ดร.โสภณ คาดการณ์ว่า ดร.สมคิด จะไม่ประสบความสำเร็จในการกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาค มาตรการที่เสนอจะไม่ได้ผล พร้อมทั้งเสนอถึงแนวทางการพัฒนาที่สมควรสำหรับประเทศไทย
ตามที่มีข่าวว่า "ชงครม.ไฟเขียวงบ 1.7 หมื่นล้าน คลังหว่านเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ แจกแหลกหมู่บ้าน 2.5 แสนบาท" (http://bit.ly/2fdI7xO) ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) เชื่อว่าโครงการนี้ของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะประสบความล้มเหลวอย่างแน่นอน
ทั้งนี้โครงการดังกล่าว เป็น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากผ่านหมู่บ้านกว่า 70,000 แห่งทั่วประเทศ โดยจะจ่ายเงินให้หมู่บ้านละ 250,000 บาท หรือคิดเป็นวงเงินรวม 17,500 ล้านบาท เพื่อให้แต่ละหมู่บ้านนำเงินดังกล่าวไปลงทุนในโครงการขนาดเล็ก โดยหวังว่าจะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนและยังสร้างความเข้มแข็งให้แก่ทุกภูมิภาคของประเทศได้ด้วย
สำหรับหลักการในการขอโครงการประกอบด้วย
1. การขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
2. การส่งเสริมอาชีพ คุณภาพชีวิตและการมีงานทำของประชาชน
3. การส่งเสริมด้านสาธารณสุข การศึกษา ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมของหมู่บ้าน
4. การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม
5. การพัฒนาแหล่งน้ำ
6. การซ่อมแซมสิ่งสาธารณประโยชน์ในหมู่บ้าน และ
7. โครงการที่เคยเสนอตามโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท แต่ไม่ได้รับการอนุมัติเนื่องจากหมดวงเงิน
ดร.โสภณ พรโชคชัย เชื่อว่าโครงการนี้จะล้มเหลวเพราะ
1. งบประมาณ 250,000 บาทต่อหมู่บ้าน ถือเป็นเงินน้อยมาก ไม่พอเพียงที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเงินทั้งหมดรวมกันเป็นเงินเพียง 17,500 ล้านบาท ยังต่ำกว่าค่าซื้อเรือดำน้ำ 36,000 ล้านบาท (http://bit.ly/2f5EKd9)
2. ตามหลักการขอโครงการข้างต้น มีเพียงข้อ 2 คือ "การส่งเสริมอาชีพฯ" ที่เกี่ยวกับการทำให้เกิน "เงินหมุนเวียน" ข้ออื่น ๆ (ข้อ 3-7) ยกเว้นข้อแรกที่ ดร.โสภณ ไม่ขอกล่าวถึง ล้วนแต่เป็นโครงการที่ไม่ได้ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรง
3. การส่งเสริมสาธารณสุข การศึกษา อนุรักษ์ธรรมชาติ พัฒนาแหล่งน้ำ คงจะกลายเป็นเพียงการ "ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ" และลำพังเงินจำนวนนี้คงไม่พอทำอะไรมากมายได้เช่นนั้น
4. การพัฒนาแหล่งน้ำ และซ่อมแซมสาธารณูปโภค ก็คงทำให้ผู้รับเหมา บริษัทปูน บริษัทเหล็ก ได้ประโยชน์ ประชาชนคงได้แค่เศษเงินคือค่าจ้างเหมาค่าแรงงานทั่วไปเท่านั้น
5. ภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ต่างจากในสมัยอดีตนายกฯ ทักษิณทำเรื่อง "หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์" เพราะขณะนี้เป็นภาวะที่เศรษฐกิจฝืดเคือง ผลิตอะไรออกมาจากชุมชนก็คงหาคนซื้อได้ยาก โอกาสความล้มเหลวจึงมีอยู่สูงมาก
6. ที่ผ่านมายังมีข้อครหาเรื่อง "หัวคิว" ทำให้เงินทองที่จะนำไปพัฒนายังท้องถิ่นต่าง ๆ ตกหล่นไปตามทาง นี่เป็นปัจจัยที่ทำให้โครงการนี้อาจไม่ประสบความสำเร็จตามที่คาดหวัง
ดร.โสภณ เสนอให้กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการ
1. การส่งเสริมการลงทุนของเอกชนในจังหวัดภูมิภาค
2. การส่งเสริมการท่องเที่ยว และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง
3. การให้สัมปทานก่อสร้างถนน ทางด่วน รถไฟฟ้าต่าง ๆ เพื่อนำเงินเข้าประเทศ แทนที่รัฐบาลจะดำเนินการเอง
4. การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโดยไม่มีข้อยกเว้น ณ อัตราการจัดเก็บเริ่มต้นที่ 0.5% โดยทรัพย์สินเชิงพาณิชย์และที่ดินเปล่าจัดเก็บเพิ่มเติม เพื่อนำเงินมาพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม
5. การเจรจากับธนาคารที่มีอยู่ไม่กี่แห่งในประเทศไทยเพื่อลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เนื่องจากถ่างห่างจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากมหาศาล
โดยสรุปแล้ว สิ่งที่ ดร.สมคิด คิดจะทำในชนบท นอกจากจะไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้แล้ว ยังจะเป็นการสร้างปัญหาในระยะยาวอีกด้วย