เรื่องดรามาระหว่างคุณบอย-ถกลเกียรติกับแท็กซี่ คงไม่ได้ผิดทั้งคู่ แต่ต้องโทษรัฐบาลต่างหากที่ผิด รัฐบาลผิดอย่างไรมาดูกัน
ที่มาของภาพ อย่าพาดหัวชุ่ย ๆ www.khaosod.co.th/special-stories/news_282284
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ขอยกกรณีคุณบอย-ถกลเกียรติเป็นอุทาหรณ์สำหรับการเสพสื่อและโทษรัฐบาลว่ากระทำผิด เพื่อทุกท่านจะได้ใช้ข้อมูลอย่างมีวิจารณญาณ โดยเรื่องที่เกิดขึ้นนั้น เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2560 คุณบอยก็ยอมรับว่า
1. ใช้เท้าถีบรถแท็กซี่ "ผมก็รู้สึกมีส่วนผิดที่ไปทำร้ายเขา เพราะเขาบอกมาว่า รถใคร ใครก็รัก. . ."
2. เสนอให้เงินชดใช้เขา ไม่ได้ถูกข่มขู่เอาเงิน 1,000 บาท
3. "ไม่ได้ติดใจอะไรเพราะผมก็เข้าใจว่าการที่เขาขับรถมาอยู่ดีๆ มีคนมาทำแบบนั้นกับรถเขา เขาก็ต้องโกรธเป็นธรรมดา" {1}
ข้างฝ่ายแท็กซี่ก็บอกชัดเจนในทำนองเดียวกับคุณบอย {2} และสังเกตดูในเวลาเกิดเหตุ แท็กซี่นี้แต่งตัวสุภาพเรียบร้อย ไม่ได้แต่งตัวรุ่มร่าม แม้จะพูดจาแข็ง ๆ ก็ไม่ได้กล่าวคำหยาบคายใด ๆ ดังนั้นผู้ที่ลงคลิปที่หาว่าแท็กซี่ข่มขู่ จึงไม่ได้พูดเรื่องจริง แถมผู้ลงคลิปยังบอกว่าคุณบอยไม่ได้ทุบรถทั้งที่คุณบอยก็ยอมรับว่าใช้เท้าถีบไป {3} คำพูดของคนในสื่อออนไลน์ที่ใช้ความรู้สึกและไม่ได้เห็นตลอด จึงไม่อาจเชื่อได้ง่าย ๆ คนเสพสื่อจึงพึงระมัดระวังในการใช้วิจารณญาณ ถ้าคนขับแท็กซี่จะค้าความที่ทำให้เขาเสียหาย ก็สามารถฟ้องคนลงคลิปได้ชัดเจน
อย่างไรก็ตามผู้ที่ควรได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ควรอยู่ที่ทางราชการเองที่ "บ้าจี้"
1. ปรับ 1,000 บาทที่ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร ข้อนี้ไม่ควรปรับเพราะเขาไม่ได้ปฏิเสธหลังจากทราบว่าจะไปไหน เพียงแต่เขาโบกมือไม่รับ และเป็นการไม่จอดรับในบริเวณเส้นขาวแดง ซึ่งเป็นการที่ชอบแล้วที่เขาไม่จอดรับ
2. ปรับ 1,000 บาทที่ใช้กิริยาวาจาไม่สุภาพ แต่ในความเป็นจริง แท็กซี่ใช้คำพูด คุณ-ผม โดยตลอด ไม่ได้กล่าวคำหยาบคาบแม้แต่น้อย
3. พักใช้ใบอนุญาต 30 วัน โดยที่เขาไม่ได้ไม่สุภาพ และไม่ได้ปฏิเสธผู้โดยสารเพราะไม่ใช่ทางที่เขาจะไปแต่อย่างใด {4}
การกระทำต่อแท็กซี่อย่างนี้เป็นการกระทำที่เป็นธรรมของรัฐหรือไม่ เป็นสิ่งที่สังคมควรพิจารณา คุณบอยก็บอกว่าต้องแก้ที่ระบบ แต่ระบบที่ว่านี้คงไม่ใช่เฉพาะระบบรถแท็กซี่อูเบอร์หรือ "GrabTaxi" เท่านั้น แต่สิ่งที่รัฐบาลทำได้แต่ไม่ได้ทำก็คือ:
1. การตรวจจับอย่างจริงจังถึงการที่แท็กซี่ไม่รับผู้โดยสาร และจับปรับตรงที่เกิดเหตุ เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง รัฐไม่พึงอ้างว่าไม่มีงบประมาณ งบประมาณในการนี้คงใช้น้อยนิดมากเมื่อเทียบกับงบประมาณจัดซื้ออาวุธ และยังสามารถนำค่าปรับมาใช้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการตรวจจับได้อีกด้วย และไม่ควรทำแบบ "ไฟไหม้ฟาง"
2. หากรัฐบาลให้มีการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอย่างถ้วนหน้าและนำเงินส่งท้องถิ่น ท้องถิ่นก็จะมีเงินมาจัดสร้างระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น มีอาสาสมัครมาดูแลการใช้รถใช้ถนน ตรวจจับแท็กซี่หรือคนเรียกแท็กซี่ผิดกฎหมายได้ ปัญหาก็จะบรรเทาลง แต่รัฐบาลกลับจะจัดเก็บภาษีเฉพาะบ้านที่เกิน 50 ล้านบาท ซึ่งมีอยู่ไม่กี่พันหลังทั่วประเทศ
3. การที่แท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารมากมาย รัฐไม่เคยศึกษาให้ชัดเจนว่า ค่าโดยสารที่กำหนดนี้คุ้มหรือไม่ ผลการศึกษาหนึ่งพบว่าถ้าขับแท็กซี่ 12 ชั่วโมงโดยไม่ปฏิเสธผู้โดยสารจะได้เงิน 1,475 บาท แต่ปกติแท็กซี่จะขับได้แค่ 10 ชั่วโมง เพราะต้องส่งรถและล้างรถ ในกรณีนี้อาจเหลือเพียง 1,229 บาท หักหักค่าเช่า 600 บาท ค่าแก๊สที่อาจไปไกลหน่อย 300 บาท ก็เหลือเงินเพียง 329 บาท จึงนับได้ว่าอาจไม่คุ้มค่า {5} หากค่าโดยสารสูงกว่านี้อาจทำให้ปัญหานี้ลดน้อยถอยลงได้
นี่คือกรณีศึกษาของการเสพสื่อ การเล่นข่าวของพวกสื่อไร้จรรยาบรรณบ้าง เหยียดคนจนบ้าง และที่สำคัญก็คือการที่คนเราอาจสิ้นหวังในรัฐ จึงไม่ได้เสนอให้รัฐบาลปรับปรุงระบบการตรวจจับ การใช้งบประมาณเพื่อประชาชนมากกว่านี้ หรือบริหารด้วยปัญญา ด้วยการมีข้อมูลที่ดีมากกว่านี้ ก็เป็นได้
อ้างอิง
{1} “บอย ถกลเกียรติ” ยอมรับใช้เท้าถีบแท็กซี่ บันดาลโทสะเรียกไม่ไป ขอโทษ-วอนแก้ระบบ www.khaosod.co.th/special-stories/news_282284
{2} คนขับแท็กซี่ยันไม่ได้ข่มขู่-เรียกรับเงิน 'บอย ถกลเกียรติ' พร้อมฝากถึงคนโพสต์คลิป www.youtube.com/watch?v=Z6tZEdwdJ6k
{3} ทุบโต๊ะข่าว :เปิดใจ! คนเห็นเหตุ "บอย ถกลเกียรติ" ถูกแท็กซี่โหดปืนขู่ตบทรัพย์-ขนส่งจ่อสอบ www.youtube.com/watch?v=tDeHw-DxDXM&t=4m15s
{4} ดูคลิปนี้ ณ นาทีที่ 1:34: www.youtube.com/watch?v=w8qG5vk7_xs&t=1m34s
{5} จริงหรือไม่ถ้าแท็กซี่ไม่ปฏิเสธผู้โดยสารบ้าง จะขาดทุน? www.autodeft.com/clipvdo/if-taxi-not-reject-passenger-will-loss