เมื่อวานนี้ (21 มีนาคม 2560) ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเพื่อไปยังสภาต่อไป ดร.โสภณ ยืนยันไม่ต้องห่วงภาษีนี้ ไม่มีผลใด ๆ เป็นแค่ภาษีปาหี่และกำมะลอ ห่วงรัฐขึ้น VAT 8% ดีกว่า
Youtube ดูวิดิโอคลิก: https://youtu.be/6NL-sgi0HXg
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ได้ให้ความเห็นต่อความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีต่อการออกพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 (http://bit.ly/2nQNXWM) ดังนี้:
1. ภาษีนี้ที่ว่าจะประกาศใช้ในปี 2562 นั้น ยังไม่แน่ว่าจะได้ใช้ เพราะยังต้องผ่านสภา และอาจจะแท้งกลางทางก็ได้ อาจเป็นเพียงการเล่นปาหี่อย่างหนึ่ง สิ่งที่พึงระวังคือหากรัฐบาลไม่สามารถผ่านร่าง พรบ.นี้ ก็อาจขึ้นภาษี VAT เป็น 8% ซึ่งส่งผลต่อประชาชนทุกหมู่เหล่าทั้งที่มีทรัพย์สินหรือไม่มีก็ตาม
2. ที่น่าตลกก็คือ การกำหนดให้เก็บภาษีสำหรับบ้านราคา 50 ล้านบาทขึ้นไป ข้อนี้ ดร.โสภณ ได้เคยวิเคราะห์ไว้แล้ว (http://bit.ly/1UsxJen) ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีเพียง 1,351 หน่วยเท่านั้น ถ้าทั่วประเทศก็คงไม่กี่พันหน่วย จะคุ้มค่าเก็บไหม นี่แสดงความเป็นปาหี่ของกฎหมายฉบับนี้คือจริงๆ ไม่อยากจะเก็บภาษี เลยไพล่ไปเก็บสำหรับบ้านตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป
3. ส่วนบ้านหลังที่ 2 แม้มีราคาไม่ถึง 50 ล้านก็จะเก็บนั้น ตามระยะเวลาการออกกฎหมายนี้ คือให้มีการใช้ในปี 2562 ก็เท่ากับเป็นการเปิดช่องให้ผู้มีบ้านมากกว่า 1 หลังได้ผ่องถ่ายให้กับบุตรหลานหรือบุคคลอื่นไปก่อน เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงภาษี จึงทำให้กลายเป็น "อภินิหารทางกฎหมาย" ที่แม้ไทยจะมีกฎหมายนี้ในอนาคต แต่ก็เสมือนไม่มีกฎหมายใดๆ เข้าทำนองนักกฎหมายศรีธนญชัยจริงๆ
4. กรณีที่ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ ได้ลดเพดานการจัดเก็บภาษีสำหรับที่ดินเปล่าลงจาก 5% เป็น 2% ก็แสดงนัยชัดเจนว่า คนรวย ๆ ไม่ต้องการเสียภาษี แม้รัฐบาลและสภานี้จะไม่มีนักการเมือง แต่เขาก็ยังปกป้องคนรวยอยู่ดี นี่ก็ยังเป็นรัฐบาลและสภาของคนรวย ในสมัยรัฐบาลและสภาที่ประชาชนเลือก ก็ยังต้องเกรงใจประชาชนมากกว่านี้ด้วยซ้ำไป
5. อันที่จริงไม่ควรมีการลดหย่อนภาษีใด ๆ เลย ดูในความเป็นจริง คนจน ๆ มีจักรยานยนต์เก่าๆ คันหนึ่งราคาประมาณ 30,000 บาท ก็ยังต้องเสียภาษีปีละ 400 บาทหรือมากกว่า 1% ถ้าคนจนมีห้องชุดราคา 300,000 บาท ก็ต้องเสียภาษี 0.1% ก็เป็นเงินเพียง 300 บาท หรือเดือนละ 25 บาท ถูกกว่าค่าจัดเก็บขยะเสียอีก การจัดเก็บภาษีถูกๆ จึงอาจไม่คุ้มค่าในการเก็บ
6. ที่รัฐบาลพยายามลดหย่อนการจัดเก็บภาษีโดยอ้างคนจนนั้น แท้จริง ก็เพื่อช่วยคนรวย เพราะถ้าคนจนต้องเสียภาษีถึง 1% เช่น มีห้องชุดราคา 300,000 บาท ก็ต้องเสียภาษีปีละ 3,000 บาท หรือเดือนละ 250 บาท ซึ่งก็พอ ๆ กับการจ่ายค่าส่วนกลางเท่านั้น ไม่ได้มากมายอะไรเลย แต่คนรวยที่มีทรัพย์ราคา 50,000,000 บาท หากต้องเสียภาษี 1% เป็นเงิน 500,000 บาท พวกเขาคงไม่ต้องการเสีย จึงทำให้ร่างกฎหมายกำมะลอฉบับนี้ออกมา แทบจะเหมือนไม่มีการเก็บภาษีใด ๆ เลย
7. ถ้ามีการเก็บภาษีที่ดินว่างเปล่าในอัตราสูงก็จะทำให้ประการแรกเจ้าของที่ดินต้องนำที่ดินมาพัฒนา ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทางหนึ่ง ประการที่สองทำให้ตลาดที่ดินมีความยืดหยุ่นมากขึ้นเพราะมีอุปทานที่ดินมากขึ้นราคาที่ดินไม่ถีบตัวสูงเว่อร์จนเกินไป ชาวบ้านที่ซื้อบ้านและคอนโดก็จะได้รับประโยชน์ราคาบ้านและคอนโดก็จะไม่สูงขึ้นมากจนเกินไปเช่นกัน ประการที่สามมีการพัฒนาที่ดินว่างเปล่าใจกลางเมือง ก็จะทำให้การพัฒนาสู่นอกเมือง การบุกรุกที่ชนบทและเกษตรกรรมและพื้นที่สีเขียวก็จะน้อยลง ลดโลกร้อนอีกต่างหาก และประการที่สี่ หากเมืองไม่ขยายออกสู่รอบนอกหนักหนักก็จะทำให้สาธารณูปโภคต่างๆ เช่นไฟฟ้าประปาโทรศัพท์ขยายออกไปยังไม่สิ้นสุดนั่นเอง
8. โดยที่ภาษีนี้มีลักษณะกำมะลอและเล่นปาหี่ จึงแทบไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาบ้านแต่อย่างใด ถ้ามีผู้ใดอ้างขึ้นมาเพื่อขึ้นราคาบ้านและที่ดินขายให้กับผู้อื่นย่อมเป็นการอ้างที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ยิ่งกฎหมายนี้ยังไม่แน่ว่าจะผ่าน ก็ยิ่งเป็นการอ้างที่เลื่อนลอย
9. ในความเป็นจริง การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้ จากที่ ดร.โสภณ ได้ประมาณการไว้ว่าบ้านมือสองที่ขายในตลาดมีมูลค่าปีละ 1,202,767 ล้านบาทจากจำนวน 600,000 หน่วย (http://bit.ly/2mYQy3m) ก็เท่ากับเป็นเงินหน่วยละ 2 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาตลาด ราคาประเมินราชการอาจเป็นเงินเพียง 60% ของราคาตลาด หรือเท่ากับ 1.2 ล้านบาท จำนวนทั้งหมด 24 ล้านหน่วย ก็เป็นเงิน 28.8 ล้านล้านบาท หากมีการเก็บภาษีที่ 0.1% ก็จะเป็นเงิน 28,000 ล้านบาท แต่หากเก็บเป็น 1% ก็จะได้เงินสูงถึง 280,000 ล้านบาท เงินจำนวนนี้บวกกับภาษีจากอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่น สามารถใช้บริหารท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี
10. การที่ท้องถิ่นจะมีเงินมากขึ้นในการบริหารท้องถิ่น ก็จะทำให้ท้องถิ่นมีอิสรภาพทางการเงินและทางการเมือง เป็นประชาธิปไตยที่แท้ ไม่ต้องถูกส่วนกลางครอบงำเช่นที่ผ่านมา ระบอบประชาธิปไตยก็จะได้รับการสถาปนาอย่างยั่งยืน ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับระบอบคณาธิปไตยจากส่วนกลาง การให้ประชาชนท้องถิ่นดูแลผลประโยชน์ของตนเอง จึงเป็นสิ่งที่ชอบแล้ว
โดยนัยนี้การขึ้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจึงอาจไม่เป็นจริง รัฐบาลจึงอาจใช้เป็นข้ออ้างในการขึ้นภาษี VAT เป็น 8% ในที่สุด ทำให้ประชาชนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า ต่างจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เก็บเฉพาะผู้มีทรัพย์ และยิ่งมีทรัพย์มาก ภาระภาษีก็จะมากขึ้นเป็นเงาตามตัวอันเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนในสังคมนั่นเอง แต่ถ้าไม่มีภาษีนี้ ความเหลื่อมล้ำก็จะไม่สิ้นสุด
ร่วมกันวิพากษ์ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแบบปาหี่-กำมะลอนี้กันเถอะ