ทำเหมืองแร่ เวนคืนให้หมด!
  AREA แถลง ฉบับที่ 26/2560: วันพุธที่ 11 มกราคม 2560

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            นโยบายสำคัญและนโยบายแรกของการทำเหมืองแร่ในประเทศไทยก็คือ การเวนคืนให้หมด ให้เรียบร้อยเพื่อจะได้ไม่ก่อผลกระทบต่อประชาชนโดยรอบ

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ได้รับเชิญจากกรมทรัพยากรธรณี ให้ไปร่วมอภิปรายเกี่ยวกับเรื่องนโยบายเหมืองแร่ในประเทศไทยในอนาคต ดร.โสภณ จึงจัดทำบทนำเสนอนี้เพื่อประโยชน์ในการนำเสนอและเพื่อเป็นโจทย์สำหรับการวางแผนพัฒนาในอนาคต

กรณีแม่เมาะ ลำปาง

            ในปี 2555 ดร.โสภณ ในฐานะอาจารย์พร้อมคณะนักศึกษา ป.โท ม.สุโขทัยธรรมาธิราช ได้สำรวจที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง (http://bit.ly/1PwYDDp) พบว่าประเทศไทยเคยทำสำเร็จมาแล้วในการเวนคืนตัวอำเภอแม่เมาะทั้งอำเภอ รวมทั้งบ้านเรือนประชาชน วัดและส่วนราชการ ในพื้นที่ใหม่ของอำเภอแม่เมาะไม่ได้รับผลพิษ ราคาที่ดินของทางราชการก็เพิ่มขึ้นราว 25% ในรอบประเมินราคาใหม่ ราคาซื้อขายจริงก็เพิ่มขึ้นรวดเร็ว  ส่วนราคาที่ดินของทางราชการในหมู่บ้านที่มีข่าวเรื่องมลภาวะ (เพราะไม่ยอมย้าย) นั้น ราคาที่ดินเพิ่มสูงกว่าราคาตามบัญชีปี 2551-2554 เพียงเล็กน้อย

            ที่ผ่านมามักมีการกล่าวอ้างเสมอว่า การย้ายชุมชนจะกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชน การกล่าวอ้างนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้เกิดการโยกย้ายชุมชนหรือประชาชนออกนอกพื้นที่เดิม ทั้งนี้โดยอ้างว่าจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และเป็นผลเสียต่อวัฒนธรรมชุมชนเป็นต้น ในกรณีนี้หากไม่มีความจำเป็น ก็ไม่ควรย้ายชุมชนให้เกิดความเดือดร้อนใด ๆ

          มลพิษโดยเฉพาะฝุ่นละอองยังมีปรากฏอยู่จริงในพื้นที่หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ใกล้เหมือง โดยเฉพาะหมู่บ้านดง ที่อยู่ทางด้านเหนือของเหมืองใกล้กับบริเวณที่ทิ้งดินที่ขุดขึ้นมาจากเหมืองนั่นเอง แต่ในหลาย ๆ บริเวณอื่นเคยปรากฏเป็นข่าวนั้น อาจเกิดจากความเข้าใจผิด เพราะมลพิษฝุ่นละอองในอากาศ ส่วนใหญ่เกิดจากไฟไหม้ป่าเป็นสำคัญ คณะผู้ศึกษาเห็นว่าในกรณีจำเป็นก็อาจพิจารณาย้ายชุมชนออกไป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ หรือได้ดำเนินการไปบางส่วนแล้ว

          อย่างไรก็ตามการดำรงอยู่ของเหมืองและโรงงานไฟฟ้าแม่เมาะนี้มีคุณูปการต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างยิ่ง การแก้ไขปัญหามลพิษก็ได้ดำเนินการอย่างจริงจังโดยเฉพาะการกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 กว่าปีก่อน และทำให้อำเภอแม่เมาะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก โดยพิจารณาได้จากการเพิ่มขึ้นของราคาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่การจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อให้การพัฒนาอยู่ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม    

อย่าอ้างว่าชาวบ้านแตะต้องไม่ได้

            เมื่อจำเป็น วัดก็ต้องถูกเวนคืนเพื่อส่วนรวม (http://bit.ly/1kkXEu8) เช่น เมืองบาดาลแห่งสังขละบุรี วัดวังก์วิเวการามหลังเก่า ตั้งอยู่ในเขตตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ห่างจากตัวเมืองประมาณ 221 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานคร 351 กิโลเมตร วัดซึ่งกลายเป็นเมืองบาดาลนี้สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 โดยท่านหลวงพ่ออุตตมะ ด้วยการร่วมแรงร่วมใจของชาวมอญและชาวกะเหรี่ยง ที่อพยพภัยสงครามจากเมียนมาร์ เข้ามาอาศัยอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำซองกาเรีย โดยบริเวณนี้เรียกว่า"สามประสบ" คือเป็นบริเวณที่ลำน้ำสามสาย ได้แก่ ห้วยซองกะเลีย ห้วยบิคลี่ และห้วยรันตี ไหลมาบรรจบกันเป็นแม่น้ำแควน้อย

            ต่อมาในปี พ.ศ.2527 ได้มีการก่อสร้างเขื่อนเขาแหลม ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นเขื่อนวชิราลงกรณ ทำให้ย้ายวัด ชุมชนและตัวอำเภอไปตั้งในที่เนินเขาใกล้เคียง ส่วนวัดแห่งนี้ก็ถูกน้ำท่วมไปและถูกลืมเลือนหายไปเป็นเวลานับสิบปี จนกระทั่งปี 2546 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้หยิบยกขึ้นเป็นหนึ่งใน“อันซีนไทยแลนด์”พร้อมตั้งชื่อว่า“เมืองบาดาล” จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในปัจจุบัน วัดที่สร้างขึ้นใหม่ก็สวยงามใหญ่โต เป็นที่สักการะของประชาชนและนักท่องเที่ยว ที่สำคัญรากเหง้าทางวัฒนวัฒนธรรมของชาวมอญ ชาวกระเหรี่ยงก็ไม่ได้สูญสิ้นไปไหน

            วัดห้วยต้าใต้แห่งอำเภอท่าปลา เมื่อเดือนกรกฎาคม 2556 ข่าวฮือฮาว่า "ชาวบ้านก้มกราบวัดร้างโผล่พ้นน้ำ-หลังจมอยู่นานกว่า45ปี" ซึ่งก็คือวัดห้วยต้าใต้ ตำบลนางพญา อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ วัดแห่งนี้จมอยู่ใต้น้ำในเขื่อนสิริกิติ์หรือเขื่อนสิริกิติ์ จนเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2556 ซึ่งฝนแล้งติดต่อกัน 4 ปี จึงทำให้วัดโผล่พ้นน้ำ หลังจากที่จมน้ำไปถึง 45 ปี เมื่อปีการก่อสร้างเขื่อนในปี พ.ศ.2551 อันที่จริงประชาชนส่วนใหญ่ยินดีย้ายออกโดยได้รับการจัดสรรที่ดินให้ใหม่ แต่ก็มีอีก 7 หลังคาเรือนที่ไม่ยอมย้ายออก และปลูกบ้านอยู่ใกล้เคียงจนมีสภาพเป็นเกาะกลางน้ำ ทางราชการก็ไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง ทำให้จำนวนราษฎรเพิ่มขึ้นกลายเป็นหมู่บ้าน

ต้องฟังความเห็นของประชาชน

            ในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของทางราชการต้องฟังความเห็นของประชาชน อย่างในกรณีเหมืองทองคำพิจิตร ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเหมือง ดังเห็นได้จาก

            1. เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2555 นายอำนวย พานทอง นายอำเภอทับคล้อ และนายกฤษณะ ก้อนแก้ว นายก อบต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ได้จัดให้มีการลงประชามติเห็นด้วยกับการที่จะอนุญาตให้ บ.อัคราไมนิ่ง ขยายกิจการสร้างบ่อทิ้งกากแร่ได้ โดยเห็นด้วยเป็นจำนวน 560 คะแนน และไม่เห็นด้วยเป็นจำนวน 269 คะแนน จึงเป็นอันสรุปว่ามติในครั้งนี้ บ.อัครา ไมนิ่ง ได้รับคะแนนเห็นชอบจากชาวบ้านอย่างท่วมท้น ตามข่าวกล่าวว่า "แต่ข้อมูลที่แท้จริงจึงทำให้ชาวบ้านตาสว่างว่าที่ผ่านมาถูกกลุ่มบุคคลบางกลุ่มหลอกและถูกยุยงให้ต่อต้านโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์มาโดยตลอดเพียงเพราะมีประโยชน์แอบแฝงกับการค้าที่ดินที่จะบีบบังคับขายเหมืองทองอัครา ถ้าไม่ซื้อก็ปลุกปั่นให้ประท้วงตลอด 10 ปีที่ผ่านมา" (http://bit.ly/1WvASQF)

            2. ในวันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม 2559 ดร.โสภณ พรโชคชัย ในฐานะหัวหน้าคณะนักวิจัยได้ร่วมกับคณะนักศึกษาและคณาจารย์จากวิทยาลัยชุมชนพิจิตร วิทยาเขตทับคล้อ สำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยมุ่งเน้นในพื้นที่รอบเหมืองทองคำโดยเฉพาะในตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร และในเขตตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ ผลการสำรวจพบว่า ประชาชนถึงสี่ในห้า (78%) ต้องการให้เหมืองเปิดดำเนินการต่อไป นี่คือความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ ดร.โสภณ ได้ทำหนังสือนำเสนอผลวิจัยถึงนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 (http://bit.ly/1slFPir)

            3. ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2559 "สวนดุสิตโพลแถลงผลสำรวจความคิดเห็นชาวบ้านรอบเหมืองทองอัคราพิจิตร 76%หนุนดำเนินกิจการต่อ" (http://bit.ly/2jhu4pB) ซึ่งก็ออกมาใกล้เคียงกับผลสำรวจของ ดร.โสภณ ในเดือนพฤษภาคม 2559 ยิ่งกว่านั้นยังพบว่าชาวบ้านรอบเหมืองทองอัครา 73% ยืนยันไม่ได้รับผลกระทบ

การใส่ร้ายป้ายสีโดยผู้ไม่หวังดีต่อชาติ

            ไม่มีใครป่วยหรือตายเพราะเหมือง ที่ผ่านมามักมีข่าวว่าประชาชนโดยรอบเหมืองป่วยหรือเสียชีวิต ซึ่งไม่เป็นความจริง ดังตัวอย่างต่อไปนี้:

            1. กรณีนายสมคิด หรือลุงสมคดิ ธรรมพเวช อดีตพนักงานเหมืองแร่ทองคำชาตรีที่เสียชีวิต ภริยาของผู้ตายก็แจ้งว่า “จากผลการชันสูตรศพสามี ระบุว่า เสียชีวิตจากสาเหตุปอดอักเสบบวม และภาวะลิ่มเลือดอุดตันในเนื้อปอด ไม่มีสาเหตุมาจากการทำงานในเหมืองแร่ทองคำชาตรี แต่ยังมีผู้ไม่หวังดีแอบอ้างการเสียชีวิตของสามีตน นำไปเป็นข้ออ้างในการต่อต้านเหมืองแร่ทองคำชาตรีอยู่อีก นอกจากนี้ ยังมีการไปแอบอ้างรับบริจาคเงินด้วย โดยที่ตนเองและครอบครัวไม่ได้อนุญาต และไม่ได้รับเงินที่รับบริจาค” (http://bit.ly/1Zc11St)

            2. กรณีนายเฉื่อย บุญส่ง ก็เป็นอีกรายที่สุดลวงโลก พวกเอ็นจีโอเอามาบอกว่านายเฉื่อยตายเพราะมลพิษของเหมือง แต่ฟังข่าวดี ๆ ท่านตายเพราะเป็นโรตตับแข็ง บางคนตกกระไดตาย แก่ตาย ก็เอามาใส่ร้ายว่าเป็นเพราะเหมือง (http://bit.ly/1VuKzxN)

            โดยสรุปแล้ว ไม่มีใครเสียชีวิตเพราะเหมือง ถ้ามีมลพิษ คนงานเหมืองคงตายก่อน หรือรีบลาออกไป แต่ในความเป็นจริงคนงานก็อยู่ในบริเวณรอบเหมือง ที่ผ่านมามีแต่คนพยายามสร้างเรื่องเท็จ ถ้ามีการเสียชีวิตจริง คงถูกแห่ประจานไปแล้ว คนงานเหมืองก็แข็งแรงดี ยังสามารถบริจาคโลหิตได้ ถ้ามีโลหะหนักจริงๆ ก็คงไม่มีใครรับบริจาค แม้แต่คนขับรถลำเลียงสินแร่ ส่วนใหญ่ ก็เป็นผู้หญิงขับ ส่วนที่เป็นผื่นคัน บางท่านคงไปฉีดยาฆ่าแมลงมาแล้วไมได้ล้างตัวให้สะอาด เป็นต้น

            พืชผักก็ไม่มีสารพิษแต่ถูกเอ็นจีโอหลอก พวกเอ็นจีโอมักใส่ไคล้ว่า พืชผักต่าง ๆ ในบริเวณใกล้เคียงเหมือง ไม่สามารถรับประทานได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง พืชผักยังทานได้ตามปกติ เมื่อเดือนมีนาคม 2559 ชาวตำบลเขาเจ็ดลูก จ.พิจิตร เข้าแจ้งความกรณีถูกหลอกลงชื่อรับผักปลอดสารพิษ ก่อนนำไปแอบอ้างเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำ (http://bit.ly/1P3rjAQ) การแจกผักปลอดสารพิษของเอ็นจีโอ จึงเป็นเพียง “ดรามา” ที่ใส่ไคล้ว่าสิ่งแวดล้อมไม่ดี

         อีกกรณีหนึ่งก็คือเมื่อเดือนมีนาคม 2558 ชาวนาข้างเหมืองทองอัคราพิจิตรได้แจ้งความเอาผิดนักวิชาการพูดเท็จ โดย “ชาวบ้านรอบเหมืองทองเดือดนักวิชาการ NGO มั่วนิ่ม นำรูปนาข้าวไปเผยแพร่ว่ามีสารพิษจากเหมืองทอง กังวลผลผลิตจะขายไม่ได้แห่แจ้งความ เหมืองทองอัครา รวบรวม หลักฐานพยานบุคคลและพยานเอกสารจ่อส่งทนายฟ้อง” (http://bit.ly/1PijwVh) จะเห็นได้ว่ากระบวนการใส่ร้ายป้ายสีเหมืองมีการสร้างกระแสกันอย่างต่อเนื่อง

            สารพิษล้วนเป็นเรื่องเท็จ สารพิษที่กล่าวถึงได้แก่: (http://bit.ly/1P7FBQN)

            1. กรณีสารหนูนั้น ร่างกายเราสามารถขับออกได้เองภายใน 2-3 วัน ในอาหารทะเลก็มีสารหนู แม้พิจิตรจะไกลจากทะเล แต่ก็ได้รับสารหนูได้จากกุ้งแห้ง กะปิ ฯลฯ ถ้าทานมากๆ และต่อเนื่องก็จะตรวจพบได้ในปัสสาวะ

            2. แมงกานีส ในร่างกายขาดไม่ได้ มีมากในผักสีเขียว พบในชาวมังสะวิรัติมาก แต่ไม่มีการตั้งเกณฑ์ว่าควรมีในเลือดเป็นปริมาณเท่าไหร่ กรมอนามัยเคยตรวจแล้วแต่ไม่เกี่ยวกับการทำเหมือง จึงถือเป็นการป้ายสีโดยไร้เหตุผล

            3. ไซยาไนด์ เป็นสารที่คนกลัวเพราะเคยใช้รมฆ่ายิว แต่จริงๆ เราใช้ใกล้ตัว เช่น ในบลูยีนส์ออร์จินัล ในหน่อไม้ มันสำปะหลังก็มีสูง เด็กในอีสานทานดิบๆ ก็เคยตายมาแล้ว (วัวควายยังตายเลย) (http://bit.ly/20UAREo http://bit.ly/1Y3Ji1t) แต่ไซยาไนด์จะถูกทำลายด้วยความร้อน หรือไม่ก็ถูกขับออกภายใน 2-3 วัน ในเมล็ดแอปเปิ้ลก็มีไซยาไนด์ซึ่งแม้แต่นกก็ไม่กิน ในสาหร่าย แบคทีเรีย บุหรี่ ฯลฯ ก็มี ดังนั้นหากพบในร่างกายบ้างจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่สำคัญพิษของไซยาไนด์คือความเฉียบพลัน ถ้าเป็นประเภทป่วยเรื้อรังเป็นกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ที่มีการรณรงค์กันทั่วโลกในกรณี Ice Bucket Challenge) จึงไม่ใช่เพราะไซยาไนด์ ความเข้มข้นของไซยาไนด์ในบ่อกากแร่ของเหมืองยังน้อยกว่าในกาแฟ นกจึงยังสามารถมาดื่มน้ำ-วางไข่ได้ แสดงว่าไม่มีสารพิษ

            โดยสรุปแล้ว การมีปริมาณสารโลหะหนักมากเกินค่ามาตรฐาน ไม่ใช่หมายความว่าป่วยเสมอไป เกิดขึ้นได้ครั้งคราว ที่สำคัญโลหะหนักในบริเวณนี้มีมาก่อนทำเหมืองเพราะบริเวณนี้มีแหล่งแร่ เหมืองไม่ได้ทำให้เกิดสารพิษ

จดหมายฉบับที่ 2 ถึงนายกฯ

            ดร.โสภณ ในนามเครือข่ายรักษ์สิ่งแวดล้อม และประชาชนอย่างยั่งยืน ยังได้ทำหนังสืออีกฉบับถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องยืนยันถึงความไม่ถูกต้องในการปิดเหมืองทองพิจิตร ยิ่งกว่านั้นยังชี้ให้เห็นว่าสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือที่ นร.0505/16885 เมื่อ 12 พฤษภาคม 2559 ชี้แจงว่าพื้นที่ดินบริเวณเหมืองทองคำอัครามีการปนเปื้อนเหล็ก แมงกานีสและสารหนูในระดับสูงมาก่อนมีการทำเหมืองแล้ว (ไม่ใช่เพราะผลของเหมือง) คุณภาพน้ำใต้ดินส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน การปนเปื้อนของไซยาไนด์ในนาข้าวยังไม่ได้พิสูจน์ (ว่ามาจากเหมือง) พืชผักก็ไม่แตกต่างจากในบริเวณอื่น และยังไม่มีข้อสรุปว่าโลหะหนักทำให้เกิดการเจ็บป่วยจริง (http://bit.ly/2gNbE0X)

            การปิดเหมืองทองคำจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประชาชน ทำให้ประชาชนยากจนลงเฉียบพลัน ประชาชนต้อง "บ้านแตกสาแหรกขาด" ไปทำงานในท้องที่อื่น เช่น เข้ามาในกรุงเทพมหานคร สร้างปัญหาให้กับสังคมมากขึ้น  การปิดเหมืองยังทำลาย เกียรติภูมิของชาติเพราะในขณะที่รัฐบาลส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ แต่กลับปิดเหมือง ทำให้นักลงทุนต่างชาติที่ประกอบการโดยสุจริตเสียหาย เกียรติภูมิของรัฐบาลก็จะเสียหายเพราะไปรับฟังแต่เรื่องเท็จของเอ็นจีโอ เป็นต้น

ขอเชิญนายกฯ และรัฐมนตรีไปนอนพิสูจน์

            ถ้านายกรัฐมนตรีอยากจะพิสูจน์ ทำได้ง่ายๆ โดยการไปนอนพิสูจน์ที่บริเวณหมู่บ้าน หรือวัดรอบเหมืองทองคำ จะได้เห็นว่า

            1. เสียงระเบิดที่มีวันละครั้งในเวลากลางวัน แทบไม่ได้ยิน

            2. พืชผักที่ชาวบ้านรับประทานล้วนปลูกกันเองในพื้นที่

            3. ข้าว ก็ปลูกได้ในพื้นที่

            4. น้ำประปาหมู่บ้านก็ดื่มได้เช่นเดียวกับน้ำขวดที่ขายทั่วไป

            5. ฝุ่นไม่มี

            6. ฯลฯ

            ถ้านายกฯ กล้าไปพิสูจน์สัก 3-5 วัน ไปคุยกับประชาชนในท้องถิ่นจริง ๆ ก็จะรู้ความจริง ไม่ยากอะไร ทำแบบเดียวกับอดีตนายกฯ ทักษิณ ไป "ลุย" เพื่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก ไม่เสียการงาน เพราะสามารถยกสำนักงานเคลื่อนที่ไปได้ในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศนี้ หรือไม่ก็ส่งผู้แทนที่นายกฯ เชื่อถือเดินทางไปกางเตนท์นอนพักได้เลย  ทั้งนี้ ดร.โสภณ ยินดีไปนานค้างอ้างแรมร่วมด้วย เพื่อช่วยกันพิสูจน์

โปรดชมคลิปเพิ่มเติม

            โปรดดู Clip สัมภาษณ์ประชาชนที่เกี่ยวข้อง

            1. "อย่าฆ่าประชาชนด้วยการปิดเหมืองทองคำ": https://youtu.be/uNepHqu7-Ro

            2. คุยกับฝ่ายค้านเหมือง เขาค้านผิดๆ อย่างไร www.youtube.com/watch?v=dKXGyVGCBj4

            3. เจ้าอาวาสข้างเหมือง ยืนยันปลอดภัยแน่นอน www.youtube.com/watch?v=-6bvsW7DF3A

            4. พืชผักรอบเหมือง กินได้ครับ www.youtube.com/watch?v=HyxwbbyrdRE

            5. รอบเหมืองทอง ยืนยันไร้มลพิษครับ www.youtube.com/watch?v=lqtPpQaPrLg

            6. น้ำบาดาลดื่มได้สนิทใจแน่นอน www.youtube.com/watch?v=pZslXt-c4P8

            7. เปิดโปง NGOs หาเรื่องเท็จค้านเหมืองครับ www.youtube.com/watch?v=y66H1_v6F9E

            8. รายการเถียงให้รู้เรื่อง อย่าปิดเหมืองทองคำ www.youtube.com/watch?v=XLin878I5vs

หมายเหตุ

            ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นอาจารย์ในสถาบันการศึกษาชั้นนำต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิจัย แต่ไม่เป็นนายหน้า หรือไม่พัฒนาที่ดินเองเพื่อความเป็นกลางทางวิชาการและวิชาชีพโดยเคร่งครัด  การเคลื่อนไหวนี้ไม่ได้เห็นแก่นายทุน แต่เห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ ท่านนายกฯ โปรดสังวรข่าวนี้ "อินเดียแบนเอ็นจีโอ20,000 กลุ่ม" (https://goo.gl/ntVCkv) ระบุว่า "รัฐบาลอินเดียเพิกถอนใบอนุญาตองค์กรพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอราว 20,000 กลุ่ม ที่รับเงินทุนจากต่างประเทศ หวั่นแอบแฝงบ่อนทำลายเศรษฐกิจของประเทศ" ข้อนี้น่าทำให้รัฐบาลไทยได้ฉุกคิดบ้าง

อ่าน 5,643 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved