ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน
  AREA แถลง ฉบับที่ 481/2559: วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม 2559

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ต้องไปด้วยกัน ธุรกิจที่ไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของลูกจ้าง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ลูกค้า ผู้บริโภคและสังคม ย่อมไม่อาจสร้างความเชื่อมั่นและเป็นมงคลในการทำธุรกิจให้ยั่งยืนได้

            ในวันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม 2559 ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ในฐานะกรรมการบริหาร สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย ได้ไปประชุมเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนต์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และคณะ

หลักสิทธิมนุษยชน

              ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน(Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) ระบุไว้ว่าบุคคลชอบที่จะมีสิทธิและเสรีภาพประดามีที่ระบุไว้ในปฏิญาณนี้ ทั้งนี้โดยไม่มีการจำแนกความแตกต่างในเรื่องใดๆ เช่น เชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความเห็นทางการเมือง หรือทางอื่นใด ชาติหรือสังคมอันเป็นที่มาเดิม ทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่นใด นอกจากนี้การจำแนกข้อแตกต่างโดยอาศัยมูลฐานแห่งสถานะทางการเมืองทางดุลอาณาหรือทางเรื่องระหว่างประเทศของประเทศ หรือดินแดนซึ่งบุคคลสังกัดจะทำมิได้ ทั้งนี้ไม่ว่าดินแดนดังกล่าวจะเป็นเอกราชอยู่ในความพิทักษ์ มิได้ปกครองตนเองหรืออยู่ภายใต้การจำกัดแห่งอธิปไตยอื่นใด (https://goo.gl/9Ygdp9)

            สำหรับหลักการในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน30 ประการ (http://bit.ly/2i3SxhM และ https://goo.gl/K0PfV9) ประกอบด้วย

  1. มนุษย์ทั้งหลายเกิดมาอิสรเสรีและเท่าเทียมกันทั้งศักดิ์ศรีและสิทธิทุกคนได้รับการประสิทธิประสาทเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันอย่างฉันพี่น้อง
  2. บุคคลชอบที่จะมีสิทธิและเสรีภาพประดาที่ระบุไว้ในปฏิญาณนี้ ทั้งนี้โดยไม่มีการจำแนกความแตกต่างในเรื่องใดๆ เช่น เชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความเห็นทางการเมือง หรือทางอื่นใด ชาติหรือสังคมอันเป็นที่มาเดิม ทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่นใด นอกจากนี้การจำแนกข้อแตกต่างโดยอาศัยมูลฐานแห่งสถานะทางการเมืองทางดุลอาณาหรือทางเรื่องระหว่างประเทศของประเทศ หรือดินแดนซึ่งบุคคลสังกัดจะทำมิได้ ทั้งนี้ไม่ว่าดินแดนดังกล่าวจะเป็นเอกราชอยู่ในความพิทักษ์ มิได้ปกครองตนเองหรืออยู่ภายใต้การจำกัดแห่งอธิปไตยอื่นใด
  3. บุคคลมีสิทธิในการดำรงชีวิต ในเสรีธรรมและในความมั่นคงแห่งร่างกาย
  4. บุคคลใดจะถูกบังคับให้เป็นทาส หรืออยู่ภาระจำยอมใดๆ มิได้การเป็นทาสและการค้าทาสจะมีไม่ได้ในทุกรูปแบบ
  5. บุคคลใดจะถูกทรมาน หรือได้รับการปฏิบัติ หรือการลงทัณฑ์ซึ่งทารุณโหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือหยามเกียรติมิได้
  6. ทุกๆ คนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลในกฎหมายไม่ว่า ณ ที่ใด
  7. ทุกๆ คนต่างเสมอกันในกฎหมายและชอบที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกันโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใดๆ ทุกๆ คนชอบที่จะได้รับการคุ้มครองอย่างเสมอหน้าจากการเลือกปฏิบัติใดๆ อันเป็นการล่วงละเมิดปฏิญญานี้ และต่อการยุยงส่งเสริมให้เกิดการเลือกปฏิบัติเช่นนั้น
  8. บุคคลมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาอย่างได้ผลโดยศาลแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจเนื่องจากการกระทำใดๆ อันละเมิดต่อสิทธิขั้นมูลฐาน ซึ่งตนได้รับจากรัฐธรรมนูญหรือจากกฎหมาย
  9. บุคคลใดจะถูกจับ กักขัง หรือเนรเทศโดยพลการมิได้
  10. บุคคลชอบที่จะเท่าเทียมกันอย่างบริบูรณ์ในอันที่จะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรมและเปิดเผยโดยศาลซึ่งเป็นอิสระและไร้อคติ ในการวินิจฉัยชี้ขาดสิทธิและหน้าที่ ตลอดจนข้อที่ตนถูกกล่าวหาใดๆ ทางอาญา
  11. (1) บุคคลซึ่งถูกกล่าวหาด้วยความผิดทางอาญา มีสิทธิที่จะได้รับการสันนิฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะมีการพิสูจน์ว่ามีความผิดตามกฎหมายในการพิจารณาโดยเปิดเผย ณ ที่ซึ่งตนได้รับหลักประกันทั้งหมดที่จำเป็นในการต่อสู้คดี (2) บุคคลใดจะถูกถือว่ามีความผิดอันมีโทษทางอาญาใดๆ ด้วยเหตุผลที่ตนได้กระทำ หรือ และเว้นการกระทำการใดๆ ซึ่งกฎหมายของประเทศหรือกฎหมายระหว่างประเทศ ในขณะที่มีการกระทำนั้นมิได้ระบุว่าเป็นความผิดทางอาญามิได้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่ใช้อยู่ในขณะที่การกระทำความผิดทางอาญานั้นเกิดขึ้นมิได้
  12. การเข้าไปแทรกสอดโดยพลการในกิจส่วนตัว ครอบครัว เคหะสถาน การส่งข่าสาร ตลอดจนการโจมตีต่อเกียรติยศและชื่อเสียงของบุคคลนั้นจะทำมิได้ ทุกๆ คน มีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายจากการแทรกสอดและโจมตีดังกล่าว
  13. (1) บุคคลมิสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการเคลื่อนย้าย และในถิ่นที่อยู่ภายในขอบเขตดินแดนของแต่ละรัฐ (2) บุคคลมิสิทธิที่จะเดินทางออกจากประเทศใดๆ รวมทั้งของตนเองและที่จะกลับคืนสู่บ้านเกิดเมืองนอน
  14. (1) บุคคลมีสิทธิที่จะแสวงหาและพักพิงในประเทศอื่นๆ เพื่อลี้ภัยจากการกดขี่ข่มเหง (2) สิทธินี้จะกล่าวอ้างมิได้ในกรณีการฟ้องคดี ซึ่งโดยความจริงเกิดจากความผิดที่ไม่ใช่เรื่องการเมือง หรือจากการกระทำที่ขัดต่อความมุ่งประสงค์และหลักการของสหประชาชาติ
  15. (1) บุคคลมีสิทธิในการถือสัญชาติ (2) การถอนสัญชาติโดยพลการ หรือการปฏิเสธสิทธิที่จะเปลี่ยนสัญชาติของบุคคลใดนั้นจะกระทำมิได้
  16. (1) ชายและหญิงเมื่อเจริญวัยบริบูรณ์แล้ว มีสิทธิที่จะสมรสและที่จะสร้างครอบครัวโดยไม่มีการจำกัดใดๆ เนื่องจากเชื้อชาติ สัญชาติ หรือศาสนา บุคคลชอบที่จะมีสิทธิเท่าเทียมกันในเรื่องการสมรส ในระหว่างการสมรสและในการขาดการสมรส (2) การสมรสจะกระทำได้ก็โดยความยินยอมอย่างเสรี และเต็มใจของคู่บ่าวสาวผู้ตั้งใจจะกระทำการสมรส (3) ครอบครัว คือ กลุ่มซึ่งเป็นหน่วยธรรมชาติและพื้นฐานของสังคมและชอบที่จะได้รับการคุ้มครองโดยสังคมและรัฐ
  17. (1) บุคคลมีสิทธิในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินโดยลำพังตนเอง และโดยการร่วมกับผู้อื่น (2) การยึดเอาทรัพย์สินของบุคคลใดไปเสียโดยพลการกระทำมิได้
  18. บุคคลมีสิทธิในเสรีภาพแห่งความคิด มโนธรรม และศาสนา สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะเปลี่ยนศาสนา หรือความเชื่อถือ และเสรีภาพ ที่จะแสดงให้ศาสนาหรือความเชื่อถือประจักษ์ในรูปของการสั่งสอน การปฏิบัติกิจความเคารพสักการะบูชา สวดมนต์ และการถือปฏิบัติพิธีกรรม ไม่ว่าโดยลำพังตนเอง หรือร่วมกับผู้อื่นในประชาคมและในที่สาธารณะหรือส่วนตัว
  19. บุคคลมีสิทธิในเสรีภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะยึดมั่นในความเห็นโดยปราศจากการแทรกสอดและที่จะแสวงหารับ ตลอดจนแจ้งข่าว รวมทั้งความคิดเห็นโดยผ่านสื่อใดๆ และโดยมิต้องคำนึงถึงเขตแดน
  20. (1) บุคคลมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการชุมนุม และการสมาคมโดยสงบ (2) การบังคับให้บุคคลเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมจะทำมิได้
  21. (1) บุคคลมีสิทธิที่จะเข้าร่วมในรัฐบาลแห่งประเทศของตน ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยผู้แทนซึ่งผ่านการเลือกอย่างเสรี
    (2) บุคคลมีสิทธิเข้าถึงเท่ากันในบริการสาธารณะในประเทศของตน
    (3) เจตจำนงของประชาชนจะเป็นฐานแห่งอำนาจของรัฐบาล เจตจำนงนี้จะแสดงออกโดยการเลือกตั้งเป็นครั้งเป็นคราวอย่างแท้จริง ด้วยการให้สิทธิออกเสียงอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันและโดยการลงคะแนนลับหรือวิธีการลงคะแนนอย่างเสรีที่คล้ายคลึงกัน

     ข้อ 22 ในฐานะสมาชิกของสังคมด้วยความเพียรพยายามของชาติตลอดจนความร่วมมือระหว่างประเทศและโดยสอดคล้องกับการจัดระเบียบและทรัพยากรของแต่ละรัฐ บุคคลมีสิทธิในความมั่นคงทางสังคมและชอบที่จะได้รับผลแห่งสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมซึ่งจำเป็นต่อศักดิ์ศรีและการพัฒนาบุคลิกภาพอย่างเสรีของตน
     ข้อ 23 (1) บุคคลมีสิทธิที่จะทำงานที่จะเลือกงานอย่างเสรี ที่จะมีสภาวะการทำงานที่ยุติธรรมและพอใจ และที่จะได้รับความคุ้มครองจากการว่างงาน
              (2) บุคคลมิสิทธิในการรับค่าตอบแทนเท่ากันสำหรับการทำงานที่เท่ากัน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติใดๆ
              (3) บุคคลผู้ทำงานมีสิทธิในรายได้ซึ่งยุติธรรม และเอื้อประโยชน์เพื่อประกันสำหรับตนเองและครอบครัวให้การดำรงชีวิตมีค่าควรแก่ศักดิ์ศรีของมนุษย์ และถ้าจำเป็นก็ชอบที่จะได้รับความคุ้มครองทางสังคมอื่นๆ เพิ่มเติม
              (4) บุคคลมีสิทธิที่จะก่อตั้งและเข้าร่วมกับสหภาพแรงงานเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของตน
     ข้อ 24 บุคคลมีสิทธิในการพักผ่อนและเวลาว่าง รวมทั้งการจำกัดเวลาทำงานที่ชอบด้วยเหตุผลและมีวันหยุดครั้งคราวที่ได้รับค่าตอบแทน
     ข้อ 25 (1) บุคคลมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอสำกรับสุขภาพ และความอยู่ดีของตนและครอบครัว รวมทั้งอาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล และบริการสังคมที่จำเป็นและสิทธิในความมั่นคงในกรณีว่างงาน เจ็บป่วย ทุพพลภาพ เป็นหม้าย วัยชรา หรือการขาดปัจจัยในการเลี้ยงชีพอื่นใดในพฤติการณ์อันเกิดจากที่ตนจะควบคุมได้
              (2) มารดาและบุตรชอบที่จะได้รับการดูแลแลความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เด็กทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นบุตรในหรือนอกสมรสย่อมได้รับความคุ้มครองทางสังคมเช่นเดียวกัน
     ข้อ 26 (1) บุคคลมีสิทธิในการศึกษา การศึกษาจะเป็นสิ่งที่ให้เปล่าโดยไม่คิดมูลค่า อย่างน้อยที่สุดในขั้นประถมศึกษาและขั้นพื้นฐาน ขั้นประถมศึกษาให้เป็นการศึกษาภาคบังคับ ขั้นเทคนิคและขั้นประกอบอาชีพเป็นการศึกษาที่จะต้องจัดมีขึ้นโดยทั่วๆ ไป และขั้นสูงเป็นขั้นที่จะเปิดให้ทุกคนเท่ากันตามความสามารถ
              (2) การศึกษาจะมุ่งไปในทางพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์อย่างเต็มที่และเพื่อเสริมพลังเคารพต่อสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นมูลฐานให้แข็งแกร่ง ทั้งจะมุ่งเสริมความเข้าใจ ขันติ และมิตรภาพในระหว่างประชาชาติ กลุ่มเชื้อชาติ หรือกลุ่มศาสนา และจะมุ่งขยายกิจกรรมของสหประชาชาติเพื่อการธำรงสันติภาพ
              (3) ผู้ปกครองมีสิทธิก่อนผู้อื่นที่จะเลือกชนิดของการศึกษาสำหรับบุตรหลานของตน
     ข้อ 27 (1) บุคคลมีสิทธิที่จะเข้าร่วมการใช้ชีวิตทางด้านวัฒนธรรมในประชาคมอย่างเสรี ที่จะพึงใจในศิลปะและมีส่วนในความคืบหน้าและผลประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์
              (2) บุคคลมีสิทธิในการรับความคุ้มครองประโยชน์ทางด้านศีลธรรมและทางวัตถุอันเป็นผลได้จากการประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ วรรณกรรมและศิลปะซึ่งตนเป็นเจ้าของ
     ข้อ 28 บุคคลชอบที่จะได้รับประโยชน์จากระเบียบสังคมและระหว่างประเทศอันจะอำนวยให้การใช้สิทธิและเสรีภาพบรรดาที่ได้ระบุในปฏิญญานี้ทำได้อย่างเต็มที่
     ข้อ 29 (1) บุคคลมีหน้าที่ต่อประชาชนอันเป็นที่เดียวซึ่งบุคคิกภาพของตนจะพัฒนาได้อย่างเสรีและเต็มความสามารถ
              (2) ในการใช้สิทธิและเสรีภาพ บุคคลต้องอยู่ใต้เพียงเช่นที่จำกัดโดยกำหนดแห่งกฎหมายเฉพาะ เพื่อความมุ่งประสงค์ให้ได้มาซึ่งการยอมรับ และการเคารพโดยชอบในสิทธิ เสรีภาพของผู้อื่น และเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดอันยุติธรรมของศีลธรรม ความสงบเรียบร้อยของประชาชาติและสวัสดิการโดยทั่วๆ ไป ในสังคมประชาธิปไตย
              (3) สิทธิและอิสรภาพเหล่านี้ มิว่าจะด้วยกรณีใดจะใช้ให้ขัดกับความมุ่งประสงค์และหลักการของสหประชาชาติไม่ได้
     ข้อ 30 ข้อความต่างๆ ตามปฏิญญานี้ไม่เปิดช่องที่จะแปลความได้ว่าให้สิทธิใดๆ แก่รัฐ กลุ่มชนหรือบุคคลใดๆ ที่จะประกอบกิจกรรม หรือกระทำการใดๆ อันมุ่งต่อการทำลายสิทธิและเสรีภาพใดๆ บรรดาที่ได้ระบุไว้ในบทบัญญัติฉบับนี้

สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย 

            อาจกล่าวได้ว่า "สถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยยังน่าห่วง" (https://goo.gl/UJ8TAl) "จนถึงปัจจุบันก็ยังพบว่ามีเหยื่อการละเมิดสิทธิ์ โดยเฉพาะถูกละเมิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ปรากฏอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้คนในครอบครัวและบุคคลใกล้ชิดได้รับความเดือดร้อน ไม่ได้รับความเป็นธรรม. . .บุคคลที่ออกมาเรียกร้องในกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยการอุ้มฆ่า อุ้มหาย สิ่งที่น่าเป็นกังวลสำหรับการแก้ไขปัญหานี้. . .สิ่งที่เป็นเป้าหมายหลังจากนี้คือจะต้องตรวจสอบเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิ์ของชาวบ้าน และเสนอความจริงผ่านการทำรายงานอย่างรวดเร็ว และยกระดับสู่มาตรฐานสากล"

            ในสถานการณ์ที่มีรัฐประหารในประเทศไทย และมีรัฐบาลจากการรัฐประหารล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 255 ย่อมทำให้เกิดปัญหาสิทธิมนุษยชน เพราะภายใต้ระบอบรัฐประหาร สิทธิของประชาชนในด้านต่าง ๆ ย่อมจำกัดลง และส่งผลต่อภาคธุรกิจในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการค้าขายกับต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศตะวันตกที่ไม่ยินดีกับการไม่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ภาวะที่จะมีการเลือกตั้งในอนาคตก็จะส่งผลบวกต่อประเทศ ดังเช่นหลังการเลือกตั้งในเมียนมา ก็ทำให้เศรษฐกิจเติบโต

สิทธิมนุษยชนกับวิสาหกิจเอกชน

            หลายท่านอาจจะงงว่าสิทธิมนุษยชนเกี่ยวอะไรกับ CSR แต่ในความเป็นจริง สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องหัวใจของการมี CSR หากนายจ้างหรือวิสาหกิจใดไม่ตระหนักถึงศักดิ์ศรี และความเท่าเทียมกันของความเป็นมนุษย์ วิสาหกิจนั้น ๆ จะถือตนว่ามี CSR ได้อย่างไร การมี CSR ต้องยึดถือสิทธิมนุษยชนที่เคารพ:

            1.  ความเท่าเทียมกันในแง่ศักดิ์ศรีและสิทธิของมนุษย์ (ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจของเรา) ที่จะละเมิดไม่ได้ ทั้งด้านชาติพันธุ์ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดทางการเมือง ภูมิลำเนา ชนชั้น ทรัพย์สิน ฯลฯ
            2.  ชีวิตและการปลอดจากการกดขี่ ขูดรีด เอารัดเอาเปรียบ การทารุณทั้งทางร่างกายหรือจิตใจ ตามที่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
            3.  เสรีภาพของบุคคล สิทธิความเป็นส่วนตัว หรือต่อการถือครองทรัพย์สิน การยึดถือความเชื่อต่าง ๆ รวมถึงการชุมนุมอย่างสงบโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย และไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น
            4.   สิทธิในเชิงเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ซึ่งรวมถึงการมีงานทำ การจ้างงานอย่างเป็นธรรม เท่าเทียมโดยไม่แบ่งแยก รวมทั้งการมีสิทธิรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ในหมู่ ลูกจ้าง เป็นต้น

            การมี CSR จึงต้องเคารพสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นแนวคิดพื้นฐานสากลที่ได้รับการยอมรับกันทั่วโลก และปฏิบัติทั้งภายในวิสาหกิจและในกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยนัยนี้ วิสาหกิจที่มี CSR จึงต้อง:

            1.  ดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบของกฎหมายโดยเคร่งครัด เพราะสังคมหรือวิสาหกิจที่ยึดหลักสิทธิมนุษยชนย่อมมีเสถียรภาพและมีสภาพแวดล้อมที่เป็นคุณต่อธุรกิจนั้น ๆ
            2.  การใส่ใจสิทธิผู้บริโภคในด้านต่าง ๆ รวมทั้งการรับรู้ข่าวสาร
            3.  การขยายผลด้านสิทธิมนุษยชนต่อคู่ค้าที่เป็นผู้จัดหาวัตถุดิบและบริการ โดยมุ่งส่งเสริมให้คู่ค้าร่วมปฏิบัติตามหลักการนี้ด้วย
            4.  เคารพสิทธิของลูกจ้างโดยเคร่งครัดเพื่อให้การบริหารธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น และสร้างสรรค์

สิ่งที่วิสาหกิจจะสามารถดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมได้แก่:

            1.  การประกาศนโยบายด้าน ‘สิทธิมนุษยชน’ ภายในองค์กร
            2.  การพัฒนาระบบการจัดการด้านความปลอดภัยและสุขภาพแก่พนักงาน เช่น น้ำดื่มสะอาด และจัดสภาพแวดล้อมที่ดี เป็นต้น
            3.  การจัดอบรมพนักงาน ให้ตระหนักถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนที่จะมีผลต่อการประกอบกิจการ
            4.  ประเมินผลและพัฒนากิจกรรมส่งเสริมศักยภาพและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของพนักงานเป็นระยะ ๆ

            วิสาหกิจพึงระวังการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งทางตรง เช่น เป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนของพนักงานหรือของชุมชนโดยรอบ หรือเป็นในลักษณะที่ได้ประโยชน์จากการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การรับแรงงานผิดกฎหมายมาทำงานเพื่อให้ตนมีต้นทุนที่ต่ำกว่า รวมถึงการวางเฉยต่อการเล่นพรรคเล่นพวก เลือกที่รักมักที่ชังภายในวิสาหกิจอีกด้วย

แรงงานกับสิทธิมนุษยชน

            คนทั่วไปอาจมองการก่อตั้งสหภาพแรงงานเป็นเรื่องรุนแรง น่ากลัว น่าหงุดหงิด ฯลฯ แต่การยอมให้พนักงานได้มีสิทธิและเสียงในการแสดงออกนี้ ทำให้เกิดความเข้าใจและนับถือกัน ลดช่องว่างระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง เราต้องมองในแง่ดีว่าการรวมตัวของพนักงานย่อมก่อให้เกิดพลังสร้างสรรค์ ช่วยเพิ่มพูนรายได้ และเสริมสร้างประสิทธิภาพแรงงานมากกว่าการให้พนักงานไปเสพสุขชั่ววูบจากการติดยาเสพติดหรือการพนัน

            การที่พนักงานมีพลังการต่อรอง ย่อมทำให้เขามีเกียรติและศักดิ์ศรีที่จะพัฒนาตนเอง นายจ้างจะคาดหวังให้ลูกจ้างมองตนเป็น ‘คุณพ่อแสนดี’ ที่ยินดีตอบสนองแก่ลูกจ้างโดยไม่จำเป็นเรียกร้องไม่ได้ เราต้องเชื่อถือพลังสามัคคีของบุคคลและมติของ ‘มหาชน’ มากกว่าปัจเจกบุคคลใดโดยเฉพาะ

            หากนายจ้างไม่ได้มุ่งหวังที่จะขูดรีดหรือเอาเปรียบลูกจ้างแล้ว ก็ยิ่งไม่ต้องกลัวพลังการต่อรองของลูกจ้าง และยิ่งหากนายจ้างให้สวัสดิการตามสมควร (ในด้านความปลอดภัย ค่าจ้าง วันลา การจ่ายเงินล่วงเวลา การรักษาพยาบาล ฯลฯ) บางทีการก่อตั้งสหภาพแรงงานอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นหรืออยู่ในห้วงคำนึงของลูกจ้างด้วยซ้ำไป เพราะลูกจ้างก็ต้องมีต้นทุนในการก่อตั้งเพื่อผลประโยชน์ของตนเช่นกัน

สิ่งที่จะสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมได้แก่:

            1.  การจัดหาสถานที่ให้พนักงานได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านแรงงาน และให้มีกระบวนการร้องเรียนอย่างเหมาะสมเมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรม
            2.  การใช้ข้อเรียกร้องและการเจรจาต่อรองของลูกจ้างเป็นแนวทางในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานให้ลูกจ้างมีประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้น
            3.  การจัดกิจกรรมสานสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างอย่างสร้างสรรค์ต่อเนื่องเพื่อลดช่องว่าง และเพิ่มศักยภาพในการทำงาน

            สำหรับประเด็นการบังคับใช้แรงงาน แรงงานเด็ก หรือแรงงานทาสนั้น ถือเป็นการขูดรีดแรงงาน เป็นอาชญากรรมทางกฎหมายต่อบุคคลและเป็นการทำความเสียหายต่อประเทศชาติมักเกิดขึ้นในวิสาหกิจที่เป็นโรงงาน การใช้แรงงานที่ไม่เต็มใจ หรือแม้แต่การ ‘ทำงานขัดดอก (เบี้ย)’ เช่นนี้ย่อมทำให้ประสิทธิภาพงานต่ำ แม้ค่าจ้างอาจจะต่ำ แต่ก็ส่งผลต่อต้นทุนที่สูงขึ้นในทางด้านอื่น และเสี่ยงต่อการเสียชื่อเสียงและการกระทำผิดกฎหมาย

            นายจ้างหรือเจ้าของวิสาหกิจพึงตระหนักว่า ลูกจ้างมีสิทธิที่จะทำงานต่อหรือลาออกจากงานได้ตามกฎหมาย จะไปบังคับใช้แรงงานไม่ได้ ระยะเวลาในการร่วมงานของลูกจ้างขึ้นอยู่กับความสามารถของนายจ้างเองในการดึงดูดให้ลูกจ้างร่วมงานอยู่ต่อได้นานและสร้างสรรค์เพียงใด

            งานที่มีคุณภาพและมีปริมาณมากขึ้น มักได้มาจากแรงงานที่เต็มใจทำงานเป็นอันดับแรก การที่นายจ้างกระทำผิดกฎหมายด้วยการบังคับใช้แรงงานหรือใช้แรงงานเด็กราคาถูก อาจทำให้นายจ้างต้อง ‘ได้ไม่คุ้มเสีย’

            วิสาหกิจที่มี CSR ต้องไม่กีดกันการจ้างงาน อาชีพ และความก้าวหน้าในการทำงานโดยพิจารณาจากชาติพันธุ์ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง ภูมิลำเนา หรือชนชั้น เป็นต้น การกีดกันนี้อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่การไม่จ้างแรงงานหญิงหรือจ้างในราคาถูกพิเศษในไร่นา จนถึงธุรกิจคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยที่อาจกีดกันหรือเลือกปฏิบัติต่อพนักงานตามสถาบันที่จบมาหรือภูมิลำเนาเดิม

            การไม่กีดกันหรือเลือกปฏิบัติก็คือการที่ลูกจ้างได้รับการคัดเลือกหรือส่งเสริมให้เติบโตในหน้าที่การงานตามความสามารถในงาน โดยหลักแล้ว ธุรกิจไม่พึงกีดกันแรงงานเพราะเราควรคัดเลือกกันตามสามารถที่จะหนุนช่วยธุรกิจกันมากกว่า ดังนั้นจึงควรกำหนดเงื่อนไขการจ้างงานอย่างเป็นธรรม ให้พนักงานได้รับค่าตอบแทนตามศักยภาพ

            เครื่องวัดว่าวิสาหกิจใดปฏิบัติต่อลูกจ้างอย่างเหมาะสมหรือไม่ ก็ดูที่การปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานอย่างเคร่งครัด การยินดีช่วยเหลือหากลูกจ้างไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือการไม่อาศัยช่องโหว่ของกฎหมายเอาเปรียบลูกจ้าง

            นอกจากนี้ วิสาหกิจยังพึงส่งเสริมให้ลูกจ้างได้มีโอกาสที่เท่าเทียมกันในการการพัฒนาทักษะ การศึกษาต่อเนื่อง หรือการศึกษาในสถาบันการศึกษาชั้นสูงเพิ่มขึ้น การทำนุบำรุงลูกจ้างเช่นนี้ ย่อมจะทำให้เกิดประสิทธิภาพการผลิตสูงขึ้น ส่งผลดีต่อวิสาหกิจในที่สุด

บทสรุปและข้อเสนอแนะ

            สิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นหลักของการทำให้ประเทศมีความศิวิไลซ์ มีอารยธรรม ถ้าประเทศขาดสิทธิมนุษยชน เกียรติภูมิก็จะไม่ดี ความสามารถในการแข่งขันก็จะจำกัด ภาครัฐจึงเป็นตัวหลักในการจัดการสิทธิมนุษยชน ส่วนในภาคเอกชนมักจะปรากฏปัญหาในส่วนของการใช้แรงงานคนต่างด้าวอย่างผิดกฎหมาย หรือไม่ได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษ ตลอดจนปัญหาในรายละเอียด เช่น การล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้น

            ประเด็นที่สำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือการเฝ้าระวังเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง (Human Rights Due Diligence) สิทธิมนุษยชนมักจะเป็นเพียงสิ่งที่เขียนไว้เฉย ๆ ในกระดาษ หากไม่มีการตรวจสอบเฝ้าระวังกันอย่างจริงจัง หรือมีการเฝ้าระวังกันแต่ในเชิงรูปแบบเท่านั้น ก็ไม่อาจทำให้เราใช้ประเด็นสิทธิมนุษยชนในการพัฒนาประเทศ และดูแลการแรงงานและประชาชนโดยรวมได้ การที่จะมีการเฝ้าระวังอย่างจริงจัง ก็ต้องอาศัยการมีตัวแทนของภาคประชาชนเข้าร่วม ตัวแทนเหล่านี้พึงได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ไม่ใช่ให้ส่วนราชการแต่งตั้งคนใกล้ชิด ซึ่งก็เป็นเพียง "ปาหี่" เท่านั้น

            การดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ดีในแง่ของการเคารพสิทธิมนุษยชนโดยเคร่งครัดและตรวจสอบได้ ย่อมเป็นการสร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้บริการ และสังคมโดยรวม เป็นการสร้างแบรนด์ได้อย่างหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจมีมูลค่าเพิ่มกลายเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตน (Intangible Assets) มากกว่าเฉพาะจากตัวอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ แต่ได้จากการมีคุณภาพ และทำให้ธุรกิจมีความยั่งยืนในที่สุด

            การดูแลสิทธิมนุษยชนให้ได้ดี ย่อมทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยดีขึ้น ควรเริ่มต้นที่ภาครัฐให้มีประชาธิปไตย และดูแลภาคเอกชนไม่ให้เอาเปรียบผู้ใช้แรงงานในวิสาหกิจของตน แล้วร่วมกันสร้างสรรค์บรรยากาศการทำงานที่ดีเพื่อผลิตภาพที่ดี


อ่าน 5,916 คน
2025 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved