ดีแล้วที่ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อ!?!
  AREA แถลง ฉบับที่ 46/2560: วันอังคารที่ 24 มกราคม 2560

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            โชคดีจะตายไปที่ธนาคารทั้งหลายที่ไม่ปล่อยสินเชื่อ เพราะถ้าปล่อยไปให้กับคนที่คุณสมบัติไม่ผ่าน ก็ทำให้แบงค์เจ๊ง เศรษฐกิจพัง ความไม่มั่นคงทางการเมืองก็จะเกิด เผลอๆ อาจทำให้ชาติแตกเป็นเสี่ยง ๆ ไปเลยก็ได้

            หลายคนโวยวายว่าธนาคารเข้มงวดสินเชื่อเกินไป แต่ความจริงแล้วสมัยนี้ธนาคารผ่อนปรนมาตรการ สินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นอย่างมาก ดอกเบี้ยก็แสนถูก จะเห็นได้ว่าชาวบ้านกู้ได้เกือบ 100% หรือบางแห่งอำนวยสินเชื่อไปเกินกว่า 100% ด้วยซ้ำไป แถมยังกู้ได้ยาวนานถึง 30 ปี สถานการณ์ในขณะนี้ต่างจากเมื่อ 20 ปีก่อนที่ดอกเบี้ยแสนแพง กู้ได้แค่ 80% ของมูลค่า และกู้ได้เพียง 20 ปีเป็นอย่างมาก

            อันที่จริงการอำนวยสินเชื่อหรือไม่ของธนาคารก็พิจารณาเพียง 3 เรื่องใหญ่ก็คือ

            1. ผู้กู้จะมีคุณสมบัติพร้อมกู้ไหม มีหนี้หลายทางเกินไปหรือยัง

            2. ผู้กู้มีงานที่มั่นคงหรือไม่ ถ้าขนาดงานยังไม่มั่นคง แล้วจะปล่อยกู้ได้อย่างไร

            3. ผู้กู้มีความเสี่ยงเพียงใด เช่น เป็นนายประกันให้ใครหรือกิจการใดหรือไม่ ถ้ามี และหากตรวจพบว่าผู้นั้นหรือกิจการนั้นๆ อาจมีปัญหา ธนาคารก็คงไม่ปล่อยกู้เป็นต้น

            อันที่จริงสมัยนี้ธนาคารอยากปล่อยกู้ใจจะขาด ส่วนแบ่งสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายก็มากกว่าธนาคารอาคารสงเคราะห์จนแทบไม่ต้องมีธนาคารอาคารสงเคราะห์ก็ยังได้ เพราะธนาคารทั้งหลายตระหนักว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นสินเชื่อที่มีความมั่นคงสูงโอกาสเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เป็นไปได้น้อยมาก และโดยที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นดั่ง"เบี้ยหัวแตก" ก็กลับเป็นผลดีแก่ธนาคารเพราะเป็นการกระจายความเสี่ยงดีกว่าปล่อยกู้ให้กับกิจการอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ที่หากเจ๊งไป ก็คงทำให้ธนาคารเสียหายมหาศาล

            อย่างไรก็ตามปัญหาในวันนี้ก็คือ จำนวนผู้ที่มีคุณสมบัติ (ตามมาตรฐานปกติ) ที่พอจะกู้นั้นมีน้อยลงหากธนาคารปล่อยกูไปกูคงมีโอกาสเกิดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อย่างค่อนข้างแน่ กรณีนี้เป็นประจักษ์หลักฐานที่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำลงไม่ได้เติบโตปีละ 3-4% การที่โฆษณาชวนเชื่อกันไว้ ชาวบ้านจึงเกิดปัญหาหนี้สินมากมาย มีหนี้ล้นพ้นตัว มีหนี้หลายทาง จึงขาดคุณสมบัติที่จะซื้อบ้านในขณะนี้ อันนี้เป็นไปตามธรรมชาติของเศรษฐกิจก็คือ ถ้าเมื่อไหร่เศรษฐกิจดี คนก็อยากซื้อทรัพย์อันได้แก่ทองหยอง รถ บ้านมาเก็บ ใช้ หรือแสดง ความมั่งคั่งแห่งตน แต่ในยามเศรษฐกิจไม่ดี เช่นในขณะนี้ ก็จะไม่ซื้อทรัพย์หรืออาจพยายามขายออกเพื่อลดภาระ แก้หนี้ เป็นต้น

            ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า การที่ธนาคารไม่อำนวยสินเชื่อให้กับผู้ที่ขาดคุณสมบัติถือเป็นการกระทำที่ถูกต้องแล้ว ช่วยเศรษฐกิจชาติไม่ให้พังพินาศไป จำได้ไหม คราววิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 นั้น ธนาคารเจ๊งไปเกินครึ่ง บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ 100 แห่งปิดไปเหลือแค่หนึ่งในสี่ อยากจะให้ปรากฏการณ์นี้กลับมาหรืออย่างไร นอกจากนี้การไม่ปล่อยสินเชื่อยังถือเป็นการช่วยคนส่วนใหญ่ของประเทศไปในตัว เพราะถ้าเศรษฐกิจพัง ความมั่นคงทางการเมืองก็จะไม่มี จลาจลและสิ่งเลวร้ายต่างๆ ก็จะเกิดขึ้น ถ้าเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับฉุดให้ประเทศชาติลงสู่หุบเหวลึก จนยากที่จะฟื้นคืนกลับมาใหม่ เผลอๆ อาจนำไปสู่ความแตกแยก แบ่งประเทศ ทำให้ไทยแตกเป็นเสี่ยงๆ ไปได้

            ปกติแล้วคนเราถ้ายังไม่มีปัญญาจะซื้อบ้าน ก็พึงเช่าหรือรอไว้ก่อน คนแต่งงานสร้างครอบครัวใหม่ก็อาจยังอาศัยอยู่กับบุพการี คนที่จะแยกครอบครัวเพราะอาจรั้งใจไว้ก่อน นี่คือปรากฏการณ์จริงในยามวิกฤตของแท้เมื่อปี 2540 ก่อนช่วงวิกฤตดังกล่าวบางคนชอบซื้อบ้านใกล้ที่ทำงาน ก็ปรากฏว่าไม่ต้องซื้อแล้วเนื่องจากตนก็ถูกไล่ออกจากที่ทำงานเรียบร้อยแล้ว ส่วนกลุ่มที่อยากซื้อบ้านใกล้โรงเรียนลูกก็หยุดไว้ก่อนเช่นกัน

            ชาวบ้านมีภูมิปัญญาของตนเอง รู้จักคิดรู้จักวางแผน ในทางตรงกันข้าม เราจะไปปริวิตกหรือพยายามจะกระตุ้นให้คนซื้อบ้านในยามเศรษฐกิจฝืดเคืองนั้น ดูท่าจะเป็นการคิดผิดๆ ในยามฝืดเคือง เราต้อง "กำเงินสด" ไว้  ไม่มีใครไปลงทุนเพราะมีความเสี่ยงสูง การที่เราจไปกระตุ้นให้คนซื้อบ้าน ก็เพื่อให้อานิสงส์ตกแก่คนขายบ้านเป็นสำคัญ เป็นการแบ่งเบาความเสี่ยงต่อการทำธุรกิจพัฒนาที่ดิน จะสังเกตว่าในยามเศรษฐกิจไม่ดี เราก็อาจต้องหยุด หรือเปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่นบ้าง เป็นต้น

            การอ้างว่าการพัฒนาที่ดินเป็นธุรกิจต้นน้ำที่ช่วยให้ธุรกิจอื่นเติบโต เช่น เหล็ก ปูน ฯลฯ ธุรกิจอื่นก็อ้างเช่นนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจปั่นด้าย ฟอกย้อม ธุรกิจผลิตรถยนต์ ฯลฯ แต่ประเด็นก็คือในยามเศรษฐกิจไม่ดี เราจะผลิตบ้านออกมาเพื่อไว้ขึ้นหิ้งหรืออย่างไร สร้างแล้วหากมีคนอยู่น้อย หรือไม่มีคนอยู่ หรือมีแต่คนเก็งกำไรมากมาย จะสร้างอีกทำไม สร้างให้เป็นภาระแก่ประเทศชาติทำไม

            ทางที่ดีรัฐบาลต้องพยายามพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโต แบบหยั่งรากลึก ไม่ใช่แบบ "ผักชีโรยหน้า" หรือ "อัฐยายซื้อขนมยาย" หรือแบบ "ขายผ้าเอาหน้ารอด" (ยอมเสียทุกอย่างเพื่อรักษาหน้า) ถ้าเศรษฐกิจดี คนก็จะซื้อทรัพย์เอง อย่าไปมัวทำแต่เรื่องกระผีกริ้นเลย


(ที่มา: www.investors-clinic.com/blog/reasons-why-your-home-loan-get-rejected)

อ่าน 5,241 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved