ที่ผ่านมา มีอยู่ 2 กรณีที่นายกฯ สั่งแก้ไขปัญหาที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง คือกรณีส่งเสริมให้ปลูกหมามุ่ยและกล้วยหอมทอง นี่ไม่ใช่การโจมตีนายกฯ แต่เป็นการชี้ให้ทีมงานนายกฯ ได้เข้าใจคำว่า Market Niche จะได้ไม่แนะนำให้ท่านเสนอแนวคิดผิด ๆ
มีอยู่ครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2558 ท่านนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา "แนะคนไทย 'อย่าโง่'ปลูกพืชกำไรน้อย หนุนปลูกพืชสมุนไพรสร้างรายได้ ชูแปรรูป 'หมามุ่ย' ราคาพุ่ง กก.ละ 8 หมื่น. . .วันนี้รัฐบาล ได้สนับสนุนการปลูกพืชสมุนไพร ในเมื่อเราไม่สามารถปลูกข้าวได้ ก็จะให้กระทรวงสาธารณสุข เข้าไปดูแลว่าจะปลูกพืชสมุนไพรได้หรือไม่ (http://goo.gl/bhRnSL) กรณีนี้สะท้อนว่าท่านนายกฯ ยังไม่เข้าใจ Market Niche หรือการตลาดเฉพาะกลุ่ม
อีกกรณีหนึ่งคือ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2559 นายกฯ ประยุทธ์ ได้ให้สัมภาษณ์โดยแนะให้ชาวสวนยางพาราปลูกสตรอเบอรี่และกล้วยหอมในสวนยาง (http://bit.ly/1n71qIZ) ทั้งนี้คงเป็นเพราะท่านได้ไปดูงาน-ตรวจเยี่ยมบ้านนายวิสูตร คันทรักษา เกษตรกรชาวสวนยางพารา หมู่ที่ 4 ตำบลท่าเรือ อำเภอบ้านนาเดิม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามข่าวเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามการปลูกสินค้าเฉพาะนี้ก็อาจยังไม่เสถียร ท่านจึงยัง "แนะนำให้หาวิธีการแปรรูปหลายอย่าง และขยายตลาดรองรับ (และ) . . . ยังแนะนำว่าหากมีปัญหาสามารถปรึกษาสหกรณ์จังหวัด" (http://bit.ly/1S7fmzg)
สินค้าที่เป็น Market Niche หรือสินค้าที่มีความแตกต่างออกไป จึงเป็นสินค้าที่ลูกค้าสนใจเพราะเป็นการเริ่มต้นที่จำนวนน้อย ยังไม่มีคู่แข่งอื่นหรือมีคู่แข่งจำกัด เหมาะกับพื้นที่ดังกล่าว เช่น ในพื้นที่โดยรอบสถาบันอุดมศึกษาที่ตั้งขึ้นใหม่ มักจะสร้างหอพักเป็นจำนวนมาก โดยกลุ่มเป้าหมายเฉพาะก็คือนักศึกษามหาวิทยาลัยนั่นเอง หรือพื้นที่ที่ตั้งอยู่ใกล้วัดที่มีผู้ไปทำบุญปฏิบัติธรรมในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์เป็นจำนวนมาก ก็อาจมีการก่อสร้างหมู่บ้านจัดสรรหรือห้องชุดที่รองรับผู้สนใจซื้อไว้ เพื่อความสะดวกในการเดินทาง นอกจากนี้ยังอาจมีตัวอย่างของห้องชุดในพื้นที่ใกล้โรงเรียนมัธยมชื่อดังใจกลางเมือง ซึ่งสามารถจับกลุ่มลูกค้าที่เป็นครอบครัวของเด็กนักเรียน เป็นต้น
อย่างกรณี "หมามุ่ย" แม้ว่าสถานการณ์ตลาดจะดี แต่ก็เป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ที่ชาวนาไทยทั้งมวล หรือใครต่อใครจะหันมาปลูกหมามุ่ยแทนข้าวซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักได้ หรือแม้จะมีตลาดเฉพาะทางด้านอื่น ๆ นอกจากหมามุ่ย ก็ยังถือเป็นข้อยกเว้น และข้อยกเว้นคงไม่ใช่สรณะ (Exception cannot be made rule/norm) เพราะมีจำนวนลูกค้าจำกัด สินค้าอุปโภคบริโภคกับสินค้าเฉพาะทางคงทดแทนกันไม่ได้
ยิ่งกว่านั้นท่านนายกฯ อาจไม่ทราบว่า "หมามุ่ย" ดังกล่าว มีสรรพคุณใช้เพื่อ "ช่วยปลุกเซ็กส์ มีเพศสัมพันธ์ได้มากขึ้น" ทั้งนี้เป็นผลการวิจัยมา 3 ปีแล้วของอาจารย์มหาวิทยาลัยของไทย (http://goo.gl/n2tXcm) นอกจากนั้นยังอาจใช้รักษาโรงพาร์กินสันได้ด้วย (http://goo.gl/yR7t8p) ท่านนายกฯ อาจไม่ทราบสรรพคุณของสมุนไพรชนิดนี้ซึ่งใช้กับคนเฉพาะกลุ่ม การที่คณะทำงานนำความมาแจ้งแก่นายกฯ ให้นำเสนอพืชสมุนไพรนี้ในฐานะสินค้า จึงอาจทำให้เสียภาพพจน์ของนายกรัฐมนตรีได้ด้วย
ส่วนกรณีกล้วยหอมทองนั้น ปรากฏว่าในจังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่เดิมในอำเภอท่าชนะ ก็เคยมีสินค้าโอทอปคือกล้วยหอมทอง โดยกลุ่มแม่บ้านกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออก ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 195/264 หมู่ที่ 6 ต.คลองพา อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี 84170 โดยได้รวมกันเองในหมู่บ้าน ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 52 คน และได้เลือกคณะกรรมการบริหารกลุ่มโดยได้ดำเนินการมานับสิบปีแล้ว สมาชิกแต่ละคนนำผลผลิตมารวมที่กลุ่มเพื่อเตรียมส่งออกประเทศญี่ปุ่น ในขณะที่อาชีพหลักคือการทำสวนยางพารา (http://bit.ly/22OlPD0) จะนำอาชีพเสริมมาทดแทนอาชีพหลักคงไม่ได้
ถ้าขืนไปส่งเสริมให้ใครต่อใครหันมาเลียนแบบกันทำตลาดแบบนี้ ก็จะพากันลงเหว "พาคนไปตาย" อย่างแน่นอน เพราะความพิเศษ ความโดดเด่น ลักษณะเฉพาะ ก็กลายเป็นลักษณะทั่วไปเพราะใครต่อใครหันมาทำแบบเดียวกันหมด ก็คงไม่มีความแตกต่าง และเต็มไปด้วยการแข่งขันและพากัน "เจ๊ง" กันไปหมดอย่างแน่นอน การแนะนำประชาชนไปในแนวทางเดียวกันแบบนี้จึงเป็นการสร้างความเสี่ยงเป็นอย่างยิ่ง นี่จึงแสดงถึงความไม่รู้จริงของทีมงานนายกฯ จึงแนะนำให้ท่านเสนอแนะไปอย่างไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
แต่ในที่นี้ไม่ได้เกี่ยวกับการเมือง เป็นเพียงการนำเสนอกรณีศึกษาที่ชี้ให้เห็นถึง Market Niche เท่านั้น