น้ำท่วมกับผังเมือง. . .ยุบกรมผังเมืองเถอะ
  AREA แถลง ฉบับที่ 30/2560: วันศุกร์ที่ 13 มกราคม 2560

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            น้ำท่วมบ่อยไม่เฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่หาดใหญ่ก็เคยท่วมใหญ่ ในปลายปี 2559 - ต้นปี 2560 ก็ท่วมหนักในภาคใต้หลายจังหวัด ผังเมืองเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาอภิปรายกันเป็นอย่างมาก ดร.โสภณ ชี้ควรยุบกรมผังเมืองแล้วจ้างต่างชาติมาทำแทนเถอะ

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการผังเมืองและอสังหาริมทรัพย์ และได้แสดงความคิดเห็นในการพัฒนาเมืองอย่างต่อเนื่องให้ความเห็นดังนี้:

ทางน้ำไหล ป้องกันน้ำท่วม

            ที่หาดใหญ่และนครต่าง ๆ ในภาคใต้ เป็นเมืองในที่ลุ่มที่น้ำจากยอดเขาต่าง ๆ สามารถไหลบ่าลงมาได้  เราคงไม่สามารถหยุดการไหลบ่าของน้ำจากพายุใหญ่หรือจากฝนตกตามธรรมชาติหรือไม่ก็ตาม แต่ในทางการผังเมือง เราสามารถที่จะป้องกันน้ำท่วมได้ด้วยการสร้างกำแพงกันบ้าง สร้างทางน้ำไหลหรือแม่น้ำเพื่อให้ประสิทธิภาพการไหลลงทะเลดีขึ้นบ้าง หรือสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้สอยยามหน้าแล้งบ้าง เป็นต้น
            อย่างไรก็ตามคงแทบไม่มีผังเมืองไหนคิดถึงเรื่องแบบนี้ แม้แต่ผังเมืองกรุงเทพมหานครที่ประกาศใช้ในปี 2556 ปรากฏว่าปี 2554 น้ำท่วม ก็แทบไม่ได้ใส่อะไรที่จะแก้ไข-ป้องกันน้ำท่วมอย่างมีประสิทธิภาพไว้เลย (คงมีมาตรการแบบ "น้ำจิ้ม" บ้าง) แต่ถ้าเราศึกษาผังเมืองไทยที่ดำเนินการโดยฝรั่ง คือ บริษัท Litchfield Whiting Bowne & Associates เมื่อปี 2500 โดยหวังจะนำมาใช้ในปี 2503 ปรากฏว่ายังมีการวางแผนที่จะให้มีแม่น้ำหรือคลองขนาดใหญ่จากรังสิตมาสะพานสูง บางกะปิ ลงทะเล และจากด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี ลงสู่อ่าวไทยเช่นกัน
            การผังเมืองไทยกลับไม่ได้นำมาใช้และเริ่มมีผังเมืองจริงปี 2535 ทำให้เมืองขยายตัวอย่างไร้ของเขต ในพื้นที่นอกเขตผังเมืองรวม แทนที่จะห้ามการก่อสร้างใด ๆ กลับ "ปล่อยผี" เรื่อยมา อาจกล่าวได้ว่าการดำรงอยู่ของราชการผังเมือง แทบไม่ได้ทำอะไรที่เกี่ยวเนื่องระหว่างผังเมือง กับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเท่าที่ควร การผังเมืองไทยสุดล้าหลัง เทียบกับประเทศอินโดจีน (http://bit.ly/2hrqGJU) ดร.โสภณ จึง (ประชด) นำเสนอว่า ไทยเราควรว่าจ้างต่างชาติมาทำการผังเมืองแทนไทยหรือไม่ ทำนองเดียวกับให้มีคุกเอกชน แทนการมีคุณของกรมราชทัณฑ์ เพื่อประสิทธิภาพที่สูงขึ้น่ในการดูแลสังคมหรือไม่


ภาพที่ 1: ผังเมืองไทยฉบับแรกปี 2500 ที่ให้ฝรั่งทำ มีเตรียมขุดคลองป้องกันน้ำท่วมด้วย

กางแผนแก้ไขออกมา

            ในการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะส่วนท้องถิ่นหรือส่วนกลาง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้โปร่งใส อย่างคำถามที่มักมีคนถามกันมากก็คือ "อุโมงค์ยักษ์อยู่ไหน" ควรแสดงในแผนที่ให้เห็นชัดเจนไปเลย เพราะไม่เช่นนั้นคนจะจินตนาการไม่ออก ระบบอุโมงค์ยักษ์ ถ้ามี หรือถ้าใช้ได้จริง ทำงานกันอย่างไร มีความเป็นไปได้ในการระบายน้ำได้เพียงใด ควรพานักข่าวไปดูให้เห็นกับตาในเวลาที่อุโมงค์ยักษ์ทำงานกันบ้าง ก็จะดีไม่น้อย
            นอกจากเรื่องอุโมงค์ยักษ์แล้ว เรามีแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม (ขัง) อย่างไรบ้าง ชาวบ้านจะได้สามารถตรวจสอบได้ว่า แผนการเหล่านั้นมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน หรืออย่างน้อยชาวบ้านจะได้อุ่นใจว่า เรามีระบบที่ดีเพียงพอ ไม่ได้แก้ไขปัญหาตามยถากรรม แบบ "มวยวัด" หรือเป็นการแก้ไขกันเฉพาะหน้าหรือ "ผักชีโรยหน้า" การสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนจึงเป็นหัวใจสำคัญของการวางแผนที่เชื่อถือและวางใจได้

การมีส่วนร่วมของประชาชน

            การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญเพราะประชาชนในพื้นที่จะรู้ปัญหาต่าง ๆ ได้ดีกว่าข้าราชการหรือนักการเมือง (รวมทั้งนักการทหารที่มาทำงานบริหารราชการแผ่นดินแทนนักการเมืองด้วย) แผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจึงควรผ่านความเห็นชอบและให้ประชาชนในพื้นที่ตัดสิน เช่น แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม (ขัง) ในหมู่บ้านจัดสรร ในชุมรุมอาคารย่านหนึ่ง ในแขวงหนึ่ง ๆ ของแต่ละเขต เป็นต้น
            หลายท่านอาจไม่ทราบว่าในจำนวนเขต 150 เขตนั้น ความจริงยังแยกออกเป็นแขวงได้ประมาณ 150 แขวงอีกต่างหาก ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ยังมีโครงการหมู่บ้านจัดสรรและโครงการอาคารชุดอีกนับหมื่นโครงการที่ผมไปสำรวจไว้ตลอดระยะ 20 ปีที่ผ่านมา หากได้รับความร่วมมือจากประชาชนเหลานี้ การแก้ไขปัญหาก็จะเป็นจริง

ผังเมืองก็ควรให้ประชาชนตัดสิน

            ยกตัวอย่างเรื่องผังเมือง เช่น ที่ซอยร่วมฤดี ที่เดี๋ยวนี้มีสร้างอาคารสูงใหญ่มากมาย และมีผู้อยู่อาศัยรายหนึ่งร้องตามกฎหมายให้ทุบอาคารโรงแรมสูงใหญ่ทิ้งเสียเพราะผิดกฎหมาย แต่หากให้ท้องถิ่นตัดสินจริง ๆ ปัญหานี้คงไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้น แต่สามารถแก้ไขได้ เช่น ถ้าอำนาจในการวางผังเมืองเป็นของชาวซอยร่วมฤดีเมื่อ 50 ปีก่อน ชาวบ้านแถวนี้คงลงมติไม่ให้สร้างอาคารสูงแต่อย่างใด
            โดยนัยนี้อาคารสูงใหญ่ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าโรงแรมแห่งนี้ก็คงไม่เกิด แต่เพราะเราไม่ได้ให้อำนาจประชาชน จึงต่างคนต่างสร้าง มือใครยาวสาวได้สาวเอา อย่างไรก็ตาม หากตอนนี้ให้ชาวบ้านลงมติกันว่าจะเอาตึกสูงหรือไม่ ผมก็เชื่อว่าชาวบ้านส่วนใหญ่จะลงมติเอาตึกสูง ไม่เอาข้อกฎหมายที่ใช้อยู่วันนี้แล้ว เพราะตอนนี้ราคาที่ดินแพงระยับ จะมาอาศัยอยู่ในย่านแออัดนี้ คงไม่ดีแน่ ยกเว้นพวกที่คุ้นชินกับที่แบบนี้เท่านั้น

ท่วมได้แต่ต้องแก้อย่างทันท่วงที

            ท่านเชื่อหรือไม่ว่าที่ถนนออร์ชาร์ด ซึ่งเป็นแหล่งจับจ่ายชั้นนำของสิงคโปร์ มีห้างร้านตั้งอยู่เต็มไปหมด ชาวต่างชาติต้องไปท่องเที่ยวซื้อของที่นั่นกันเป็นอันมาก มีโรงแรมชั้นหนึ่ง สถานบันเทิง ฯลฯ ตั้งอยู่ในบริเวณนี้อย่างหนาแน่น มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงาม พร้อมต้นไม้ใหญ่น้อย ดูแล้วแสนรื่นรมย์ แต่ที่นี่ก็เคยถูกน้ำท่วมหนักมาตลอด 4 ปีซ้อน 2553-2556 (http://goo.gl/0piHPr) นี่ยังดีนะที่ประชาชนของเขาไม่ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเขาลาออก!
            ขนาดสิงคโปร์ที่มีเทคโนโลยีทันสมัย คาดการณ์อะไรได้แม่นยำ วางแผนอะไรก็นำไปปฏิบัติอย่างเหมาะสมเสมอ ก็ยังเกิดน้ำท่วมในใจกลางเมืองได้ น้ำท่วมกระทั่งน้ำไหลเข้าไปในอาคารสรรพสินค้าที่มีชั้นใต้ดิน กลายเป็นน้ำตกเข้ามาภายในอาคาร เป็นภาพแปลกตายิ่ง แต่การที่ชาวสิงคโปร์ไม่ก่นด่ารัฐบาลหรือผู้ว่าฯ ของเขาก็คือ เขาแก้ไขปัญหาได้อย่างฉับไวมิชักช้า ชาวบ้านยังไม่ทันได้อ้าปากด่า เขาก็แก้ไขปัญหาจบสิ้นแล้ว กรุงเทพมหานครของเราก็ควรเอาเยี่ยงอย่างบ้าง

ผังเมืองกับการแก้น้ำท่วม

            ผังเมืองไทยที่ประกาศใช้ไปตั้งแต่ปี 2556 นั้น ไม่มีมาตรการที่เป็นชิ้นเป็นอันในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเลย หากเกิดน้ำไหลหลากมากเช่นปี 2554 อีก กรุงเทพมหานครก็คงไม่รอด คงท่วมขังน้ำเช่นเคย มาตรการด้านผังเมืองอันหนึ่งก็คือการสร้างถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เป็นเสมือนเขื่อนป้องกันน้ำท่วม แล้วยังสามารถวิ่งรถได้ด้วย เช่น กรณีริมแม่น้ำในกรุงโซล เขาก็สร้างถนนขนาด 6 ช่องจราจรในแต่ละฝั่งแม่น้ำ

            แต่นักผังเมืองไทยกลับไปเรียนมาแต่เปลือก เช่น ไปดูคลองช็องกเยช็อน (Cheong Gye Cheon) ที่แยกจากแม่น้ำฮัน (Han) กลับไปมองว่าเขารื้อทางด่วนคร่อมคลองเพื่อสร้างสวนสาธารณะริมคลอง โดยไม่ทราบความจริงว่า ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะตัวทางด่วนจะพังอยู่แล้ว ต้องรื้อ เดี๋ยวนี้เขาใช้รถไฟฟ้าใต้ดินกันแล้ว และย่านใจกลางเมืองก็ย้ายไปย่าน "กังนำ" แล้ว เป็นต้น  การเข้าใจผิด ๆ จะนำไปสู่การเข้ารกเข้าพงได้ (อ่านรายละเอียดที่ http://goo.gl/GGhqMV)

เมืองน้ำก็รอดได้เช่นฮอลแลนด์

            เราจะอ้างว่ากรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ราบลุ่มริมน้ำ ยังไงน้ำก็ต้องท่วม ไมได้เลย ถ้าอ้างอย่างนี้ก็ต้องไปอยู่บนดอยตามที่ท่านผู้ว่าฯ เคยพูด (เล่น) ไว้ หรือไม่เราก็คงต้องย้ายเมืองหลวงไปอยู่บริเวณอื่นกันแล้ว แต่ความจริงในประวัติศาสตร์ของเมืองทั้งหลายก็คือ เมืองหลวงย้ายไม่ได้ โดยเฉพาะเมืองหลวงทางเศรษฐกิจ ดูอย่างปารีส ลอนดอน โรม อยู่กันมาหลายร้อยหรือบางแห่งนับพันปี ก็ยังอยู่กันโดยไม่ได้หนีไปไหนแต่อย่างใด

            ดูอย่างฮอลแลนด์หรือเนเธอร์แลนด์ จะพบว่าหลายบริเวณของประเทศนี้เป็นพื้นที่ ๆ ตั้งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลด้วยซ้ำไป แต่เขาก็สามารถอยู่ได้ เพราะมีระบบเขื่อนที่ดี ระบบสูบน้ำที่ดี พลิกวิกฤติเป็นโอกาสในการแปรพื้นที่ดินที่ถูกกัดเซาะให้เป็นพื้นที่เพาะปลูกใหม่  แต่ของไทยโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง ปรากฏว่าผืนดินของไทยถูกกัดเซาะกลายเป็นโฉนดใต้น้ำเป็นจำนวนมาก โฉนดอยู่ แต่ที่ดินไม่อยู่แล้ว แต่ก็ยังมีประโยชน์สำหรับมิจฉาชีพในการหลอกขายชาวบ้านอีกต่างหาก

            เราต้องวางแผนให้ดีกว่านี้ เริ่มต้นใหม่ ไม่ต้องกลัว ที่ผ่านมาผิดพลาดตรงไหน ก็ต้องบอกประชาชนให้รู้ ให้เตรียมรับสถานการณ์ ไหน ๆ ท่านผู้ว่าฯ ก็มีสิทธิเป็นผู้ว่าฯ ได้ไม่เกิน 2 สมัย สมัยนี้จึงเป็นสมัยสุดท้ายแล้ว ท่านทิ้งทวนทำเพื่อชาวกรุงเทพมหานครเลยครับผม


ภาพที่ 2: สิงคโปร์ยังถูกน้ำท่วมเหมือนกัน เข้าไปในชั้นใต้ดินของห้างอีกด้วย

 


ภาพที่ 3: การจัดการน้ำท่วมอย่างมีบูรณาการ ประสบการณ์จากฮอลแลนด์

อ่าน 6,491 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved