พล.อ.ประยุทธ์ไม่ทราบว่าพระพุทธเจ้าสอนให้รวย
  AREA แถลง ฉบับที่ 15/2560: วันศุกร์ที่ 06 มกราคม 2560

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            นายกฯ ถามไม่เคยเห็นวัดไหนสอนให้คนรวยแบบธรรมกาย ดร.โสภณ ตอบ มีหลวงพ่อคูณและทุกวัดเลย ย้อนแล้วมีวัดไหนสอนให้จนไหม ความมั่งคั่งร่ำรวยไม่ใช่ผิดบาป นายกฯ ก็สุดร่ำรวย


ที่มา: http://bit.ly/2iKsL2U

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ขออนุญาตถกเรื่องความมั่งคั่ง โดยมีสมติฐานว่า คนที่มั่งคั่งมักไม่โกง คนที่โกงมักขาดแคลน และขออนุญาตยกคำสอนของพระศาสดา รวมทั้งกิจของสงฆ์วัดต่าง ๆ ที่สอนให้คนรวย ไม่เป็นภาระแก่ใคร ความรวย (Wealth) ไม่ใช่บาปเคราะห์ แต่ก็เป็นสิ่งน่าละอายที่จะตายอย่างมั่งคั่งโดยไม่รู้จักแบ่งปันให้ทานแก่บุคคลอื่น

            ตามข่าวเกี่ยวกับการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีถามว่า ""บิ๊กตู่"หาเวลาเหมาะจับ"ธัมมี่"เฉ่งพระสอนให้คนรวยก็มีด้วย" (http://bit.ly/2hWmN1q, http://bit.ly/2hPvkOW, http://bit.ly/2j9QPLf หรือฟังเสียงนายกฯ ได้ที่ http://bit.ly/2hWzIvL) ประเด็นนี้:

            1. แม้ว่านิพพานและการหลุดพ้นจะเป็นสิ่งสูงสุดที่พระพุทธเจ้าสอน แต่สำหรับชีวิตคฤหัสถ์หรือผู้ครองเรือน พระองค์สอนเรื่อง "คฤหัสถ์ 4" หรือความสุขของผู้ครองเรือน 4 อย่าง (http://bit.ly/2hZ7jKc)

            1.1 อัตถิสุข สุขเกิดจากความมีทรัพย์ คือมีทรัพย์ที่หามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตน ที่หามาโดยสุจริต ขอบธรรม เมื่อมีทรัพย์แล้วก็ทำให้ภาคภูมิใจ เอิบอิ่มใจไม่เดือดร้อนใจ

            1.2 โภคสุข สุขเกิดแต่การใช้จ่ายทรัพย์ที่หามาได้ คนที่มีทรัพย์อยู่ในมือแล้วย่อมสบายใจ เอิบอิ่มใจ เมื่อเวลาที่ต้องการจะใช้ ก็สามารถจะเอามาใช้ได้ ไม่ขาดแคลน ข้อที่ว่าสุขเกิดแต่การใช้จ่ายทรัพย์ได้ตามต้องการนี้ รู้สึกคนไทยทุกคนจะซาบซึ้งใจกันดี เพราะคนไทยเป็นนักจ่าย เห็นอะไรก็อยากได้อยากซื้อไปหมด ถ้าไม่มีเงินคงไม่เป็นสุขแน่เทียว

            1.3 อนณสุข สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้ ถ้าเราเป็นหนี้ ต้องขวนขวายหาเงินมาใช้หนี้เขา จะหาความสุขได้อย่างไร ยิ่งเวลาที่ต้องส่งเงินต้นหรือดอกเบี้ย แต่ไม่มีจะส่ง ยิ่งเป็นทุกข์ใจมาก เพราะฉะนั้นถ้าเราพยายามใช้จ่ายให้พอเหมาะพอสมกับฐานะ ไม่ใช้จ่ายเกินตัวจนต้องเป็นหนี้เป็นสินเขาแล้ว เราจะมีความสุขมากทีเดียว เพราะฉะนั้นความไม่เป็นหนี้จึงเป็นความสุขของผู้ครองเรือน

            1.4 อนวัชชสุข สุขอันเกิดจากความประพฤติที่ไม่มีโทษ คือประพฤติสุจริตธรรม เมื่อประพฤติแต่สุจริตธรรมก็ไม่มีใครที่จะติเตียนเราได้ ทำให้เกิดความภูมิใจ เอิบอิ่มใจว่า เราประพฤติตนดี ไม่เป็นที่ครหาของใคร ๆ

            2. พระองค์ยังสอนให้คนรวย (ไม่เคยสอนให้จน ยกเว้นพวกนักบวชที่ต้องสละทุกสิ่ง -- อย่าสับสน) ด้วยคาถา “หัวใจมหาเศรษฐี” หัวใจของคามหาเศรษฐีนี้มี 4 คำสั้น ๆ และสามารถท่องได้ง่ายว่า อุ อา กะ สะ ถือเป็นหลักธรรมที่จะอำนวยประโยชน์สุขในขั้นต้นให้คนทั่วไป หรือเรียกว่า ทิฎฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4 หรือ ทิฎฐธัมมิกัตถประโยชน์ ซึ่งประกอบด้วยหลักปฏิบัติ 4 ประการ คือ 1. อุฎฐานสัมปทา 2.อารักขสัมปทา 3. กัลป์ยาณมิตตตา และ 4. สมชีวิตา

            2.1 อุ: อุฎฐานสัมปทา หมายถึง การถึงพร้อมด้วยความหมั่น คือให้มีความขยันหมั่นเพียรในการแสวงหาความรู้ ขยันทำงานและประกอบอาชีพโดยสุจริต หมั่นฝึกฝนในวิชาชีพให้มีความชำนาญ รู้จักใช้ปัญญาในการจัดการงานให้เหมาะสมและสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ด้วยความขยันหมั่นเพียรนี้เราก็จะมีทรัพย์สินเงินทองเพิ่มพูนขึ้น

            2.2 อา:  อารักขสัมปทา หมายถึง การถึงพร้อมด้วยการรักษาโภคทรัพย์ คือต้องรู้จักรักษาคุ้มครองทรัพย์สินที่หามาได้ไม่ให้หมดไป รวมทั้งรักษาผลงานที่สร้างมาได้โดยชอบธรรม ไม่ให้เป็นอันตรายหรือเสื่อมเสีย รวมไปถึงการรักษาความรับผิดชอบต่อภาระการงานที่ได้มอบหมายอย่างไม่ขาดตกบกพร่องด้วย

            2.3 กะ: กัลยาณมิตตตา หมายถึง การรู้จักคบคนดีเป็นมิตร คือการมีมิตรที่ดีจะช่วยสนับสนุนและนำพาเราไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ทั้งในหน้าที่การงาน สร้างความสุข ความสบายใจในการใช้ชีวิต ในทางตรงข้าม มิตรที่ไม่ดี มิตรเทียม หรือมิตรปอกลอก ก็จะนำพาเราไปสู่อบายมุขในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งเป็นเหตุให้เราเสียทรัพย์ เสียงานเสียการ จนเสียสมดุลชีวิตไปในที่สุด

            2.4 สะ: สมชีวิตา หมายถึง การเลี้ยงชีวิตให้พอดี คือรู้จักกำหนดการใช้จ่ายให้สมควรแก่ฐานะและสมดุลกับรายได้ รู้จักใช้ทรัพย์สินเงินทองที่หามาได้อย่างเหมาะสม ไม่ฟุ่มเฟือยมากเกินไปจนต้องลำบากในอนาคต หรือไม่ฝืดเคืองจนสร้างความลำบกในปัจจุบัน จงดำเนินชีวิตโดยยึดทางสายกลางที่ไม่มากไปไม่น้อยไป แต่ต้องพอดี ซึ่งจุดสมดุลแห่งความพอดี อาจวัดได้จากความสุขที่อิ่มเอิบในใจ ไม่ใช่สิ่งบำเรอหรือวัตถุที่เป็น (http://bit.ly/2iHnF9h)

            3. พระพุทธเจ้ายังสอนเรื่องปาปณิกธรรม 3 (ปาปณิกังคะ หลักพ่อค้า, องค์คุณของพ่อค้า) — qualities of a successful shopkeeper or businessman) อันประกอบด้วย

            3.1 จักขุมา ตาดี (รู้จักสินค้า ดูของเป็น สามารถคำนวณราคา กะทุนเก็งกำไร แม่นยำ — shrewd)

            3.2 วิธูโร จัดเจนธุรกิจ (รู้แหล่งซื้อแหล่งขาย รู้ความเคลื่อนไหวความต้องการของตลาด สามารถในการจัดซื้อจัดจำหน่าย รู้ใจและรู้จักเอาใจลูกค้า — capable of administering business)

            3.3 นิสสยสัมปันโน พร้อมด้วยแหล่งทุนเป็นที่อาศัย (เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจในหมู่แหล่งทุนใหญ่ๆ หาเงินมาลงทุนหรือดำเนินกิจการโดยง่าย — having good credit rating) (http://bit.ly/2iOeLaJ)

            4. การที่จะรวยนั้น พระพุทธเจ้าสอนให้รู้จักการให้ บุญกริยาวัตถุ 10 (http://bit.ly/2ja55nm) โดยประการแรกคือการทานมัย คือการทำบุญด้วยการให้ทานนั่นเอง  ในการให้ทานนั้นยังมีเรื่อง "ชายเข็ญใจยินดีรับเลี้ยงภิกษุ" นามว่า "มหาทุคตะ" ที่แม้จะขัดสนก็ยังทำดีด้วยการเลี้ยงพระภิกษุ (http://bit.ly/2hWPeY9)

            5. ที่ท่านนายกฯ อาจไม่เคยรู้เลยก็คือ มีเศรษฐีทำบุญจนหมดตัว "อนาถบิณฑิกเศรษฐี" ที่ก่อสร้างพระอารามชื่อ "พระคันธกุฎี" โดยเสียเงินไป 27 โกฏิ เป็นค่าที่ดิน และอีก 27 โกฏิ เป็นค่าก่อสร้าง ให้เป็นที่ประทับของพระบรมศาสดาและพระสงฆ์ เสร็จแล้วได้กราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาพร้อมกับจัดพิธีฉลองพระอารามอย่างมโหฬารนานถึง 5-9 เดือน ได้จัดถวายอาหารบิณฑบาตอันประณีตแก่พระบรมศาสดาและพระภิกษุสงฆ์ และกราบอาราธนาพระภิกษุจำนวนประมาณ ๒๐๐ รูป ไปฉันภัตตาหารที่บ้านของตนทุกวันตลอดกาล. . .(กระทั่ง)ตนเองก็พลอยอดอยากลำบากไปด้วย ถึงกระนั้นเศรษฐีก็ยังไม่ลดละการทำบุญ ถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ได้แต่กราบเรียนให้พระภิกษุสงฆ์ทราบว่า ตนเองไม่สามารถ จะจัดถวายอาหารอันประณีตมีรสเลิศเหมือนเมื่อก่อนได้ เพราะขาดปัจจัยที่จะจัดหา (www.84000.org/one/3/02.html)

            6. พระสาวกของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะพระสงฆ์ทั้งหลายก็มักอวยชัยให้พรให้ "รวย ๆ เฮงๆ" กันทั้งนั้น เพราะอย่างน้อยก็เป็นเครื่องชะโลมใจให้กับสาธุชนที่ส่วนมากยากไร้ การรวย มีทรัพย์ ย่อมเป็นความสุขของคฤหัสถ์ ไม่ใช่เรื่องผิดบาปอะไร ไม่เป็นภาระแก่ลูกหลานและสังคม อีกทั้งยังสามารถให้ทานผู้อื่นได้อีก

ที่มา: http://www.facebook.com/pg/dr.sopon4/photos/?tab=album&album_id=1125904190855499

 

            7. สำหรับท่านนายกฯ เองก็สะสมความร่ำรวย และมีทรัพย์มาก (http://bit.ly/2jhd8mE) บุคคลทั่วไปเวลาอธิษฐานก็มักหวังให้ตนร่ำรวยเช่นท่านเช่นกัน ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างทรัพย์สินของท่าน ซึ่งยังไม่รวมรายได้ 540 ล้านจากการขายที่ดิน 600 ล้านของบิดาของท่าน (http://bit.ly/1RQgJzj) และอื่น ๆ ที่อาจงอกเงยในภายหลัง


(ที่มา: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1414748691)

 


(ที่มา: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1414748691)

 


(ที่มา: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1414748691)

 


(ที่มา: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1414748691)

 


(ที่มา: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1414748691)

            8. การโกงมักเกิดจากความจนเข้าทำนอง "ยิ่งจน ยิ่งโกง" แผนภูมิท้ายนี้ เป็นการสรุปให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างความมั่งคั่งของประเทศกับการโกงกิน โดยนำผลการสำรวจ พ.ศ.2548 ว่าด้วยดัชนีการโกงกิน (ตัวเลขยิ่งน้อย ยิ่งโกงมาก) มาวางไว้ในแกนนอน และรายได้ประชาชาติต่อหัว (per capita income in US$) ของประเทศทั่วโลกมาวางเป็นแกนตั้ง ผลการทดสอบค่าทางสถิติด้วยการวิเคราะห์พหูคูณถดถอย พบว่าตัวแปรทั้งสองมีความสัมพันธ์กัน โดยมีค่า R-square อยู่ที่ 0.763189412 (ยิ่งใกล้ 1 ยิ่งน่าเชื่อถือ) ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่า ประเทศที่มั่งคั่งกว่า จะมีการโกงกินน้อยกว่าประเทศที่ยากจนกว่า หรืออาจกล่าวได้ว่า ประเทศที่ยิ่งมีการโกงกินกันมาก ประชาชนยิ่งยากจน (ดูรายละเอียดและ download หนังสือได้ฟรีที่ http://bit.ly/1WDogCH)

            ประเทศที่ยากจน มักมีการโกงกันมาก คนยากจนก็เช่นกัน มีโอกาสเป็นโจรมาก เราจึงต้องส่งเสริมให้คนมีฐานะพออยู่พอกิน จะได้ไม่เป็นโจร แต่คนจนมาก ๆ ที่ไม่โกงก็มีเช่นกัน แต่มีแนวโน้มวาหากเราจนมากก็จะมีโอกาสเป็นโจร ประกอบมิจฉาชีพมากกว่า ส่วนคนรวยที่ยังโกงก็มีเช่นกัน แต่เป็นข้อยกเว้น หรืออาจเป็นพวก "โรคจิต" แต่ภาพรวมที่เราไม่ควรปล่อยให้มีความยากจน ยากไร้ ก็เพื่อไม่ให้คนดิ้นรนไปในทางที่ไม่ถูกต้องนั่นเอง

           สุดท้ายนี้ขอมอบพุทธสุภาษิตต่อไปนี้แด่ท่านนายกฯ และทุกท่าน

โภคา สนฺนิจยํ ยนฺติ วมฺมิโกวูปจียติ.

โภคทรัพย์ของผู้ครองเรือนดี ย่อมถึงความพอกพูน เหมือนจอมปลวกกำลังก่อขึ้น.

ที. ปาฏิ. ๑๑/๒๐๒.

 

ปฏิรูปการี ธุรวา อุฏฺาตา วินฺทเต ธนํ.

คนมีธุระหมั่นทำการงานให้เหมาะเจาะ ย่อมหาทรัพย์ได้.

สํ. ส. ๑๕/๓๑๖. ขุ. สุ. ๒๕/๓๖๑.

 

อิติ วิสฺสฏฺกมฺมนฺเต อตฺถา อจฺเจนฺติ มาณเว.

ประโยชน์ย่อมล่วงเลยคนหนุ่มผู้ทอดทิ้งการงาน.

ที. ปาฏิ. ๑๑/๑๙๙.

 

ธีโร โภเค อธิคมฺม สงฺคณฺหาติ จ ญาตเก.

ปราชญ์ได้โภคทรัพย์แล้ว ย่อมสงเคราะห์ญาติ.

ขุ. ชา. ฉกฺก. ๒๗/๒๐๕.

 

น นิพฺพินฺทิยการิสฺส สมฺมทตฺโถ วิปจฺจติ.

ประโยชน์ย่อมไม่สำเร็จโดยชอบแก่ผู้ทำโดยเบื่อหน่าย.

ขุ. ชา. จตฺตาฬีส. ๒๗/๕๓๓.

 

อนิพฺพินฺทิยการิสฺส สมฺมทตฺโถ วิปจฺจติ.

ประโยชน์ย่อมสำเร็จโดยชอบแก่ผู้ทำโดยไม่เบื่อหน่าย.

ขุ. ชา. จตฺตาฬีส. ๒๗/๕๓๓.

 

สิริ โภคานมาสโย.

ศรีเป็นที่อาศัยแห่งโภคทรัพย์.

สํ. ส. ๑๕/๖๑.

ที่มา: www.trisarana.org/board_topic.php?id=44

อ่าน 32,868 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved