สร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง ยังไงก็คุ้ม คิดดูว่าค่าจ้างคนแบกเสลี่ยงขึ้นไปเที่ยวเดียว 4,000 บาท ถ้ามีกระเช้า เที่ยวละ 500 บาท ค่ารถทัวร์ กทม-ภูกระดึง 500 บาท หรือค่าเครื่องบิน กรุงเทพมหานคร-เลย 800 บาท แต่บางคนยังมีข้อสงสัย
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) มุ่งหวังที่จะช่วยประชาชนส่วนใหญ่ในภูกระดึงให้สร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงเสียที ดร.โสภณ เคยสำรวจไว้พบว่า 97% ของประชาชนชาวภูกระดึงต้องการให้สร้างกระเช้าไฟฟ้า (http://bit.ly/1povC3l)
งบประมาณค่าก่อสร้างเช้าก็เป็นเงินเพียง 633 ล้านบาท ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า หากให้ประชาชนร่วมลงขันเป็นวิสาหกิจชุมชน ก็ยิ่งมีความเป็นไปได้ เพราะประชาชนจะได้ร่วมกันดูแล และเมื่อเทียบกับในปัจจุบัน ยิ่งคุ้มค่าเพราะหากจ้างลูกหาบแบกขึ้นเที่ยวเดียวจะเสียค่าบริการประมาณ 4,000 บาท ซึ่งสูงมากหากเทียบกับค่ากระเช้าที่ราว 500 บาท ค่ารถทัวร์ กทม.-ภูกระดึง 500 บาท หรือค่าเครื่องบิน กรุงเทพมหานคร-เลย 800 บาท
แต่บางคนบอกว่าอยากให้มีคนแบกเพราะจะได้มีงานทำ จากการศึกษาข้างต้นพบว่า ลูกหาบ ซึ่งมีเพียง 330 คน และส่วนมากก็มีวัยวุฒิแล้ว บางคนยังเสียชีวิตจากการประกอบอาชีพลูกหาบ นักท่องเที่ยวก็เสียชีวิตจากการขึ้นเขา (มีเป็นข่าวบ่อยๆ) ในอนาคตคงไม่มีลูกหาบเหลือเพราะลูกหลานต่างมีการศึกษาสูงขึ้น นี่เป็นเพียงอาชีพเสริม ทำงานเดือนละไม่กี่วัน มีเพียงปีละ 2 เดือนที่มีนักท่องเที่ยวมาก ในเดือนอื่นๆ ก็มีนักท่องเที่ยวไม่กี่สิบคนต่อวัน น้อยกว่าจำนวนลูกหาบ ในแต่ละปีภูกระดึงยังปิด 4 เดือน ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาหากเลิกอาชีพลูกหาบ แต่บางคนที่ยังอยากจะเดินขึ้นและใช้บริการลูกหาบก็ยังสามารถทำได้
แล้วลูกหาบที่เหลือจะตกงานหรืออย่างไร ข้อนี้ไม่ต้องห่วงเพราะหากมีกระเช้าจะทำให้นักท่องเที่ยวที่ไปมาแบบครึ่งวัน หรือหนึ่งวันโดยไม่ต้องนอนค้าง เพิ่มจำนวนมหาศาล ทั้งผู้สูงวัย คนพิการ เด็ก ครอบครัว ฯลฯ ก็จะสามารถขึ้นไปเที่ยวได้สะดวก เมื่อนักท่องเที่ยวมามากขึ้นเศรษฐกิจชุมชนก็จะดีขึ้น (อดีต) ลูกหาบก็มีงานอื่นทำที่สบายกว่า รายได้ดีกว่า ต่อเนื่องกว่านั่นเอง
ข้างต้นนี้แสดงชัดว่า การมีกระเช้าดีกว่ามาก บางคนก็ยังห่วงว่า ถ้ามีกระเช้า มีนักท่องเที่ยวมาก จะทำให้เกิดขยะมากตามไปอีก แต่ในความเป็นจริง ขยะ-น้ำเสียจะไม่เพิ่มขึ้น ในปัจจุบันค่าจ้างหาบของขึ้นภูกระดึงเป็นเงินกิโลกรัมละ 30 บาท โอกาสที่ขยะตกค้างเพราะต้นทุนการขนลงมาสูงมาก หากมีกระเช้าย่อมสามารถขนถ่ายขยะได้ง่ายขึ้น ไม่ตกค้างตามรายทางเช่นเดิม และยังมีงบประมาณเพียงพอที่จะจัดจ้างเจ้าหน้าที่ในการวางแผน ดูแลขยะ-น้ำเสียและสิ่งแวดล้อมอื่นให้ดีขึ้นกว่าในปัจจุบันได้อีกด้วย
การมีกระเช้าก็ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมเลย โครงการก่อสร้างกระเช้าที่เป็นเพียงเสาห่างๆ และสถานีไม่เป็นปัญหาต่อการทำลายป่า ส่วนการมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น นักท่องเที่ยวไม่ต้องเดินลงไปทำร้ายธรรมชาติเสียอีก หากมีรายได้จากกระเช้า ย่อมมีงบประมาณในการจัดจ้างเจ้าหน้าที่ดูแลป่าไม้ได้เพียงพอ และมีเงินพัฒนาป่าไม้ได้อีกด้วย การท่องเที่ยวด้วยกระเช้านี้จึงถือเป็นการท่องเที่ยวที่แทบไม่ก่อให้เกิดปัญหาสภาพแวดล้อม (Low carbon tourism หรือ carbon neutral tourism)
ดร.โสภณ กล่าวสรุปว่า แปลกมากสำหรับประเทศไทยที่ไม่เคารพเสียงส่วนใหญ่ ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้สร้างกระเช้า แต่กลับมีอภิสิทธิ์ชนคนส่วนน้อย เช่น เหล่า NGOs ที่ไม่ต้องการให้สร้าง และกลับค้านสำเร็จเสียด้วย ข้าราชการ (บางส่วน) ก็ลมเพลมพัด ไม่ได้ยึดถือประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ปล่อยผ่านเลยไปโดยไม่นำพา อย่างนี้ประเทศชาติจะเจริญได้อย่างไร
เคารพเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนเถอะ
ที่มา: http://bit.ly/2k6ik97