ปัญหาคนเร่ร่อน, ปัดเป่าด้วยเงินเพียง 730 ล้านบาทต่อปี
  AREA แถลง ฉบับที่ 182/2560: วันจันทร์ที่ 24 เมษายน 2560

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            การปัดเป่านี้คือการปัดเป่าปัญหาคนเร่ร่อนหรือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ไม่ใช่ "กำจัด" หรือไม่เห็นถึงสิทธิมนุษยชนของคนเร่ร่อน ปัญหานี้แก้ไขได้ไม่ยาก อยู่ที่รัฐจะเอาจริงหรือไม่

            เมื่อวันศุกร์ที่ 7 เมษายน 2560 ผม (ดร.โสภณ พรโชคชัย) ในฐานะประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) และในนามของประธานกรรมการมูลนิธิอิสรชน (www.issarachon.org) ได้จัดแถลงข่าวเกี่ยวกับการสำรวจจำนวนคนเร่ร่อนในกรุงเทพมหานคร โดยมีนายนที สรวารี เลขาธิการมูลนิธิเป็นประธานคณะทำงานสำรวจและรายงานผล

            นายนทีได้รายงานผลสำรวจล่าสุดว่ามีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะในปี 2559 จำนวน 3,455 คน แยกเป็นชาย 2,112 คน (61%) และหญิง 1,374 คน (39%) ในเขตพระนครมีมากที่สุด 604 คน (17%) รองลงมาคือ เขตบางซื่อ 301 คน (9%) เขตจตุจักร 249 คน (7%) เขตปทุมวัน 218 คน (6%)  เขตสัมพันธวงศ์ 203 คน เขตคลองเตย 152 คน  (4%) เขตราชเทวี 149 คน (4%) เขตพญาไท 142 คน (6%)  เขตบางกะปิ 140 คน (4%) และเขตบางรัก 136 คน (4%)

            บุคคลเหล่านี้ยังสามารถแยกแยะเป็น กลุ่มที่เร่ร่อนไปมามี 993 คน (29%) รองลงคือกลุ่มผู้ติดสุรา 858 คน (25%) ผู้นอนหลับชั่วคราว 853 คน (25%) คนเหล่านี้บ้างก็เป็นผู้เพิ่งพ้นโทษ ผู้ป่วยข้างถนน มีทั้งที่เป็นครอบครัว และเป็นบุคคล มีชาวตะวันตกเป็นเป็นคนต่างชาติเร่ร่อนอยู่ 25 คน กลุ่มแรงงานเพื่อนบ้านต่างชาติ 51 คน และยังพบผู้ให้บริการทางเพศอีก 28 คน

            คนเร่ร่อนนั้นแตกต่างจากขอทาน ขอทานเป็นอาชีพหนึ่งที่ใช้ความน่ารักน่าสงสารมาทำให้มีผู้ให้เงิน เข้าทำนองการหลอกลวงประชาชน ขอทานจะมีรายได้สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำเสียอีก ค่าเฉลี่ยของรายได้ของขอทานรายหนึ่งเป็นเงินประมาณ 2,000 - 5,000 บาทต่อวัน รายได้ต่ำสุดที่ได้คือ 500 บาท ขอทานที่มีรายได้สูง จะทำตัวให้สกปรกที่สุด น่าสงสารเวทนาเป็นที่สุด หาก (แสร้ง) ทำแผลให้เหวอะหวะ (โดยใช้ถุงน่อง) หรือแสร้งแสร้งทำแขนหรือขาด้วยด้วยแล้ว ยิ่งมีรายได้สูงขึ้น ด้วยเหตุนี้ เราจึงพบขอทานเกลื่อนเมืองโดยเฉพาะในเขตใจกลางเมืองของกรุงเทพมหานครนั่นเอง {1}

            อย่างไรก็ตามคนเร่ร่อนมีลักษณะที่แตกต่างออกไปจากขอทานทั่วไปที่มีชาวต่างชาติอยู่เป็นจำนวนมาก  ขอทานกลายเป็นอาชีพที่ขายความน่ารักน่าสงสาร กลายเป็นการทำบุญได้บาป แต่คนเร่ร่อนเกิดขึ้นจากปัญหาที่รุมเร้าต่าง ๆ นานาจนต้องออกมาเร่ร่อน เราพึงเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเขา และหาทางให้พวกเขากลับเข้าสู่สังคมโดยเร็ว พวกเขาไม่ใช่ขอทานที่งอมืองอเท้าขอเงิน

            การแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อน จะทำให้

            1. คนเร่ร่อนมีที่พักพิงแน่นอน ไม่เป็นภาระแก่สังคม และไม่ทำให้สังคมรู้สึกได้รับอันตราย

            2. คนเร่ร่อนไม่ต้องทรุดหนักลงเป็นบุคคลทุพพลภาพทางจิต หรือกลายเป็นปัญหาการรักษาพยาบาลที่หนักขึ้น

            3. มีโอกาสพัฒนาคนเร่ร่อนให้กลับเข้าสู่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            4. โอกาสที่สังคมจะเกิดคนเร่ร่อนจะน้อยลงหากสังคมได้รับการดูแลที่ดีกว่านี้

            การช่วยเหลือคนเร่ร่อนนั้นถือเป็นหลักสากลด้านสิทธิมนุษยชน เราไม่สามารถที่จะปล่อยให้มนุษย์ด้วยกันเร่ร่อน เช่นเดียวกับสุนัขจรจัด ต้องให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม การช่วยเหลือเหล่านี้ไม่ได้เป็นการช่วยเหลือแบบไม่สิ้นสุด แต่เพื่อให้เขาสามารถกลับเข้าสู่สังคมได้อย่างปกติสุขนั่นเอง หลักสิทธิมนุษยชนนี้ถือเป็นกฎหมายเพราะประเทศต่าง ๆ รวมทั้งไทยก็ต้องปฏิบัติตามปฏิญญาสากลเรื่องสิทธิมนุษยชนนี้

            ในระดับชาติ ประเทศไทยก็มีพระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ.2557 {2} ซึ่งมีสาระสำคัญในการช่วยเหลือคนเร่ร่อนในฐานะคนไร้ที่พึงเช่นกัน ในประเทศอื่นเช่น สหรัฐอเมริกา สก็อตแลนด์ ก็มีกฎหมายที่เป็นพระราชบัญญัติเช่นกัน และในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็มีกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาคนเร่ร่อนในหลายประเทศเช่นกัน {3}

            การแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนทำได้ยากเพราะที่ผ่านมากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้รับงบประมาณเพียงประมาณ 10,000 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งหมดราว 2.7 ล้านล้านบาท หรือราว 0.37% เท่านั้น จึงไม่เพียงพอในการแก้ไขปัญหา รัฐบาลควรจัดเก็บภาษีมากกว่านี้โดยเฉพาะภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อนำมาพัฒนาท้องถิ่น และในขณะเดียวกันก็ควรที่จะแบ่งเงินมาพัฒนาสังคมมากกว่านี้

            ในการแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนนั้น ในกรณีกรุงเทพมหานคร อาจมีคนเร่ร่อนไม่มากนัก สมมติ ณ ระดับที่ 4,000 คน หากยังไม่ได้รับการแก้ไข ค่าใช้จ่ายในการแก้ไขอาจเป็นเงินคนละ 500 บาทต่อวัน โดยแยกเป็นค่าใช้จ่ายด้านอาหาร ที่พักชั่วคราว การประกอบอาชีพ การพัฒนาอาชีพ การจัดหางาน ฯลฯ หรือเป็นเงินปีละ 730 ล้านบาท หรือเป็นมูลค่าสำหรับการแก้ไขทั้งระบบ ณ อัตราคิดลด 8% เป็นเงิน 9,125 ล้านบาท จะเห็นได้ว่างบประมาณปีละ 730 ล้านบาทนี้ยังมีเพียงสัดส่วนเพียง 1% ของงบประมาณแผ่นดินของกรุงเทพมหานคร ดังนั้นถ้ากรุงเทพมหานคร "เจียด" เงินมาดูแลสังคมมากกว่านี้ ปัญหาคนเร่ร่อนก็จะหมดไปได้อย่างง่ายดาย

            โดยสรุปแล้วการแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนที่มีอยู่จำนวนไม่มากนักในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่น สามารถทำได้ไม่ยากนัก เพราะยังมีจำนวนไม่มากนัก หากรัฐบาลจัดงานประมาณเพื่อการนี้ และได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน ปัญหานี้ก็สามารถได้รับการแก้ไขเพื่อจรรโลงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนเร่ร่อนหรือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ อย่าให้เกิดการบีบคั้นจนสังคมมีคนเร่ร่อนเต็มไปหมด

อ้างอิง

{1} AREA แถลง ฉบับที่ 42/2558: วันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558: ขอทาน: ทำดีแบบมักง่าย-เป็นภัยของคนกรุง www.area.co.th/thai/area_announce/area_anpg.php?strquey=area_announcement870.htm

{2} ดูพระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ได้ที่ www.dsdw2016.dsdw.go.th/view_prnews.php?newsbuzz_id=1179

{3} ดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคนเร่ร่อนได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Anti-homelessness_legislation

อ่าน 4,347 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved