การควบคุมวิชาชีพอสังหาริมทรัพย์
  AREA แถลง ฉบับที่ 188/2560: วันศุกร์ที่ 28 เมษายน 2560

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ดร.โสภณ เสนอให้ตั้งสภาวิชาชีพอสังหาริมทรัพย์ควบคุมผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน นายหน้าและนักวิชาชีพอื่นที่เกี่ยวข้องโดยรัฐบาลในฐานะผู้แทนของประชาชนเป็นผู้ควบคุม ไม่ใช่ให้ควบคุมกันเองแบบ "ซูเอี๋ย" โดยสภาควรเป็นผู้ออกใบอนุญาต ตรวจตรานักวิชาชีพ ไมใช่แค่ตรายางและและเสนอให้มีการประกันทางวิชาชีพอีกด้วย

            ในวันศุกร์ที่ 28 เมษายน 2560 นี้ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะประธานก่อตั้งมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย จัดการเสวนาวิชาการรายเดือนของมูลนิธิครั้งที่ 177 เรื่องการยกระดับมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ (นายหน้า ประเมิน บริหารทรัพย์สิน) ณ โรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย โดย ดร.โสภณ เสนอบทความเรื่อง "บททดลองเสนอแนวทางการควบคุมทางวิชาชีพ"

ความจำเป็นในการควบคุม

            ความจำเป็นที่ต้องมีการควบคุมทางวิชาชีพ ก็คือ รัฐบาลในฐานะที่เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของประชาชน ต้องเป็นผู้ควบคุม จะปล่อยให้สมาคมควบคุมกันเองไม่ได้ แต่สามาคมก็มีสิทธิที่จะควบคุมกันเองในระดับหนึ่งเป็นการภายใน รัฐบาลจำเป็นต้องออกพระราชบัญญัติมาเพื่อการควบคุมหรืออาจเป็นกฎกระทรวงหรือมีกฎหมายบางประการในการควบคุมทางวิชาชีพ

            การควบคุมทางวิชาชีพเริ่มมาในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่ได้ยกเลิกไปหลังจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ การไม่มีการควบคุมทางวิชาชีพ จะทำให้เกิดปัญหาด้านช่องโหว่ให้เกิดการทุจริต โดยใช้นักวิชาชีพเป็นเครื่องมือ ในประเทศที่จะหยุดยั้ง ปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง จึงจำเป็นต้องมีการควบคุมทางวิชาชีพอย่างเคร่งครัด เป็นที่น่าแปลกใจที่ประเทศเพื่อนบ้านที่พัฒนาทางวิชาชีพมาภายหลัง กลับมีการควบคุมทางวิชาชีพแล้ว เช่นในปี 2549 ดร.โสภณ ไปเป็นที่ปรึกษากระทรวงการคลังเวียดนาม เพื่อการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพ ขณะนี้เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ก็มีการควบคุมทางวิชาชีพแล้ว

แนวทางการควบคุมทางวิชาชีพ

            ในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ มีคณะกรรมการควบคุมนักวิชาชีพด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งประกอบด้วย ผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน นายหน้า นักบริหารทรัพย์สิน ช่างรังวัดเอกชน เพราะเป็นวิชาชีพที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน ส่วนนักวิชาชีพอื่น เช่น สถาปนิก วิศวกร ก็มีการควบคุมทางวิชาชีพอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นที่ต้องนำมารวมด้วย และนักธุรกิจด้านการก่อสร้าง การพัฒนาที่ดิน ก็มีการควบคุมการดำเนินการโดยเคร่งครัดอยู่แล้ว ดังนั้นต่อนักวิชาชีพอสังหาริมทรัพย์โดยตรง จึงอาจออกพระราชบัญญัติหรือกฎหมายในระดับอื่นใดก็ตามมาควบคุมทางวิชาชีพโดยตรง

            ในระดับสูงสุดก็จะมีคณะกรรมการควบคุมวิชาชีพหรือสภาวิชาชีพ คล้ายสภาวิศวกร สภาสถาปนิก สภานักบัญชีเป็นต้น ส่วนสมาคมของนักวิชาชีพ ก็มีไว้เพื่อการรวมตัวกันทำดี ปกป้องธุรกิจ ปกป้องวิชาชีพ ให้ความรู้ หรือเพื่อการสันทนาการ ก็เป็นสิ่งที่สามารถดำเนินการเสริมได้ คณะกรรมการควบคุมวิชาชีพนี้ จะประกอบด้วยผู้แทนของทางราชการเป็นประธาน คณะกรรมการควรประกอบด้วยผู้แทนจากส่วนราชการ และผู้แทนภาคเอกชน ที่ประกอบด้วยสถาบันการเงิน นักวิชาชีพ สถาบันการศึกษา หรืออื่นใด โดยควรให้มีการเลือกตั้งจากผู้แทนของแต่ละกลุ่มโดยตรง ไม่ใช่ให้นายกสมาคมมาเป็นผู้แทน เพื่อให้เป็นผู้แทนที่แท้จริง

บทบาทของคณะกรรมการควบคุมวิชาชีพ

            คณะกรรมการหรือสภาวิชาชีพ ต้องมีหน้าที่หลักในการออกใบอนุญาตการเป็นนักวิชาชีพ ใบอนุญาตของวิสาหกิจที่ประกอบวิชาชีพนั้น ๆ โดยจัดให้มีการสอบใบอนุญาต ในทางตรงกันข้าม สมาคมไม่ควรมีการออกใบอนุญาตใด ๆ เพราะกรรมการก็เป็นคู่แข่งทางธุรกิจกัน ไม่ควรมี "อภิชน" ใด ๆ มามีบทบาทหรืออำนาจเหนือวิสาหกิจหรือนักวิชาชีพอื่น

            และในทางปฏิบัติ ผู้เกี่ยวข้องในวิชาชีพนั้นๆ ควรมีใบประกอบวิชาชีพ เช่น ผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน ก็ควรให้ผู้ประเมินในบริษัทประเมินต่างๆ ในส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในสถาบันการเงินทั้งหลาย ได้สอบจัดระดับเป็นชั้นวิสามัญ ชั้นสามัญและชั้นวุฒิด้วย สำหรับการจัดสอบ ควรเก็บค่าใช้จ่ายแต่น้อย ไม่ใช่ "รีดเลือดกับปู" และควรจัดสอบถี่ ๆ เพื่อยกระดับนักวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง

            บทบาทอื่น ๆ ที่สำคัญของสภาวิชาชีพก็คือ

            1. การตรวจสอบคุณภาพของบริษัทประเมินหรือสมาชิกอย่างต่อเนื่องถึงภาคสนามหรือถึงบริษัทนั้นๆ ไม่ใช่เพียงจัดสอบแล้วจบไป

            2. การตัดสินความต่าง ๆ อย่างเที่ยงธรรมตรงเวลา

            3. การประกันทางวิชาชีพ เพื่อให้เกิดความอุ่นใจแก่ผู้ใช้บริการ

            4. เปิดโอกาสให้สถาบันการศึกษาต่าง ๆ จัดกิจกรรมการศึกษาต่อเนื่อง (Continuing Professional Development Program หรือ CPD) ไม่ใช่ผูกขาด หรือ "ปิดประตูตีแมว" โดยสมาคมในราคาแพง สร้างปัญหาให้กับนักวิชาชีพ เป็นการ "ช่วงเถือ" มากกว่า "ช่วยเหลือ" นักวิชาชีพ

การประกันทางวิชาชีพ

            ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินในประเทศตะวันตก หรือนักวิชาชีพด้านแพทย์ พยาบาล วิศวกร นักบัญชี ฯลฯ ในประเทศที่เจริญแล้ว ล้วนแต่มีการประกันทางวิชาชีพ (Indemnity Insurance) เพราะในการทำงาน อาจมีความประมาทเลินเล่อร้ายแรงที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ลูกค้าได้ จึงควรบังคับให้มีการประกันทางวิชาชีพ เช่น ในปัจจุบัน บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เสียค่าเบี้ยประกันทางวิชาชีพปีละประมาณ 150,000 บาท โดยมีวงเงินคุ้มครอง 30 ล้านบาท เป็นต้น

            โดยที่ไม่มีการประกันทางวิชาชีพอย่างแพร่หลาย จึงทำให้สถาบันการเงินต้องเขียนสัญญาจ้างผู้ประเมินค่าทรัพย์สินอย่าง "เอาเปรียบ" บริษัทประเมินเป็นอย่างมาก จนดูคล้าย "สัญญาทาส" ที่ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินเสียเปรียบมากมาย หากมีการประกันทางวิชาชีพทั้งบริษัทประเมิน และผู้ประเมินค่าทรัพย์สินเป็นรายๆ ไปในวงเงินประมาณ 1% ของค่าจ้างงานแต่ละงาน เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ดี ส่วนผู้ที่ตั้งใจจะทุจริตหรือร่วมทุจริต ก็ไม่มีการคุ้มครอง และต้องถูกลงโทษตามกฎหมายปกติอยู่แล้ว

            การควบคุมทางวิชาชีพ จะช่วยยกระดับความน่าเชื่อถือของนักวิชาชีพได้เป็นอย่างดี ทำให้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศชาติด้วยวิชาชีพ

อ่าน 3,411 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved