ถ้าผมเป็นนายกสมาคมประเมินค่า/ราคาทรัพย์สิน/อสังหาริมทรัพย์ ผมจะปฏิวัติวงการเสียใหม่ ให้เป็นประชาธิปไตย ทำเพื่อให้นักวิชาชีพมีเกียรติและศักดิ์ศรีด้วยการรับใช้สังคมอย่างเที่ยงธรรม
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ขอร่วมแสดงความเห็นต่อบทบาทของผู้นำในวงการประเมินค่าทรัพย์สิน ว่าควรดำเนินการอะไรบ้าง แต่ ดร.โสภณ ไม่ประสงค์ที่จะไปร่วมแข่งขันเป็นนายกสมาคมใด เพียงแสดงความเห็นในเชิงสร้างสรรค์เท่านั้น
1. ผมจะเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ประเมินค่าทรัพย์สินเอง เพราะจากบทเรียนวิกฤติปี 2540 ธนาคารประเมินกันเองมากจนกระทั่งเกิดหนี้ NPLs กันมากมาย แต่ขณะนี้ธนาคารเริ่มประเมินกันเองอีกแล้ว นัยเพื่อลดต้นทุน แต่ที่จริงหากจ้างบริษัทประเมิน มีต้นทุนถูกกว่า และต้นทุนด้านประเมินนั้นน้อยนิดเพียงไม่ถึง 0.1% ต่างจากค่าบริหารการขาย 3% ตั้งมากมาย
2. ผมจะให้ธนาคารต่าง ๆ เลิก "สัญญาทาส" กับบริษัทประเมินที่มุ่งเอาโทษเกินความจริง แต่ให้บริษัทประเมินทำประกันทางวิชาชีพ เช่น ในวงเงิน 30 ล้านบาท จ่ายเบี้ยประกันประมาณ 150,000 บาทต่อปี และผู้ประเมินค่าทรัพย์สินก็จ่ายเบี้ยประกันทุกงาน ๆ ละ 1% ของค่าจ้างที่ได้รับ เพื่อให้มีความรับผิดชอบร่วมกัน ถ้าประเมินผิด ก็มีบริษัทประกันจ่ายให้ แต่ถ้าผิดเพราะทุจริต ก็ไม่ได้รับการคุ้มครอง
3. ในด้านการสอบเป็นผู้ประเมินระดับชั้นต่าง ๆ ผมจะให้มีการสอบในแต่ละชั้นปีละ 3 ครั้ง ไม่ใช่ปีละครั้ง คนที่สอบได้จำนวนน้อยนิดเลยถูกซื้อตัวกันไปมา แต่ไม่ได้ "ปล่อยผี" แต่การสอบบ่อย ๆ จะทำให้ได้คนมาเข้าสู่วงการมากขึ้น ผู้ตรวจงานประเมินของแต่ละธนาคาร ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมธนารักษ์ ก็ควรผ่านการสอบเช่นกัน จะได้มีการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพมากขึ้น ผมจะไม่เก็บค่าสอบหรือลดค่าสอบให้เหลือเพียง 500 บาทต่อครั้ง เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ผู้สอบ เพื่อส่งเสริมให้ทุกฝ่ายมาร่วมสอบ ยกระดับวิชาชีพ จริงๆ ฟรีได้ยิ่งดีเพราะสมาคมเราก็มีรายได้จากงานอื่นๆ อยู่แล้ว
4. ผมจะจัดเก็บค่าอบรมต่าง ๆ แต่น้อย ปัจจุบันนี้ผู้ประเมินต้องเสียค่าอบรมปีละหลายพันบาท แม้แต่งานประชุมประจำปีให้สมาชิกไปออกเสียง ก็ยังเก็บเงิน ทำให้คนไปกันน้อย อย่าได้รีดเลือดกับปูเลย ควรส่งเสริมกันและกัน นอกจากนี้ควรให้มีกิจกรรม CPD (Continuing Professional Development) โดยผ่านหน่วยงานหลากหลาย ไม่ใช่สมาคมผูกขาดเอง เพื่อลดต้นทุนให้กับผู้ผ่านการอบรม
5. ผมจะส่งเสริมให้ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินที่ เป็นลูกจ้าง ได้รวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแรงงานผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน เพื่อการคุ้มครองผู้ประเมิน นายจ้างจะไปรู้ดี หรือเห็นแก่ประโยชน์ของลูกจ้างถ่ายเดียวคงเป็นไปไม่ได้ การต่อรองกัน (ในยามจำเป็น) อาจเป็นทางออกที่ดีกว่าแบบ "พ่อปกครองลูก" ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินจะได้มีอิสรภาพทางความคิดอีกด้วย
6. ผมจะไม่รับค่าตอบแทนใด ๆ การมาทำงานเพื่อส่วนรวม ไม่ควรมีผลตอบแทน จะได้ส่งเสริมการมาทำประโยชน์ต่อส่วนรวมด้วยใจแบบจิตอาสา การเป็นนายกฯ กรรมการ อนุกรรมการ ควรทำด้วยใจสมัคร เพราะการทำแบบนี้ก็ได้รับการยอมรับในสังคมอยู่แล้ว และควรมีการหมุนเวียน ไม่ควรมีการผูกขาดแบบสมาคมกีฬาบางแห่งในอดีต
7. ผมจะจัดให้มีหน่วยตรวจสอบบริษัทประเมินและผู้ประเมินค่าทรัพย์สินว่าดำเนินการตรงตามมาตรฐานหรือไม่ หรือหากมีการร้องเรียนก็ต้องตัดสินบนพื้นฐานที่เป็นธรรม ไม่ใช่กลัวแต่ว่าจะถูกฟ้องกลับ ไม่ต้องทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
8. ผมจะเร่งร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สิน เพื่อให้มีสภาผู้ประเมินค่าทรัพย์สินที่รัฐบาล ซึ่งถือเป็นตัวแทนของประชาชนมาดูแล มีนักวิชาชีพ สถาบันการเงิน สถาบันวิชาการ ผู้ประเมินอาวุโส มาเข้าร่วม และที่สำคัญให้มีการเลือกผู้แทนของผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแบบเลือกตั้งตรงมา ไม่ใช่ให้ "ผู้มีอิทธิพล" มาคอยกำกับ
ผมเคยเป็นกรรมการสมาคมด้านประเมินค่าทรัพย์สิน เป็นสมาชิกที่ดีของทุกสมาคม และไม่เคยคิดจะไป "ช่วงชิง" กับใคร ผมเป็นผู้แทนในสมาคมประเมินค่าทรัพย์สินนานาชาติหลายแห่ง ผมมาบำเพ็ญประโยชน์ด้วยการบริจาคเงิน 200,000 บาท ก่อตั้งมูลนิธิค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทยด้วยการ เพื่อให้ความรู้แก่สาธารณะชน ผมจัดเสวนาวิชาการทุกเดือนต่อเนื่องมารวมทั้งหมด 177 หน (นับถึงเดือนเมษายน 2560) โดยสมาชิกเสียเงินปีละ 1,000 บาท เสวนาได้ 12 หน มีวารสารแจกฟรี จัดประกวดเรียงความชิงโล่พระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ฯลฯ ผมเป็นประธานมูลนิธิ แต่ต่อมายกตำแห่งให้ท่านอื่น ๆ มาเป็นบ้าง เพื่อมาร่วมกันสร้างสรรค์โดยไม่ได้ผูกขาดใดๆ
มาช่วยกันพัฒนาวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินเพื่อสังคมที่เที่ยงธรรมเถอะ