มีปรากฏการณ์ประหลาด ๆ ในแวดวงผังเมือง คือ กรณีศูนย์สิริกิติ์ฯ อาจถูกมองว่าเป็นการใช้วิชา (มาร) ผังเมืองเอื้อประโยชน์ต่อนายทุนใหญ่เช่น "เสี่ยเจริญ" หรือไม่ ลองมาพิจารณากันดู
การที่กิจการของ "เสี่ยเจริญ" คือ บจก.เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเมนท์ แอนด์ ดิเวลลอปเมนท์ (NCC)ได้รับการต่อสัญญาบริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์นั้น นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า ". . .เดิม (NCC) ต้องดำเนินการระยะที่ 2 คือ สร้างเป็นโรงแรมช่วงปี 2534-3535 แต่ติดเรื่องผังเมือง กทม.ประกาศหลังจากเอกชนลงนามกับกรมธนารักษ์ไปแล้ว ทำให้เอกชนไม่สามารถลงทุนต่อไปได้ เรื่องนี้ค้างอยู่ที่กรมธนารักษ์มานานกว่า 20 ปี" (http://bit.ly/2jTZCEV)
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ให้ข้อสังเกตว่า
1. เดิมตามสัญญาที่ NCC ทำไว้เมื่อวันที่ 9 เม.ย.2539 มีเงื่อนไขบริษัทจะก่อสร้างอาคารโรงแรมระดับ 4-5 ดาว ไม่ต่ำกว่า 400 ห้อง พร้อมที่จอดรถไม่ต่ำกว่า 3,000 คัน และพื้นที่เพื่อการพาณิชย์ไม่ต่ำกว่า 28,000 ตารางเมตร รวมมูลค่าไม่น้อยกว่า 2,732 ล้านบาท เสนอผลตอบแทนให้รัฐประมาณ 3,000 ล้านบาท (http://bit.ly/2kvM7wk) การสร้างโรงแรมก็เพื่อเสริมกับการมีศูนย์การประชุมแห่งชาติ ซึ่งควรจะมีเป็นอย่างยิ่ง เพื่อความสะดวกของผู้มาร่วมงานทั้งจากต่างจังหวัดและต่างประเทศ แต่เพราะภาวะเศรษฐกิจไม่ดีหลังช่วงปี 2540 ทำให้ NCC ลังเลไม่มั่นใจในการลงทุน (http://bit.ly/2jUjntY) ทางราชการก็พยายามให้ NCC ปฏิบัติตามสัญญาเรื่อยมาดังที่อธิบดีได้ให้สัมภาษณ์ไว้
2. แต่จู่ ๆ ในระหว่างการเจรจาก็มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องกําหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภทในบริเวณสวนเบญจกิติและบริเวณโดยรอบ ในท้องทีแขวงคลองเตย เขตคลองเตย และแขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ลงวันที 23 เมษายน 2546 และต่อมาได้เปลี่ยนเป็น ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กําหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภทในบริเวณสวนเบญจกิติและบริเวณโดยรอบฯ พ.ศ. 2547 ซึ่งระบุว่าในบริเวณที่จะต้องสร้างโรงแรมนั้น ห้ามสร้างอาคารที่มีความสูงเกิน 23 เมตร เว้นแต่อาคารเพื่อกิจกรรมการนันทนาการหรือเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการนันทนาการ ซึ่งทางราชการเป็นผู้ดําเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์ (http://bit.ly/2kvozU0) การนี้ก็เท่ากับว่า NCC ไม่ต้องสร้างโรงแรมโดยไม่ผิดข้อตกลงกับทางกระทรวงการคลังอย่างน่าฉงน
3. หลังจากการที่ไม่ต้องสร้างโรงแรมแล้วในภายหลังก็มีการยกเลิกข้อกำหนดปี 2547 โดยออกข้อกำหนด 2557 ให้พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ไม่ต้อง "รับกรรม" จำกัดความสูงอย่าง "ไร้เหตุผล" รองรับเท่าที่ควรอีกต่อไป ยกเว้นบริเวณที่แต่เดิมจะสร้างโรงแรม ยังคงไว้ (http://bit.ly/2kmjgas) เพราะ NCC วางแผนที่จะขอสร้างเป็นศูนย์ประชุมอีกนับแสนตารางเมตร โดยไม่ (ยอม) สร้างโรงแรมเพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้เกี่ยวข้อง ทั้งแขกบ้านแขกเมือง หรือผู้มาติดต่อจัดการประชุมทั้งจากส่วนกลางและจากต่างจังหวัด
ข้ออ้างของผังเมืองก็คือการมีสวนเบญจกิติ ก็ควรทำให้บริเวณโดยรอบไม่สามารถสร้างสูงได้ เพื่อให้สวนดูสง่างาม ทั้งที่เป็นที่ดินอยู่ใจกลางเมือง ราคาแสนแพง แต่ไม่ให้สร้างสูง แถมก่อนหน้านี้ ก็มีการสร้างตึกสูงมากมายรอบ ๆ สวนเบญจกิติและศูนย์สิริกิติ์อยู่แล้ว การออกข้อกำหนดผังเมืองแบบนี้กลายเป็นการ "เข้าทาง" กับ NCC ทำให้ NCC ไม่ต้องปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้ โดยอาศัยข้ออ้างด้านผังเมืองนั่นเอง
น่าคิดไหมครับ
รูปผังเดิมของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่ต้องมีโรงแรม
ที่มา: http://farm9.staticflickr.com/8428/7654499732_a5aeffa3bb_z.jpg