สร้างคุกเพิ่ม แทนการปล่อยคนคุก
  AREA แถลง ฉบับที่ 491/2559: วันอังคารที่ 27 ธันวาคม 2559

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

           ครั้งหนึ่ง ดร.โจเซฟ สติกลิตซ์ ศาสตราจารย์ที่มีชื่อเสียง ได้มาบรรยายในประเทศไทย ดร.โสภณ พรโชคชัย มองต่างมุมจากแนวคิดของอาจารย์ท่านนี้หลายประการ สิ่งที่ท่านเสนอจะสามารถนำไปใช้ได้จริง หรือจะพาเราเข้ารกเข้าพงหรือไม่
           ดร.สติกลิตซ์ (Prof.Joseph Stiglitz) (http://bit.ly/2ixWzCm) เป็นศาสตราจารย์ชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียง เคยเป็นหัวหน้าเศรษฐกรของธนาคารโลก เกิดเมื่อปี 2487 (อายุ 73 ปี) มีแนวคิดแบบพรรคเดโมแครต เคยสอนที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในนครนิวยอร์ก รัฐบาลอภิสิทธิ์เคยเชิญมาเป็นที่ปรึกษา และ ดร.โสภณ เคยวิพากษ์แนวคิดของ ดร.สติกลิตซ์ (http://bit.ly/1Prh1hG)
           ประเด็นที่ขอยกมาวิพากษ์ในที่นี้ก็คือเรื่องคุก ท่านบอกว่า สหรัฐอเมริกามีจำนวน ‘คนคุก’ สูงที่สุดในโลก จากข้อมูลของ http://bit.ly/2iy1bZ4 พบว่า สหรัฐอเมริกามีคนคุกสูงถึง 738 คนต่อประชากร 100,000 คน สิงคโปร์อยู่อันดับที่ 15 มี 350 คน ส่วนไทยอยู่อันดับที่ 32 มี 256 คน ท่านตั้งสมมุติฐานว่าประเทศที่มีคนคุกในสัดส่วนน้อยแสดงว่ามีความสุขในสังคมมากกว่า หากพิจารณาดูตัวเลขเพียงเท่านี้ก็อาจคล้อยตามอาจารย์ท่านได้ว่า สหรัฐอเมริกามี GDP สูง แต่สังคมไม่สงบเพราะมีคนคุกมาก
           แต่ในความเป็นจริง หากเรามาพิจารณาประเทศที่มีคนคุกจำนวนน้อยที่สุดในโลก จะพบว่าส่วนใหญ่เป็นประเทศ ‘ด้อยพัฒนา’ และไม่ปลอดภัยในการอยู่อาศัย เช่น แองโกลา คองโก ซูดาน ชาด มาลี แกมเบีย อินเดีย ไนจีเรีย ฯลฯ มีใครอยากไปอยู่ประเทศเหล่านี้ไหม ความจริงที่พึงทราบประการหนึ่งก็คือ การกวาดเก็บอาชญากรไว้ในคุกย่อมดีกว่าปล่อยให้เดินเล่นอยู่บนถนนทั่วไป
           จึงเป็นที่น่าตกใจที่อาจารย์ท่านนี้กล่าวว่า การใช้จ่ายเงินเพื่อการสร้างคุกไม่ควรถือเป็นเครื่องวัดใน GDP ทั้งที่การก่อสร้างซึ่งไม่ว่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างใด ๆ ก็ก่อให้เกิดการจ้างงาน แสดงผลิตภาพ และที่สำคัญเป็นกิจกรรมหนึ่งใน GDP ที่ทำให้เกิด “มูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตได้ภายในประเทศในระยะเวลา 1 ปีที่กำหนดไว้” นั่นเอง นี่แสดงว่าขนาดศาสดาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ยังมีความสับสนในความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ขั้นพื้นฐาน
           ในกรณีที่พื้นที่ในคุกมีจำกัดทำให้ประชากรคนคุกต่อตารางเมตรสูงมากในกรณีประเทศไทยนั้น แทนที่เราจะอ้างข้อนี้เพื่อนำคนคุกออกมาอยู่ในสังคมโดยที่พวกเขายังไม่ได้รับการเตรียมพร้อมเท่าที่ควร เราควรที่จะสร้างคุกเพิ่มมากกว่า เพราะค่าใช้จ่ายในการดูแลพวกเขาในคุกน่าจะต่ำกว่าต้นทุนค่าความเสียหายที่ปล่อยให้พวกเขาออกมาก่ออาชญากรรมในสังคมเสียอีก
           จากการสอบถามผู้เกี่ยวข้อง ทราบว่าผู้พ้นโทษย้อนกลับมาติดคุกใหม่ 12% ทั้งนี้นับเฉพาะผู้ที่ใช้ชื่อ-นามสกุลเดียวกัน และซ้ำคุกเดิม ไม่นับรวมผู้ที่ใช้ชื่อ-นามสกุลปลอม และติดคุกอื่น (ยังไม่มีระบบฐานข้อมูลหรือพิมพ์ลายนิ้วมือร่วมทุกคุก) นอกจากนี้ยังไม่รวมพวกติดคุกเพราะอารมณ์ชั่ววูบ หากนับเฉพาะพวกค้ายาเสพติดที่ยังอาจเกี่ยวเนื่องกับการปล้นจี้ลักทรัพย์ การติดคุกซ้ำอาจสูงถึงหนึ่งในสามก็ได้ แสดงว่าการปล่อยคนคุก อาจไม่ใช่ทางแก้ที่ดี
           อย่างไรก็ตามในการปล่อยตัวคนคุกออกมาก็ย่อมมีคนดีๆ หรือคนทีมีคุณสมบัติให้ออกจากคุกอยู่เช่นกัน แต่ก็มักมีข่าวคนที่ออกมาก่ออาชญากรรมอยู่บ่อยๆ สำหรับการบริหารจัดการคุก ยังมีการให้ภาคเอกชนมาดำเนินการแทนการผูกขาดโดยหน่วยงานรัฐ การแข่งขันกันให้บริการ จะพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการคุกได้ดีขึ้น ให้เป็นประโยชน์ต่อทั้งทางราชการ คนคุก และสังคมส่วนรวม

           ถ้าหลักคิดในการวางแผนชาติผิด ก็เหมือนติดกระดุมเม็ดแรกผิด ก็จะผิดไปโดยตลอด

อ่าน 3,722 คน
2025 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved