รถวิ่งบนทางเท้า อาชญากรรม แก้ได้ด้วยประชาธิปไตย
  AREA แถลง ฉบับที่ 428/2559: วันอังคารที่ 08 พฤศจิกายน 2559

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ปัญหารถจักรยานยนต์วิ่งบนทางเท้า ลักเล็กขโมยน้อย หรืออาชญากรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร แก้ไขได้ไม่ยาก ถ้าบ้านเมืองมีประชาธิปไตย!?!

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ชี้ให้เห็นว่า ประชาธิปไตย การกระจายรายได้ และความผาสุกของประชาชนเป็นสิ่งที่ไปด้วยกัน หากขาดประชาธิปไตยเสียแล้ว อะไรต่าง ๆ ก็ "เป๋" ไปหมด เพราะคนที่มาทำงานการเมืองไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มาจากการแต่งตั้งสรรหา คนที่แต่งตั้งสรรหาจึงมีอิทธิพลยิ่งกว่า "พ่อ" อยากได้ตำแหน่งก็ไปวิ่งกัน

            ข้าราชการในภาคส่วนต่างๆ ที่ทำดี "ดุจเกลือรักษาความเค็ม" ก็คงมี แต่ไม่แน่ใจว่าจะมีมากกว่าพวกที่เติบโตเพราะอาศัยเส้นสายมากกว่าผลงาน เรียกได้ว่าเป็นระบบ "ด.ว.ง. หรือไม่ ในระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เจ้าหน้าที่คงไม่ค่อยมีเวลาทำงาน เน้นวิ่งเส้นสายท่าเดียว กล่าวคือ คนที่จะก้าวหน้าได้ ส่วนหนึ่งต้องอาศัย "ด.ว.ง" ซึ่งไม่ใช่หมายถึง "ดวงชะตา" แต่หมายถึง

            1. ด. คือ เป็น "เด็ก" ของใคร มี "ปลอกคอทอง" หรือ "ปลอกหนัง"

            2. ว. คือ "วิ่ง" หรือไม่ ซึ่งก็เป็นเช่นที่เข้าใจทั่วไปก็คือ ใครจะก้าวหน้าในชีวิต ก็ต้องวิ่ง ไม่งั้น ก็ "แป๊ก" เต็มขั้นหรือทะลุขั้นแต่ไม่ตำแหน่ง

            3. ง. คือ "เงิน" ต้อง "จิ้มก้อง" กับ "เจ้านาย" มีเงิน มีของไปกำนัล เพื่ออำนวยความสะดวกในการเติบโตทางราชการเป็นต้น

            ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ต้องทำให้ข้าราชการน้อยลง ทำการ "Privatize" (ให้เอกชนทำแทน) มากขึ้น แม้แต่คุกในประเทศตะวันตกหลายแห่งก็ยังให้เอกชนมาดำเนินการแทน และในประเทศประชาธิปไตย ทุกภาคส่วนล้วนมาจากการเลือกตั้ง แม้แต่ผู้พิพากษา หัวหน้าตำรวจในแต่ละท้องที่ ผอ.ฝ่ายจัดการศึกษาในแต่ละท้องที่ ฯลฯ เป็นต้น แต่ในประเทศไทยกลับมีข้าราชการและลูกจ้างภาครัฐจำนวนมหาศาลและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ สวัสดิการต่าง ๆ ก็เติบโตเป็นเงาตามตัว กลายเป็นภาระ แทนที่จะเป็นผู้ช่วยพัฒนาชาติหรือไม่

            อย่างกรณีงบประมาณของกรุงเทพมหานคร ณ ปี 2560 พบว่าเป็นเงินสูงถึง 70,424.8 ล้านบาท (http://bit.ly/2fwvI41) ลองคิดดูง่าย ๆ ว่า คิดดูง่าย ๆ ว่าถ้าเราจ้างอาสาสมัครคนละ 15,000 บาทรวมค่าเดินทางลาดตระเวนเป็นเงิน 20,000 บาท จ้างทั้งปีก็เป็นเงิน 240,000 บาท ในแต่ละแขวงจ้างถึง 60 คน ผลัด 3 กะ ก็เป็นเงิน 14.4 ล้านบาท รวม 170 แขวงก็เป็นเงิน 2,448 ล้านบาท หากมีค่าบริหารจัดการอีก 15% ของค่าจ้างก็เป็นเงิน 2,815.2 ล้านบาท ซึ่งดูเหมือนเป็นเงินมหาศาล แต่เมื่อเทียบกับงบประมาณของกรุงเทพมหานครที่ 70,424.8 ล้านบาท ก็เป็นเพียง 4% เท่านั้น ถือว่าน้อยมาก แล้วยังสามารถจ้างงานได้ถึง 10,200 คน อย่าว่าแต่ตรวจจับคนขับรถบนทางเท้าเลย แม้แต่โจรขโมยก็แทบไม่มีเหลือ เพราะมีการลาดตระเวนอยู่บ่อย ๆ นั่นเอง

            ถ้าบ้านเมืองมีประชาธิปไตย มีการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ระดับแขวง ให้มีคณะกรรมการชุมชนมีอำนาจจัดการว่าจ้างดูแลกันเอง ไม่ใช่ทุกอย่างรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางคือที่ "เสาชิงช้า" กรุงเทพมหานครและนครใหญ่ๆ ทั้งหลายก็จะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากการขาดประชาธิปไตย กลับให้อำนาจบริหารไปตกอยู่ที่พวกข้าราชการประจำที่ควรเป็นเพียง "มือไม้" ของผู้แทนของประชาชนที่รู้ความต้องการที่แท้จริงของประชาชนเจ้าของประเทศ ความบิดเบี้ยวจึงเกิดขึ้น

            มาทำบ้านเมืองให้เป็นประชาธิปไตยที่ยั่งยืนตามที่รัฐบาลให้คำมั่นไว้เถิด

อ่าน 2,925 คน
2025 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved