รื้อศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะแล้วสร้างใหม่เถอะ
  AREA แถลง ฉบับที่ 458/2559: วันศุกร์ที่ 02 ธันวาคม 2559

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ตอนนี้มีข่าวว่าศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะกำลังจะพัฒนาเฟส 2 ดร.โสภณ ขอเสนอแนวคิดใหม่ด้วยการรื้อ แล้วสร้างใหม่จะคุ้มค่าเป็นประโยชน์ต่อชาติมากกว่า

            โครงการ "ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐" ตั้งอยู่ในที่ดินราชพัสดุ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร บนที่ดินประมาณ 449 ไร่ แบ่งเป็น 3 โซน โดย 2 โซนแรก โซนเอ ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยงานด้านยุติธรรม มีเนื้อที่ 100 ไร่ โซนบีซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยงานต่างๆ มากกว่า 40 หน่วยงาน มีเนื้อที่ 197 ไร่ โครงการ รวมมูลค่าก่อสร้างโครงการประมาณ 19,016 ล้านบาท รวมพื้นที่อาคาร 929,800 ตารางเมตร (http://bit.ly/2gOjiXg) ทั้งนี้เริ่มก่อสร้างในปี 2548 และแล้วเสร็จในปี 2551 (http://bit.ly/2h0JIYK) ขณะนี้กำลังจะพัฒนาพื้นที่โซนซี เนื้อที่ 152 ไร่ โดยจะสร้างอาคารสำนักงานสูง 9 ชั้น 5 แสนตารางเมตร เงินลงทุน 18,000 ล้านบาท (http://bit.ly/2h0KrsR)

            หากนำเงิน 19,016 ล้านบาท ณ ปี 2548 มาคิดเพิ่มเป็นเงิน ณ ปี 2560 (12 ปี) ณ อัตราดอกเบี้ย 4% ก็จะเป็นเงิน 30,445 ล้านบาท บวกกับค่าก่อสร้างในโซนซีอีก 18,000 ล้านบาท ก็จะเป็นเงินประมาณ 48,445 ล้านบาท สำหรับอาคารที่มีพื้นที่รวม 1,429,800 ล้านบาท หรือตกเป็นเงินค่าก่อสร้างตารางเมตรละ 33,883 บาท (อาคารและสาธารณูปโภคโดยรวม) ทั้งนี้ยังไม่รวมค่าที่ดิน โดย ดร.โสภณ ประมาณการไว้ว่า ค่าที่ดินจะตกเป็นเงินตารางวาละ 80,000 บาท สำหรับที่ดิน 449 ไร่ ทั้งนี้ในกรณีที่ดินติดถนนแจ้งวัฒนะขนาด 4-5 ไร่ ตกเป็นเงินตารางวาละ 200,000 บาท ดังนั้นที่ดิน 449 ไร่จึงเป็นเงินประมาณ 14,368 ล้านบาท ณ ปี 2560 รวมกับค่าอาคารจึงเป็นเงิน 62,813 ล้านบาท หรือเท่ากับพื้นที่อาคารมีมูลค่า 44,000 บาทต่อตารางเมตร

            อันที่จริงการสร้างศูนย์ราชการใหญ่โตขนาดนี้ กลับมีหน่วยงานราชการอยู่ไม่มากนัก และมักเป็นหน่วยงานใหม่ๆ หน่วยงานเดิม ๆ บ้างก็ยังตั้งอยู่ที่เดิม เป็นการเพิ่มพื้นที่ราชการ ทำให้การติดต่อราชการต้องไปหลายแห่ง แทนที่จะเป็นที่เดียว ราชการไทยอาจไม่ได้ศึกษาแบบอย่างจากราชการอังกฤษและยุโรปที่ส่วนราชการต่าง ๆ ก็ยังอยู่ในเขตใจกลางกรุงลอนดอน และมหานครอื่น ไม่ได้ออกไปสร้างให้ใหญ่โตสิ้นเปลืองงบประมาณมากมาย ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ

            ที่ว่าศูนย์ราชการฯ นี้ช่วยประหยัดพลังงานโดยการลดการใช้พลังงานในระบบปรับอากาศ ซึ่งเป็นระบบที่ต้องใช้พลังงานสูง ด้วยการออกแบบเป็นอาคารปิด ที่ป้องกันความร้อน ความชื้นจากภายนอก มีการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นของอากาศที่เข้าสู่อาคารให้มีความเหมาะสม การรักษาอุณหภูมิตึกให้เย็นตลอดเวลา ด้วยวัสดุก่อสร้างที่เก็บรักษาความเย็นได้ดีโดยใช้ผนังและพื้นอาคารเก็บสะสมความเย็นไว้ และนำความเย็นที่เก็บไว้มาคายให้ตัวอาคารในเวลากลางวันนั้น เป็นสิ่งที่เหมาะสมจริงหรือไม่ การมีพื้นที่เปิดโล่งขนาดใหญ่กว่าสนามฟุตบอลขนาดใหญ่ เป็นความสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุหรือไม่

            อาคารสมัยใหม่ที่เป็นอาคารเขียวที่รักษาสิ่งแวดล้อมได้ดี แถมยังใช้พื้นที่อย่างประหยัดและมีประโยชน์สูงสุดกว่านี้ใช่หรือไม่ ประหยัดพลังงานและลดโลกร้อนได้ดีกว่านี้หรือไม่ หากถามส่วนราชการต่าง ๆ ที่เป็นผู้อยู่อาศัยในอาคาร หลายคนมักจะไม่พอใจกับการจัดพื้นที่ใช้สอย ความสิ้นเปลืองต่าง ๆ การออกแบบที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ดังนั้นจึงเกิดแนวคิดว่า สมควรรื้อศูนย์ราชการนี้ แล้วก่อสร้างใหม่หรือไม่

            หากนำที่ดินแปลงนี้มาใช้ประโยชน์สูงสุดเพื่อประเทศชาติ จะสามารถสร้างอาคารได้ถึง 7.184 ล้านตารางเมตร หรือเป็นพื้นที่ใช้สอยสุทธิ 4.3104 ล้านตารางเมตร และใช้เงบประาณในการก่อสร้าง 215,520 ล้านบาทสามารถจุคนได้ถึง 431,040 คน คาดว่าจะสามารถรองรับหน่วยราชการส่วนกลางได้ราวหนึ่งในสี่ของทั่วเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แต่ทั้งนี้ควรรื้ออาคารเดิมทั้งสองอาคารเสียก่อน เนื่องจากก่อสร้างอย่างไม่คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดและดีที่สุดเพื่อประเทศชาติ

ภาพที่ 1: ศูนย์ราชการฯ อยู่ห่างจากท้ายรันเวย์ของสนามบินดอนเมืองถึง 4.61 กิโลเมตร

ภาพที่ 2: อาคารอื่นที่ตั้งอยู่ใกล้สนามบินดอนเมืองยิ่งกว่า ก็ยังสร้างได้ค่อนข้างสูง

            อุปสรรคสำคัญประการหนึ่งก็คือข้อจำกัดในการก่อสร้างที่ให้ก่อสร้างได้ไม่ถึง 45 เมตร ทั้งที่ตั้งอยู่ห่างจากท้ายรันเวย์ของสนามบินดอนเมืองถึง 4.61 กิโลเมตร หากเทียบกับสนามบินเชียงใหม่ จะเห็นได้ว่าบริเวณใกล้เคียงมีเทือกเขาสูงใหญ่คือดอยสุเทพ แต่ก็ยังสามารถสร้างสนามบินได้โดยแทบไม่มีอุบัติเหตุทั้งที่มีเที่ยวบินถึงเกือบ 40,000 เที่ยวต่อปี และเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ.2482 หรือ 75 ปีมาแล้ว และหากคิดระยะทางห่างจากสนามบินเกิน 45 เมตร ก็จะห่างออกไปเพียง 1.33 กิโลเมตรเท่านั้น

ภาพที่ 3: ทัศนียภาพสนามบินเชียงใหม่ตั้งอยู่ใกล้ๆ ดอยสุเทพ

            ความสูงของดอยสุเทพ ณ ระดับที่สามารถสร้างตึกสูงเท่าตึกใบหยก 2 ซึ่งเป็นตึกที่สูงที่สุดในประเทศไทย (สูง 304 เมตร) ก็จะอยู่ในระยะทางประมาณ 2.7 กิโลเมตรจากหัวของสนามบินเชียงใหม่เท่านั้น คือ ณ ความสูง 620 เมตร (316 เมตร ณ ระดับความสูงของสนามบิน บวกด้วยความสูงของอาคารใบหยก 2 ที่ 304 เมตร) และเมื่อวัดไปถึงพระธาตุดอยสุเทพ ก็อยู่ห่างจากสนามบินเชียงใหม่เพียง 5.26 กิโลเมตรเท่านั้น ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า การควบคุมความสูงของสนามบินดอนเมือง ออกจะควบคุมเข้มงวดเกินไปจริงๆ

ภาพที่ 4: การวัดระยะทางจากหัวสนามบินเชียงใหม่ไปยังดอยสุเทพ

            ยิ่งหากพิจารณาถึงสนามบินไคตัก ซึ่งเป็นสนามบินของฮ่องกง ยิ่งเห็นความแตกต่างที่ชัดเจน สนามบินไคตัก เริ่มใช้งานในปี 2468 ถึงปี 2541 รวมระยะเวลา 73 ปี แต่ต้องปิดตัวเองไปเพราะความแออัดอย่างยิ่งยวดของการจราจรทางอากาศ สนามบินแห่งนี้ถือเป็นจุดเด่นของการท่องเที่ยวฮ่องกงในสมัยก่อนก็ว่าได้ เพราะเครื่องบินๆ ต่ำมาก จนดูคล้ายจะชนอาคาร แต่ก็แทบไม่เคยมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ณ สนามบินแห่งนี้เลย กรณีสนามบินไคตักนี้อาจถือเป็นประจักษ์หลักฐานสำคัญหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าการจำกัดความสูงที่เข้มงวดจนเกินไป ถือเป็นการดำเนินการที่เกิดเหตุจริงๆ

ภาพที่ 5: ภาพเครื่องบินๆ อยู่ในระดับต่ำ ณ สนามบินไคตัก (http://i.imgur.com/uTglBzi.jpg)

            หันกลับมาดูที่ ศูนย์ราชการฯ แห่งนี้มีพื้นที่รวม 449 ไร่ แต่หากพิจารณาจากว่าบริเวณนั้นมีหน่วยราชการทั้งทหารและพลเรือนอยู่เป็นจำนวนมาก และนำมาพัฒนาร่วมกัน พื้นที่ดังกล่าวนี้จะมีขนาดถึง 4.16 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,600 ไร่เลยทีเดียว ซึ่งมีขนาดมากกว่าเขตป้อมปราบศัตรูพ่ายและสัมพันธวงศ์รวมกัน (3.347 ตารางกิโลเมตร) ถึง 24% หรือมีขนาดถึง 75% ของเขตบางรัก

            เขตบางรักมีประชากรอยู่ 46,114 คน หรือ 8,324 คนต่อตารางกิโลเมตร ในขณะที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่ายและเขตสัมพันธวงศ์มีประชากรรวมกันถึง 77,024 คน หรือ 23,107 คนต่อตารางกิโลเมตร และหากพัฒนาเยี่ยงสิงคโปร์ที่ให้คนอยู่ในอาคารสูง ก็จะมีความหนาแน่นของประชากร 8,000 คนต่อตารางกิโลเมตรเลยทีเดียว  หากนำพื้นที่ศูนย์ราชการฯ และพื้นที่ราชการโดยรอบขนาด 4.16 ตารางกิโลเมตร มาพัฒนาด้วยอัตราความหนาแน่นที่ 8,000 คนต่อตารางกิโลเมตร ก็จะมีประชากรอยู่ได้ถึง 33,280 คนเลยทีเดียว

ภาพที่ 6: ขนาดที่ดินศูนย์ราชการฯ และพื้นที่ราชการโดยรอบรวม 4.16 ตารางกิโลเมตร

            ในการทำศูนย์ราชการฯ สมควรที่จะวางแผนการขนส่งแต่แรก แต่ในประเทศไทยการวางแผนดำเนินการได้อย่างยากลำบาก ศูนย์ราชการสร้างเสร็จแล้ว แต่ไม่มีระบบคมนาคมที่ดี สิ่งที่ควรดำเนินการก็คือ

            1. การสร้างทางด่วนเชื่อมตรงกับดอนเมืองโทลเวย์ เพื่อการระบายการจราจร

            2. การสร้างทางด่วนเชื่อมตรงกับทางด่วนขั้นที่ 2 แจ้งวัฒนะ เพื่อการระบายการจราจร

            3. การสร้างรถไฟฟ้า (มวลเบา) เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่ถนนกรุงเทพฯ - นนทบุรี

            4. การสร้างรถไฟฟ้า (มวลเบา) เชื่อมรถไฟฟ้า BTS และ MRT

            5. การสร้างรถไฟฟ้ามวลเบา วิ่งเชื่อมอาคารต่าง ๆ ภายในศูนย์ราชการ

            หากดำเนินการดังกล่าว จึงจะทำให้ศูนย์ราชการฯ มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เป็นศูนย์รวมของหน่วยราชการได้แทบทั้งหมด แทนที่จะเป็นเฉพาะหน่วยราชการใหม่ ๆ และหน่วยราชการเดิมบางส่วนที่ขยายตัวเป็นหลัก ทั้งนี้รถไฟฟ้าที่ควรสร้างอาจเป็นแบบมวลเบา หรือรถไฟฟ้าตามปกติก็ได้

ภาพที่ 7: ระบบคมนาคมที่ควรมีก่อนเปิดใช้ศูนย์ราชการ (ด้วยซ้ำ)

 

ภาพที่ 8: ระบบรถไฟมวลเบาเช่นในสิงคโปร์ที่สามารถเชื่อมระหว่างอาคารในศูนย์ราชการฯ

            พื้นที่ 2,600 ไร่ หรือ 4.16 ตารางกิโลเมตรในพื้นที่ของศูนย์ราชการฯ และส่วนราชการโดยรอบนี้ สามารถนำมาพัฒนาได้อย่างมหาศาล ดังนี้

            1. พื้นที่ดินที่ใช้ก่อสร้างให้เพียง 50% หรือ 2.08 ตารางกิโลเมตรของทั้งหมด 4.16 ตารางกิโลเมตร

            2. ณ พื้นที่ดินที่ใช้ก่อสร้าง 2.08 ตารางกิโลเมตรหรือ หากสามารถสร้างได้ 10 เท่าของขนาดที่ดิน ก็จะสามารถสร้างได้ถึง 20.8 ล้านตารางเมตร

            3. หากใช้พื้นที่เพื่อการเป็นสำนักงานหรือการพาณิชย์อื่น ๆ เพียง 50% หรือ 10.4 ล้านตารางเมตร ก็ยังมากกว่าอาคารสำนักงานในกรุงเทพมหานครทั้งหมดรวมกัน 8 ล้านตารางเมตร สามารถใส่อาคารราชการได้เกือบทั้งหมด รวมทั้งอาคารอื่น ๆ เช่น หอประชุม โรงแรม ที่พักอาศัยได้อีกด้วย

            ยิ่งหากเชิญชวนให้ภาคเอกชนมาร่วมลงทุน ก็จะยิ่งจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างมากจากการพัฒนาในเชิงพาณิชย์เช่นนี้ ยกตัวอย่างเช่น โรงแรม หอประชุม ศูนย์แสดงสินค้า รถไฟมวลเบา ศูนย์การค้า ศูนย์อาหาร ก็สามารถให้ภาคเอกชนมาสร้างได้ โดยจัดสรรพื้นที่ให้ก่อสร้างแทนที่จะสร้างใช้สอยเอง แต่ต้องทำสัญญาให้รัดกุม เพื่อว่า จะได้ไม่เกิดปัญหาในภายหลัง ไม่เสียค่าโง่เช่นที่ผ่านมา

            การวางแผนพัฒนาเมืองต้องอาศัยแนวคิดเชิงปฏิวัติ ไม่ใช่แค่ปฏิสังขรณ์ "ปะผุ" ไปวัน ๆ ซึ่งไม่อาจทำให้เมืองน่าอยู่ได้ ส่วนบางคนเห็นแก่ไขปัญหาเมืองได้ยาก ก็คิดแต่จะ "ล้มกระดาน" ด้วยการย้ายเมืองหลวง ผมก็ได้แต่บอกว่าแนวคิดย้ายเมืองหลวงนี้ใช้ไม่ได้หรอกครับ บางประเทศอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล เขายังไม่คิดย้าย การย้ายเมืองหลวงทำได้แต่ส่วนราชการ แต่เมืองหลวงทางเศรษฐกิจย้ายไม่ได้ เช่น กรุงเนปิดอว์กับนครย่างกุ้ง กรุงแคนบรากับนครซิดนีย์ กรุงบราซิเลียกับนครเซาเปาโล กรุงวอชิงตันดีซีกับนครนิวยอร์ก เป็นต้น

            ต้องปฏิวัติแนวคิดการพัฒนาเมืองให้ได้ เพื่อลูกหลานไทยของเราเอง

อ่าน 9,355 คน
2025 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved