นับว่าเป็นพื้นที่ ๆ ได้รับความนิยมสูงสุดของประเทศ ส่วนที่อยู่อาศัยที่มีราคาสูง
อย่างไรก็ตามในอังกฤษ ชาวต่างประเทศผู้ถือครองอสังหาริมทรัพย์ต้องเสียภาษีสูงมาก (http://bit.ly/1SX6Ser และดูที่ www.gov.uk/browse/tax) ได้แก่:
1. ภาษีจากการให้เช่าทรัพย์สินอาจสูงถึง 40% ของรายได้ต่อปี
2. ภาษีจากกำไรในการลงทุน (Capital Gains Tax) เช่น ซื้อมา 10 ล้านขายต่อ 15 ล้านบาท เงิน 5 ล้านที่กำไรต้องเสียภาษี โดยต้องเสียประมาณ 10-40% ของกำไรอีกต่างหาก
3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยมีอัตราสูงถึง 17.5% (ยกเว้นในกรณีเสียภาษีจากการให้เช่าแล้ว)
4. ภาษีมรดกจะเสียสำหรับทรัพย์สินที่มีค่าตั้งแต่ประมาณ 30 ล้านบาท โดยมีอัตราเพดานประมาณ 40% ของมูลค่า
5. ค่าธรรมเนียมโอน เสียประมาณ 1-3% ของมูลค่าทรัพย์สิน ยิ่งมีมูลค่าสูง ยิ่งต้องเสียมาก
6. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโดยแยกเสียตามชั้นของราคาของอสังหาริมทรัพย์ โดยปกติแล้วเสียประมาณ 1.5% ของมูลค่าทรัพย์สินในแต่ละปี
ดังนั้นในแง่หนึ่งเราต้องวางแผนภาษีให้ดีก่อนที่จะไปซื้อทรัพย์สินในกรุงลอนดอน ซึ่งในบางช่วงก็มีราคาตกต่ำอย่างหนักเช่นกัน (แม้บางช่วงจะเพิ่มขึ้นสูงมาก) ในอีกแง่หนึ่งหากรัฐบาลประยุทธ์ต้องการจะให้ต่างชาติมาซื้อหรือเช่าทรัพย์สินในประเทศไทย ก็ควรมีการจัดเก็บภาษีให้จงหนักเช่นในอังกฤษหรือประเทศตะวันตกอื่น ๆ อย่างไรก็ตามในประเทศไทย ผู้มีอำนาจอาจไม่ต้องการเสียภาษี ดังนั้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและภาษีอื่นๆ ข้างต้นจึงแทบไม่เกิดขึ้น ผู้มีอำนาจเหล่านี้คงไม่ใช่นักการเมืองเสียแล้ว เพราะตอนนี้ไม่มีนักการเมืองมาเกือบ 2 ปีเศษแล้ว ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะมีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2560 ตามที่ประกาศไว้จริงหรือไม่
ศึกษาให้ถ้วนถี่ก่อนลงทุนซื้อบ้านในอังกฤษ เพราะเคยมีคนเสียใจมาแล้ว!!!