สุดดรามา ค้านขยาย ทล.12 ผ่านป่าน้ำหนาว
  AREA แถลง ฉบับที่ 499/2559: วันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม 2559

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            วันก่อนมีข่าว พล.อ.ประวิตร “หักดิบ” ไม่ขยายถนน ทล.12 เพื่อสัตว์ป่าและป่าไม้ ได้ใจพวกเอ็นจีโอ นี่เป็นการตัดสินใจที่เหมาะสมแล้วหรือไม่

            เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2559 มีข่าว “"พล.อ.ประวิตร" เบรกขยายถนนตัดป่าน้ำหนาว สั่งหาเส้นทางใหม่ที่ไม่กระทบอุทยานฯ-สัตว์ป่า” (https://goo.gl/2pwKdP) ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตรเป็นประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ “เบรก” โครงการขยายถนนหมายเลข 12 จาก 2 เลนเป็น 4 เลน เส้นทางหล่มสัก-คอนสาร ซึ่งตัดผ่านอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ ระยะทาง 43 กิโลเมตร ที่คัดค้านโดยกลุ่มเอ็นจีโออนุรักษ์ และกรมอุทยานฯ

            รุ่งขึ้น (29 ธันวาคม 2559) ก็มีข่าว “เปิดทางเลือกขยายถนนผ่านอุทยานฯ น้ำหนาว ไกลกว่าแต่ไม่กระทบป่าไม้” (https://goo.gl/NCrljX) โดยกลุ่มเอ็นจีโอออกมาเสนอให้กรมทางหลวงเปลี่ยนมาขยายทางหลวงหมายเลข 2216 แทน เนื่องจากเป็นเส้นทางที่ไม่ผ่านผืนป่าและมีระยะทางไกลกว่าเดิมเพียง 50 กิโลเมตร ข้อเสนอข้างต้นไม่เป็นจริง เป็นเพียงการเบี่ยงประเด็น เพราะ ทล.12 นี้เป็นเส้นเชื่อมระหว่างประเทศเมียมาผ่านแม่สอด ไปถึงมุกดาหารจนออกดานัง เป็นเส้นทางสายเอเชีย และเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติ กลับให้เบนไปตามเส้นทางอื่นคือเส้นห้วยสนามทราย-หล่มเก่า (ทล.2216)

            สำหรับ ทล.12 (https://goo.gl/r55qyr) หรือ “ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 สายแม่สอด (เขตแดน)–มุกดาหาร เป็นทางหลวงแผ่นดินสายรองประธานที่เป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญที่เชื่อมระหว่างภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย สายทางเริ่มต้นที่สะพานมิตรภาพไทย-พม่า อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และสิ้นสุดที่อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร มีระยะทางตลอดทั้งสายรวม 793.391 กิโลเมตร อีกทั้งรัฐบาลยังวางแผนให้เป็นหนึ่งในถนนสายเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ที่เชื่อมระหว่างเมืองเมาะลำเลิง ประเทศพม่า และเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม นอกจากนี้เส้นทางหลวงแผ่นดินสายนี้ยังถือเป็นทางหลวงสายเอเชีย ได้แก่ ทางหลวงเอเชียสาย 1 และทางหลวงเอเชียสาย 16 อีกด้วย”

            หากให้อ้อมไป 50 กิโลเมตร ในแต่ละกิโลเมตรที่อ้อมไป เสียเงิน 3 บาท เป็นค่าน้ำมันและค่าซ่อมแซม หากรวมค่าเสียเวลาและโอกาสรวมเป็นเงิน 10 บาทต่อกิโลเมตร และหากมีรถผ่านวันละ 50,000 คัน ก็เป็นความสูญเสียปีละถึง 9,125 ล้านบาทต่อปี หากแปลงเป็นมูลค่าด้วยอัตราผลตอบแทนที่ 5% ก็เป็นเงินสูงถึง 182,500 ล้านบาท  ความสูญเสียของชาติและประชาชนอย่างนี้ พวกเอ็นจีโอไม่เคยสำเนียกได้เลย

            ปีหนึ่งๆ ป่าสูญเสียไปประมาณ 1 ล้านไร่ แทบไม่เคยมีการแก้ไขอะไรได้ แต่การตัดถนนเพียงเท่านี้ กลับกลายเป็นเรื่อง “ดรามา” ทั้งที่เป็นยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องขยายถนนและทำรั้วห้ามสัตว์และโดยเฉพาะผู้บุกรุกป่าใช้เป็นทางเข้าออก โดยมีทางเลือกในการดำเนินการที่ควรพิจารณาก็คือ


การเพิ่มพื้นที่ป่าโดยรอบ โดยให้ชาวบ้านออกจากป่า ให้มีป่าเพียง แล้วให้ถนนเป็นเส้นแบ่ง มีแนวกั้นห้ามสัตว์ป่าเดินผ่าน เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายแก่ทั้งสัตว์ป่าและประชาชนผู้สัญจร
 


การก่อสร้างสะพานข้ามถนนขนาดใหญ่ให้กับสัตว์ป่าไว้ข้ามได้เป็นระยะ โดยไม่ให้เกิดอันตรายต่อสัตว์ป่าและประชาชนผู้สัญจร



การก่อสร้างอุโมงค์ให้สัตว์ลอดผ่านเป็นระยะ ๆ บนถนนดังกล่าว

            และหากมีความจำเป็นอาจศึกษาสร้างทางหลวงพิเศษแบบยกระดับอยู่เหนือพื้นที่ป่า และตัดถนนเป็นเส้นตรง เพื่อลดอุบัติเหตุ ทำให้การจราจรคล่องตัว และไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์ป่า หากอ้างอิงตามทางด่วนบูรพาวิถี (บางนา-บางปะกง) ระยะทาง 68 กิโลเมตร ก็มีค่าก่อสร้าง 50,000 ล้านบาท ในกรณี ทล.12 นี้ ระยะทาง 43 กิโลเมตร หากวัดเป็นเส้นตรง อาจเหลือระยะทางเพียง 30 กิโลเมตร

            ค่าก่อสร้างทางด่วนที่ 735 ล้านบาทต่อกิโลเมตร ณ ปี 2542 (https://goo.gl/Nzi69p) ณ ปัจจุบันอาจเป็นเงิน 1,145 ล้านบาท และหากสร้างในป่าเขาอาจมีค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้น 20% เป็นเงิน 1,374 ล้านบาท ดังนั้น ณ ระยะทาง 30 กิโลเมตร จึงเป็นเงินค่าก่อสร้าง 41,2200 ล้านบาท  ถ้ามีการก่อสร้างทางยกระดับนี้ รัฐบาลก็อาจพิจารณาปิดถนนสายเดิม ห้ามผู้บุกรุกป่าเข้าออก และให้สัตว์ป่าได้อยู่กันอย่างผาสุกต่อไป

            ราชการควรคิดเชิงปฏิวัติ (อภิวัฒน์) ประเทศ เพื่อประโยชน์ต่อทั้งคน สัตว์ และสิ่งของ ไม่ใช่เพียงหาเสียงกับสิงสาราสัตว์

อ่าน 8,010 คน
2025 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved