"ถอนหงอก" "สุจิตต์ วงศ์เทศ" เรื่องวิกลิเกป้อมมหากาฬ
  AREA แถลง ฉบับที่ 411/2559: วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม 2559

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ฟังให้ชัด ๆ "สุจิตต์ วงศ์เทศ เอ๊ย ลิเกพระยาเพชรปาณีไหนเลยจะสู้ละครเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง"  เห็น "สุจิตต์ วงศ์เทศ" เชียร์เหลือเกินว่ามีวิกลิเกพระยาเพชรปาณีที่แถว "กฎหมู่" ป้อมมหากาฬ แต่แท้จริงเป็นเรื่องพกลมหรือไม่ ดร.โสภณ จึงหาญสู้ "นักประวัติศาสตร์" เยี่ยงนายสุจิตต์ ด้วยการเสนอ "เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง" เข้าขย่ม!!!

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) กล่าวว่า ถ้าเราพิมพ์คำว่า "พระยาเพชรปาณี" ใน google จะมีตรอกชื่อนี้ปรากฏในแผนที่ อาจทำให้คนเข้าใจผิดได้ว่า มีโรงลิเกตั้งถาวรอยู่ในบริเวณนั้น  แต่ความจริงคือ

            1. ไม่เคยมีโฉนดที่ดินฉบับใดในตรอกนี้เป็นของพระยาเพชรปาณี

            2. วิกในสมัยก่อนล้อมผ้า ไม่ได้ก่อสร้างถาวรเป็นโรงหรือเป็นสิ่งก่อสร้าง

            3. ภาพถ่ายเกี่ยวกับโรงลิเกนี้ ก็ระบุชัดว่าไปตั้งที่วัดสระเกศ ซึ่งคงไปล้อมผ้าไว้ แบบไม่ถาวรนั่นเอง

            4. วิกแห่งแรกของพระยาเพชรปาณี อยู่ที่บ้านหม้อ ไม่ได้อยู่ที่ป้อมมหากาฬ แต่ต่อมาย้ายมาเปิดเล่นที่ป้อมมหากาฬ เนื่องจากมีคดีความกับที่เดิม (http://bit.ly/2cHoAAQ)

            5. บริเวณที่อ้างว่ามีวิกลิเกอยู่ ก็มีบ้านหลังหนึ่งสร้างทับมานับสิบ ๆ ปีแล้ว แสดงว่าไม่มีใครเห็นความสำคัญของวิกนี้แต่อย่างไรมาในอดีตแล้ว (http://bit.ly/2cWrgNN)

            การอ้างวิกลิเกจึงเป็นเรื่องอุทลุมที่ยกขึ้นมาอ้างเพื่อหาทางประวิงเวลาไม่ยอมย้าย ไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ยอมทำตามคำสั่งศาล มุ่งเอาเปรียบสังคมอยู่รำไปใช่หรือไม่ ในการนี้เห็นมีนายสุจิตต์ ให้การสนับสนุนข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับวิกลิเก ดร.โสภณ จึงเสนอข้อมูลที่เป็นความจริง (Hard Fact) มามองให้ "ตาสว่าง" กันขึ้นมาในกรณีนี้

            ผู้ที่ ดร.โสภณ ขอยกมาเสนอคือ เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) (http://bit.ly/2ewqHsV) ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งโรงละครอย่างตะวันตกโดยใช้ชื่อว่า ปรินซ์เธียร์เตอร์ (Prince Theatre) และการริเริ่มแสดงละครโดยเก็บค่าชม โดยครั้งแรกยังขึงผ้าไว้ (http://bit.ly/2ewocaa) แบบง่าย ๆ ไม่ได้เป็นโรงหรืออาคารถาวรแต่อย่างไร และที่ใช้คำว่าวิกก็หมายถึงสัปดาห์ โดยเดือนหนึ่งเล่นประมาณ 1-2 สัปดาห์ในเดือนหงายนั่นเอง

            ท่านเกิดวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2364 (สมัยรัชกาลที่ 2) ก่อนพระยาเพชรปาณีแน่นอน และถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2437 ท่านมีคณะละครที่เป็นของท่านเอง มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งแต่เดิมมีเพียงละครนอก และละครใน โดยละครของท่านมีทั้งเรื่อง ดาหลัง และราชาธิราช ซึ่งการแต่งตัวก็สมจริง เมื่อเล่นเรื่องจีน ก็แต่งชุดจีน เล่นเรื่องพม่าก็แต่งชุดพม่า ทำให้กลายเป็นที่ชื่นชอบ และได้รับความนิยมมาก (http://bit.ly/2emmU5o)

            ยิ่งกว่านั้นก่อนหน้าจะมีวิกลิเกพระยาเพชรปาณี ก็มีลิเกอื่น ๆ มาก่อนแล้ว ที่ดังก่อนหน้านี้ก็มีหลายที่ เช่นที่ "เมรุปูนวัดสระเกศ" ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 "เพื่อใช้สำหรับพระราชทานเพลิงพระศพเจ้านาย และศพข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่มีการก่อสร้างอย่างประณีตสมบูรณ์ยิ่งกว่าเมรุปูนของวัดอรุณราชวราราม และวัดสุวรรณาราม. . .(มี) พลับพลา โรงธรรม โรงครัว โรงมหรสพ ตลอดจนพุ่มกัลปพฤกษ์ และระทา (หอสี่เหลี่ยมทรงยอดเกี้ยว ใช้สำหรับจุดดอกไม้ไฟ พลุ ตะไล ในพิธี) ซึ่งสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ล้วนทำด้วยการก่ออิฐถือปูนทั้งสิ้น. . .(ต่อมา ร.4). . .ให้ตัดถนนบำรุงเมือง. . .ทำให้กุฎีวัดสระเกศกับบริเวณเมรุปูนแยกออกจากกันคนละฝั่งถนน. . . (ต่อมาเลิกเมรุปูน). . .มอบสถานที่นั้นให้เป็นที่ตั้ง. . . “วิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร” จนปัจจุบัน (http://bit.ly/2d1ppEz)

            จะเห็นได้ว่ามีวิกลิเกที่นั่นมาก่อนจะมีวิกลิเกของพระยาเพชรปาณีเสียอีก และวิกลิเกเหล่านี้ก็เป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก เพียงแต่พระยาเพชรปาณีคิดเป็นลิเกพันทาง มีการแต่งกายที่ดูหรูแบบ "แหกคอก" คล้ายเครื่องแต่งกายสำหรับชนชั้นสูง เป็นต้น ดังนั้นการนำวิกลิเกพระยาเพชรปาณีมาอ้าง จึงเป็นการอ้างที่ "ไร้เหตุผลสิ้นดี" เป็นการอ้างที่ "ฟังไม่ขึ้น" จริง ๆ

            ถ้าจะอ้างอิงประวัติศาสตร์ อย่าอ้างเพื่อมาแสดงความเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัว

อ่าน 6,001 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved