อ่าน 1,126 คน
AREA แถลง ฉบับที่ 12/2554: 9 กุมภาพันธ์ 2554
การประเมินสถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ในภาวะสงครามกับกัมพูชา

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส

            หากความขัดแย้งตามแนวชายแดนในปัจจุบันได้รับการยกระดับเป็นสงคราม อัตราความเสี่ยงของประเทศก็จะเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อ อสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ปัญหาความขัดแย้งนี้จึงควรจบลงโดยเร็วหรือให้จำกัดวงความขัดแย้งเฉพาะบนโต๊ะเจรจา หรือใช้แนวทางสันติเป็นทางออก ทั้งนี้เนื่องจากทั่วโลกมีความขัดแย้งตามพรมแดนมากมาย แต่แทบจะไม่มีการใช้กำลังในปัจจุบัน
            ในกรณีที่มีการยกระดับเป็นสงครามระหว่างไทยกับกัมพูชา จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อประเทศไทยเป็นอย่างมากเพราะเป็นประเทศที่ใหญ่กว่า มีพื้นฐานความมั่งคั่งมากกว่า มูลค่าการสูญเสียจึงจะมีเป็นจำนวนมาก เช่น:
            1. อสังหาริมทรัพย์ตามแนวชายแดน ใน AREA แถลง ฉบับที่ 2/2554 เมื่อวันอังคารที่ 4 มกราคม 2554 ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์สแสดงให้เห็นว่ามูลค่าการค้าชายแดนไทยและกัมพูชามีมูลค่าประมาณ 50,000 ล้านบาท <1> หากสงครามยืดเยื้อ การค้าก็จะหดตัวลง และอาจหดตัวลงในระยะยาวเพราะการที่กัมพูชาหันไปซื้อสินค้าจากประเทศอื่น นอกจากนี้ตลาดค้าขายชายแดนที่มีขนาดประมาณ 5,000 - 20,000 ตารางเมตร ก็จะด้อยค่าลงเพราะผลจากความซบเซาของการค้าขายแดน กรณีนี้ยังจะส่งผลต่อประชาชนตามแนวชายแดนโดยตรง และหากเศรษฐกิจฝืดเคืองก็ย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางสังคมและปัญหาอาชญากรรมด้วย
            2. แหล่งท่องเที่ยวตากอากาศของนานาชาติในภาคตะวันออก เช่น พัทยา ระยอง จันทบุรีและตราดก็อาจได้รับผลกระทบไปด้วย พัทยาตั้งอยู่ห่างจากด่านชายแดนกัมพูชาเพียง 250 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง (เดินทัพ) เพียง 4 ชั่วโมง กลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่ปักหลักอยู่ในพื้นที่นี้ก็อาจรู้สึกไม่มั่นคงและย้ายฐานออกไป ทำให้ที่อยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์ตากอากาศรวมมูลค่านับแสนล้านมีมูลค่าลดลงอย่างชัดเจน
            3. แหล่งอุตสาหกรรมสำคัญที่สุดของไทยคือมาบตาพุด ก็อาจได้รับความเสียหายร้ายแรง นักลงทุนญี่ปุ่นและนักลงทุนใหญ่จากประเทศรายอื่น ก็อาจถอนตัวออกไป ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
            4. สถานที่พักผ่อนตากอากาศอื่น เช่น ภูเก็ต สมุย หัวหินและอื่น ๆ ก็อาจได้รับผลกระทบเพราะอัตราความเสี่ยงของประเทศสูงขึ้น ส่งผลให้มูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ลดลง และหากสถานที่ตากอากาศของประเทศคู่แข่งในภูมิภาคนี้ เช่น ลังกาวี ปีนัง บาตัม สิงคโปร์ บาหลี ฯลฯ พัฒนาขึ้น โอกาสที่นักลงทุนและนักท่องเที่ยวจะกลับมาใหม่จะน้อยลงอีก
            5. แม้แต่อสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพมหานครก็จะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ อันได้แก่อาคารสำนักงาน และที่อยู่อาศัยหรูหราที่ให้ชาวต่างชาติซื้อหรือเช่าอยู่อาศัย เนื่องจากอัตราความเสี่ยงของประเทศเพิ่มสูงขึ้นนั่นเอง
            จะสังเกตได้ว่าในประเทศที่อยู่ในภาวะสงครามหลายแห่งทั่วโลก แม้มีแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจมากมาย แต่ก็มีนักท่องเที่ยวน้อยมาก แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านเช่นอินโดนีเซีย ซึ่งเคยมีปัญหาความไม่สงบภายในประเทศเมื่อ 14 ปีก่อน ก็ยังมีนักท่องเที่ยวเพียง 6.3 ล้านคนน้อยกว่าประเทศไทย (14.2 ล้านคน) สิงคโปร์ (7.5 ล้านคน) และมาเลเซีย (23.6 ล้านคน) เสียอีก <2>
            จากการเปรียบเทียบอัตราความเสี่ยงของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียนล่าสุดพบว่า ประเทศสิงคโปร์มีอัตราเสียงรวม (Total risk premium) ต่ำสุดคือ 5% ในขณะที่อัตราความเสี่ยงประเทศ (Country risk) อยู่ที่ 0% ในขณะที่ไทย มีอัตราความเสี่ยงรวม และอัตราความเสี่ยงประเทศ อยู่ที่ 7.25% และ 2.25% ตามลำดับ สำหรับกัมพูชาอยู่ในระดับต่ำสุดคือ มีอัตราความเสี่ยงรวม และอัตราความเสี่ยงประเทศ อยู่ที่ 12.5% และ 7.5% ตามลำดับ

            การจัดอันดับประเทศและความเสี่ยง <3>
            ประเทศ              เครดิต      อัตราเสี่ยงรวม   อัตราเสี่ยงประเทศ
            สิงคโปร์                 Aaa                5.00%                   0.00%
            มาเลเซีย                  A3                6.73%                   1.73%
            ไทย                    Baa1                7.25%                   2.25%
            อินโดนีเซีย             Ba2                9.13%                   4.13%
            ฟิลิปปินส์                Ba3                9.88%                   4.88%
            เวียดนาม                  B1              11.00%                   6.00%
            กัมพูชา                    B2              12.50%                   7.50%

            หากประเทศไทยขยับอัตราความเสี่ยงประเทศจาก 2.25% เป็น 4% เพราะการยกระดับความขัดแย้งตามแนวชายแดนเป็นสงคราม ซึ่งเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับอินโดนีเซีย ก็จะทำให้อัตราความเสี่ยงประเทศเพิ่มขึ้นจาก 7.25% เป็น 9% ทำให้มูลค่าทรัพย์สินลดลงประมาณ 19% [{(1/9%) / (1/7.25%)} -1]

            ในโลกทุกวันนี้ยังมีปัญหาความขัดแย้งตามแนวชายแดนมากมาย รวมเกือบ 40 บริเวณ เกี่ยวข้องกับประเทศเป็นจำนวนมาก <4> แต่มักแก้ไขด้วยสันติวิธี เช่น
            1. Hans Island (ใกล้เกาะกรีนแลนด์) ระหว่าง Canada และเดนมาร์ก
            2. หมู่เกาะเล็ก ๆ นอกชายฝั่งทะเลแคริเบียน ระหว่างคิวบา สหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก
            3. พื้นที่หลายบริเวณระหว่างสหรัฐอเมริกาและแคนาดา
            4. พื้นที่ยุโรประหว่างฝรั่งเศสกับอิตาลี ฝรั่งเศสกับสเปน สเปนกับโปรตุเกส
            5. พื้นที่เอเชียเช่นระหว่างอินเดียกับบังคลาเทศ บังคลาเทศกับพม่า กัมพูชากับเวียดนาม สิงคโปร์กับมาเลเซียและอินโดนีเซีย มาเลเซียกับอินโดนีเซีย
            ดังนั้นการใช้สงครามแก้ไขปัญหาย่อมจะสร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อทุกฝ่าย ไม่ใช่หนทางที่ดี และมีแต่จะสร้างบาดแผลให้แก่ทุกภาคส่วน
            การปะทะกันด้วยกำลังอาวุธต้องหยุดลงในทันที

<1> โปรดดู www.area.co.th/thai/area_announce/area_anpg.php?strquey=area_announcement172.htm
<2> โปรดดู www.unwto.org/facts/eng/pdf/highlights/UNWTO_Highlights10_en_LR.pdf
<3> โปรดดู http://pages.stern.nyu.edu/~adamodar/New_Home_Page/datafile/ctryprem.html
<4> โปรดดู http://en.wikipedia.org/wiki/List_of_territorial_disputes

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved