ดร.โสภณ พรโชคชัย: คำกล่าวรำลึกวีรชน 6 ตุลาคม 2519
  AREA แถลง ฉบับที่ 390/2559: วันพฤหัสบดีที่ 06 ตุลาคม 2559

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            เนื่องในวันครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ได้รับเชิญจากคณะกรรมการจัดงานรำลึกวีรชน 6 ตุลา ให้กล่าวรำลึกในนามของชมรมโดมรวมใจ ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาที่ทำกิจกรรมในช่วงปี 2519 ต่อไปนี้เป็นคำกล่าวไว้อาลัยดังกล่าว

            ดร.โสภณ ได้เป็นผู้แทนของชมรมโดมรวมใจกล่าวรำลึกวีรชน 6 ตุลาคม 2519 จนถึงครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว และในครั้งนี้ยังได้บริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการจัดงานเป็นเงิน 100,000 บาทด้วย ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ดร.โสภณ ยังเป็นนักศึกษาปี 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วง 2 วันก่อนเกิดเหตุการณ์ ยังไปนั่งเฝ้าอยู่หน้าค่ายทหารเพื่อดูว่าจะมีรถถังขับออกมาทำรัฐประหารหรือไม่ เพื่อแจ้งข่าวแก่เพื่อนนักศึกษาที่ชุมนุมอยู่ที่ธรรมศาสตร์

            จนค่ำวันที่ 5 ตุลาคม 2519 ดร.โสภณ จึงได้กลับบ้าน แต่พอได้ข่าวนักศึกษาถูกล้อมปราบ ก็รีบไปธรรมศาสตร์ แต่คุณพ่อไม่ยอม จึงเดินทางไปด้วยกัน และเดินจนเกือบถึงธรรมศาสตร์แล้ว ก็ปรากฏว่ามีการยิงนักศึกษาอย่างรุนแรง ดร.โสภณ กับคุณพ่อจึงหนีลงทางแม่น้ำที่ท่ามหาราช มีเพื่อนนักศึกษาชวนให้นั่งเรือข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แต่โดยที่เห็นว่าเรือมีคนมากแล้ว จึงเปลี่ยนใจ จึงทำให้รอดพ้นจากการที่เรือจมกลางแม่น้ำ

            ดร.โสภณ กับคุณพ่อจึงลุยน้ำตามริมตลิ่งไปถึงท่าช้าง ได้ขึ้นไปหลบภัยที่บ้านชาวบ้าน โดยคุณพ่อโกหกว่าพาลูกชายคือไปหาหมอที่โรงพยาบาลศิริราช ตลอดเวลาช่วงนั้นก็มีเสียงปืนดังไม่ขาดสาย และปรากฏว่าชาวบ้านคนหนึ่งในชุมชนนั้นถูกยิงเสียชีวิตเพราะออกไปดูเหตุการณ์ไล่ฆ่านักศึกษาประชาชน พอเหตุการณ์สงบราว 12:00 น. ดร.โสภณและคุณพ่อ ก็เปลี่ยนเสื้อผ้าที่ชาวบ้านมอบให้ เดินออกมาจากบริเวณนั้นและขึ้นรถกลับบ้าน หลังจากนั้นคุณพ่อของ ดร.โสภณ ยังไปขอบคุณชาวบ้านที่ให้ความเมตตาพร้อมกับนำของขวัญไปฝากและนำเสื้อผ้าไปคืนด้วย

คำกล่าวรำลึกวีรชน 6 ตุลาคม 2519 โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย

กราบเรียน ผู้ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยทุกท่าน

            กระผมรู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้กล่าวคำรำลึกวีรชน 6 ตุลาคม 2519 ในวันนี้ ซึ่งเป็นครั้งที่ 3 แล้วในนามชมรมโดมรวมใจของเหล่านักศึกษาที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยเมื่อ 40 ปีก่อน

            บางคนบอกว่าเหตุการณ์นี้อธิบายได้ยาก หลักฐานไม่มี ถูกแขวนคอกี่คนก็ยังไม่รู้ จริงๆ หาไม่ยากหรอกครับ แต่เพียงเพราะระบอบเผด็จการทรราชยังอยู่ จึงไม่อาจสืบค้นได้เท่านั้น  ระบอบนี้ยังส่งให้นายร้อยตรีเมื่อ 40 ปีก่อนกลายมาเป็นหัวหน้ารัฐประหารได้

            ทุกคนยังคงจำได้ว่าเมื่อวันที่ 6 ตุลา 2519 นั้น เราชุมนุมกันเพื่อไล่ทรราชคนหนึ่งให้ออกนอกประเทศ แต่ก็ถูกใส่ร้ายป้ายสีโดยทรราชอีกกลุ่มหนึ่งว่าดูหมิ่นเบื้องสูง และภายใน 24 ชั่วโมงของการลงข่าวเท็จ นักศึกษาประชาชนก็ถูกฆ่าตายไป 46 คน บาดเจ็บอีกนับร้อย นี่คือการทำลายขบวนนักศึกษาที่มีเกียรติภูมิสูงเด่นมาตั้งแต่หลัง 14 ตุลาคม 2516

            ถ้าผมเป็นนักประวัติศาสตร์ ผมคงไม่เพียงบอกว่า "ไม่เร็วที่จะชนะ" แต่ผมจะให้ความมั่นใจว่าประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์มาแล้วทั่วโลกว่าทรราชถูกประชาชนโค่นล้มลงทั้งสิ้น และหลังจากนั้นประชาชนก็หน้าใสขึ้น ผมจะชี้ให้เห็นว่าระบอบเผด็จการทรราชเป็นเพียงปราสาททราย เจอนักการเมืองที่ทำเพื่อประชาชนจริงๆ แค่ไม่กี่ปี พวกมันก็แทบล้มครืน ส่วนสมุนที่ดูซื่อสัตย์ก็เป็นแค่สนิมเหล็กที่คอยกัดกินเนื้อเหล็กเอง และจะหนีหัวซุกหัวซุน ยามทรราชมลาย

            ถ้าผมเป็นนักรัฐศาสตร์ ผมจะชี้ให้เห็นว่าหนทางการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยที่แท้จริงก็คือ การทำให้ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งด้วยการเลือกคนมาบริหารกันเอง เพิ่มอำนาจท้องถิ่นและลดอำนาจของราชการส่วนกลางที่ส่งคนไปควบคุมประชาชนในภูมิภาค ทุกวันนี้ราชการส่วนท้องถิ่นมีคนทำงานเพียง 22% และนี่เองที่การที่ถนนในชนบทเป็นหลุมเป็นบ่อจนมีภาพไปอาบน้ำนั้น ก็เพราะท้องถิ่นไม่มีเงิน ในขณะที่ส่วนกลางใช้เงินฟุ่มเฟือย แค่บินไปต่างประเทศครั้งเดียวก็ใช้เงินถึง 21 ล้านเข้าไปแล้ว

            ถ้าผมเป็นนักสื่อสารมวลชน ผมจะชี้ให้เห็นว่า เพราะสื่อถูกควบคุมไว้ทั้งหมด พวกมันจึงสามารถใช้ใส่ร้ายป้ายสีและเข่นฆ่าวีรชน 6 ตุลา และล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ถ้าประชาชนทุกภาคส่วนมีสื่อ สื่อมีอิสระจริง การครอบงำโดยพวกชนชั้นนำ ย่อมทำไม่ได้

            ถ้าผมเป็นนักคิดนักเขียนที่มีกึ๋นจริง ผมจะบอกว่าอย่าได้วิตกกับการที่ประชาชนถูกมอมเมาทางความคิดมาเนิ่นนาน ชาติอื่นที่ล้าหลังกว่าเรายังทำสำเร็จมาแล้ว บางคนทดท้อว่าเหตุการณ์ 14 ตุลา ไม่ใช่ชัยชนะของประชาชน แต่เป็นเพราะทรราชอีกกลุ่มแอบช่วย แต่ความจริงก็คือถ้าไม่มีประชาชน พวกมันก็ทำไม่สำเร็จอย่างแน่นอน

            ในวันนี้เมื่อ 40 ปีก่อน ถ้าผมในฐานะลูกชาวคนโต ตายไปเหมือนเพื่อนหลายคน ครอบครัวคงเศร้าหนักและขาดที่พึ่ง พวกเราที่รอดมาจนถึงวันนี้จึงถือว่าได้กำไรชีวิตแล้ว มาช่วยกันสร้างสรรค์ประชาธิปไตย ต่อสู้กับระบอบเผด็จการทรราชที่ขูดรีดประชาชน อย่าได้สยบยอมต่อลาภยศสักการะที่เผด็จการทรราชประเคนให้ พึงละอายใจที่จะรับของโจรเหล่านี้ วันนี้แม้ผมจะสามารถบริจาคเงิน 100,000 บาทเพื่อช่วยจัดงานนี้ แม้ผมจะมีรายได้พอสมควร แต่ก็ยังน้อยกว่าคนที่เป็นทาสบำเรอกามของผู้มีอำนาจ ที่ทำกินได้มากกว่า 40 ล้านใน 1 ปี เงินเหล่านี้ล้วนปล้นมาจากภาษีของประชาชนทั้งสิ้น

            ผมขอจบคำกล่าวสดุดีด้วยเพลง เพลง เทิดวีรกรรม 6 ตุลา ของคุณรวี โดมพระจันทร์ (ยุทธพงศ์ ภูริสัมบรรณ) ดังนี้:

            6 ตุลา วันมหา ประชาหาญ            ลุกขึ้นต้าน ฟาสซิสต์ ไพรี

เราจะเดินหน้าบุก เราจะรุกโจมตี                  ถมชีวี ปูทาง สร้างทางยุคใหม่

อาวุธปืน ปฏิกิ-ริยานั่น                             ไม่อาจกดขวัญ ผองเรา ลงได้

มีแต่เรา กดขวัญ มันให้แหลกไป                 บุกหน้าคว้าชัย ให้ปรากฏเป็นจริง

ศัตรูมัน ใกล้วันตาย ยิ่งดิ้นรน                     ฆ่ามวลชน ตีแขวน เผายิง

รวมพลังต่อสู้ ตีศัตรูตัวจริง                        ระดมยิง ปราการ มันให้ทลาย

คงหยัดยืน อยู่คู่ฟ้า และคู่ถิ่น                      สู้พวกทมิฬ จนสิ้นมลาย

วีรชน 6 ตุลาพลี ชีพท้าทาย                      สู้พวกฟาสซิสต์ โหดร้าย อย่างอาจอง

            เผด็จการทรราชจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ


โปรดฟังเพลงเทิดวีรกรรม 6 ตุลาได้ที่นี่:
  http://bit.ly/2cTkqu3

อ่าน 3,082 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved