เลิกเสียที เขตคุมความสูง 45 เมตรรอบสนามบินดอนเมือง
  AREA แถลง ฉบับที่ 5/2560: วันอังคารที่ 03 มกราคม 2560

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            เพื่อเพิ่มพื้นที่การพัฒนาเมือง รัฐบาลควรยกเลิกเขตความคุมความสูงระยะ 45 เมตรรอบสนามบินดอนเมืองได้แล้ว การบินปลอดภัยแน่นอน ดูได้จากสนามบินอื่น

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ชี้ว่ากรณี "ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐" ก่อสร้างอย่างหลวม ๆ คือมีที่ว่างมากมาย และมีความสูงไม่มาก ดูแล้วน่าเสียดายพื้นที่ยิ่งนัก ทำไมจึงสร้างพื้นที่เพียงเท่านี้ คำตอบสำคัญก็คือพื้นที่นี้อยู่ในเขตปลอดภัยทางอากาศ สามารถสร้างสูงได้ไม่เกิน 45 เมตร ประเด็นการควบคุมความสูงจึงเป็นส่วนหนึ่งของข้อพึงพิจารณา

ภาพที่ 1: ศูนย์ราชการฯ อยู่ห่างจากท้ายรันเวย์ของสนามบินดอนเมืองถึง 4.61 กิโลเมตร

 

            แน่นอนว่าเราต้องมีการควบคุมความสูงสำหรับการจราจรทางอากาศ แต่คำถามก็คือ การควบคุมดังกล่าวเข้มงวดเกินไปหรือไม่ โดยที่ศูนย์ราชการฯ อยู่ห่างจากท้ายรันเวย์ของสนามบินดอนเมืองถึง 4.61 กิโลเมตร แต่เรากลับให้สร้างสูงอาคารสูงได้เพียง 45 เมตร ออกจะเป็นการควบคุมที่เข้มงวดเกินไป และเขตความปลอดภัยทางอากาศเป็นวงกว้างกินพื้นที่นับร้อยตารางกิโลเมตรเลยทีเดียว

ภาพที่ 2: อาคารอื่นที่ตั้งอยู่ใกล้สนามบินดอนเมืองยิ่งกว่า ก็ยังสร้างได้ค่อนข้างสูง

 

            หากเทียบกับสนามบินเชียงใหม่ จะเห็นได้ว่าบริเวณใกล้เคียงมีเทือกเขาสูงใหญ่คือดอยสุเทพ แต่ก็ยังสามารถสร้างสนามบินได้โดยแทบไม่มีอุบัติเหตุทั้งที่มีเที่ยวบินถึงเกือบ 40,000 เที่ยวต่อปี และเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ.2482 หรือ 75 ปีมาแล้ว สนามบินแห่งนี้ตั้งอยู่เหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 316 เมตร และหากคิดจะระยะทางอยู่ห่างจากสนามบินเกิน 45 เมตร ก็จะห่างออกไปเพียง 1.33 กิโลเมตรเท่านั้น ในขณะที่ศูนย์ราชการฯ ที่มีความสูงเพียง 45 เมตร ตั้งอยู่ห่างจากดอนเมืองถึง 4.61 กิโลเมตร

 

ภาพที่ 3: ทัศนียภาพสนามบินเชียงใหม่ตั้งอยู่ใกล้ๆ ดอยสุเทพ

 

            ในอีกแง่หนึ่ง หากพิจารณาจากความสูงของดอยสุเทพ ณ ระดับที่สามารถสร้างตึกสูงเท่าตึกใบหยก 2 ซึ่งเป็นตึกที่สูงที่สุดในประเทศไทย (สูง 304 เมตร) ก็จะอยู่ในระยะทางประมาณ 2.7 กิโลเมตรจากหัวของสนามบินเชียงใหม่เท่านั้น คือ ณ ความสูง 620 เมตร (316 เมตร ณ ระดับความสูงของสนามบิน บวกด้วยความสูงของอาคารใบหยก 2 ที่ 304 เมตร) และเมื่อวัดไปถึงพระธาตุดอยสุเทพ ก็อยู่ห่างจากสนามบินเชียงใหม่เพียง 5.26 กิโลเมตรเท่านั้น ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า การควบคุมความสูงของสนามบินดอนเมือง ออกจะควบคุมเข้มงวดเกินไปจริงๆ

 

ภาพที่ 4: การวัดระยะทางจากหัวสนามบินเชียงใหม่ไปยังดอยสุเทพ

 

            ยิ่งหากพิจารณาถึงสนามบินไคตัก ซึ่งเป็นสนามบินของฮ่องกง ยิ่งเห็นความแตกต่างที่ชัดเจน สนามบินไคตัก เริ่มใช้งานในปี 2468 ถึงปี 2541 รวมระยะเวลา 73 ปี แต่ต้องปิดตัวเองไปเพราะความแออัดอย่างยิ่งยวดของการจราจรทางอากาศ สนามบินแห่งนี้ถือเป็นจุดเด่นของการท่องเที่ยวฮ่องกงในสมัยก่อนก็ว่าได้ เพราะเครื่องบินๆ ต่ำมาก จนดูคล้ายจะชนอาคาร แต่ก็แทบไม่เคยมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ณ สนามบินแห่งนี้เลย กรณีสนามบินไคตักนี้อาจถือเป็นประจักษ์หลักฐานสำคัญหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าการจำกัดความสูงที่เข้มงวดจนเกินไป ถือเป็นการดำเนินการที่เกิดเหตุจริงๆ

 

ภาพที่ 5: ภาพเครื่องบินๆ อยู่ในระดับต่ำ ณ สนามบินไคตัก (http://i.imgur.com/uTglBzi.jpg)

 

            เทคโนโลยีการบินไปไกลแล้ว กฎระเบียบราชการที่ล้าหลัง ควรแก้ไขโดยคำนึงถึงประโยชน์ของชาติ แต่ข้าราชการประจำอาจไม่คิดถึงข้อนี้ เพราะเคยชินกับการออกคำสั่งดั่ง "ปกาศิต" แล้วแก้ไขไม่ได้ ไม่ใครอยาก "เอากระพรวนไปผูกคอแมว" ประชาชนจึงเสียประโยชน์ เมืองจึงขยายตัวอย่างไร้ระเบียบ แทนที่จะสร้างความหนาแน่นของเมือง เมืองก็กลับต้องแผ่ขยายออกไปรอบนอกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทรัพยากรก็กระจายออกไปอย่างไรทิศผิดทาง กลายเป็นการสร้างปัญหามากกว่าแก้ไขปัญหา

 

            คิดใหม่เพื่อชาติและประชาชนได้แล้ว

อ่าน 10,528 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved