AREA แถลง ฉบับที่ 29/2554: 6 เมษายน 2554
สึนามิไม่เคยทำให้ที่ดินภูเก็ตราคาตก
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
ทุกวันนี้ที่มีข่าววาตภัย อุทกภัย หรือภัยธรรมชาติต่าง ๆ กระทั่งสึนามิ อาจทำให้ประชาชนหวาดวิตกถึงอนาคต ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จึงได้ทำกรณีศึกษาให้เห็นว่า แม้แต่กรณีสึนามิเมื่อเดือนธันวาคม 2547 ที่พัดเข้าภูเก็ตอย่างรุนแรง ก็ไม่ได้ทำให้ราคาที่ดินตก ดังนั้นจึงไม่ควรตกใจจนเกินไป
ที่ว่าราคาที่ดินไม่ตกแม้เกิดสึนามินั้น ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้ทำการสำรวจราคาที่ดินในช่วงเดือนกรกฎาคม 2547 ซึ่งเป็นช่วงก่อนสึนามิ 5 เดือน และได้สำรวจราคาที่ดินอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 2548 หลังจากเกิดสึนามิ 5 เดือนเช่นกัน ผลปรากฏว่า ราคาที่ดินที่หาดฝั่งตะวันตกของเกาะภูเก็ต ซึ่งได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิเต็มที่นั้น ราคาไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนราคาที่ดินฝั่งตะวันออก ซึ่งไม่มีสึนามินั้น ราคากลับเพิ่มขึ้น
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้พบว่า ราคาที่ดินฝั่งตะวันตกบริเวณหาดไม้ขาว ราคาไร่ละ 5 ล้านบาท หาดไนยาง ไร่ละ6 ล้านบาท หาดในทอน ไร่ละ7 ล้านบาท หาดบางเทา ไร่ละ 7.5 ล้านบาท หาดสุรินทร์และหาดกมลา ไร่ละ 9 ล้านบาท หาดป่าตอง ไร่ละ 40 ล้านบาท หาดกระรน ไร่ละ 20 ล้านบาท และหาดกะตะ ไร่ละ 10 ล้านบาท ทั้งนี้ราคาดังกล่าว ณ เดือนกรกฎาคม 2547 และเดือนพฤษภาคม 2548 ไม่เปลี่ยนแปลงแต่ประการใด
ส่วนราคาที่ดินฝั่งตะวันออก ตรงบริเวณ อ่าวมะพร้าว ไร่ละ 2.0 ล้านบาท ขยับเป็น 2.2 ล้านบาท ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2547 และเดือนพฤษภาคม 2548 อ่าวปอ ขยับจากไร่ละ 3.0 ล้านบาท เป็น 3.5 ล้านบาท อ่าวสะปัม จาก 3.0 ล้านบาท เป็น 3.3 ล้านบาท อ่าวฉลอง และหาดราไว เพิ่มจากไร่ละ 5.0 ล้านบาท เป็น 5.5 ล้านบาท การที่ราคาที่ดินในซีกตะวันออกของเกาะขยับขึ้น ก็เพราะความเชื่อว่า จะไม่เกิดสึนามิทางด้านตะวันออกนั่นเอง
หลังจากนั้นเป็นต้นมา ในการสำรวจราคาที่ดินในเดือนมีนาคม 2550 เดือนมีนาคม 2551 เดือนสิงหาคม 2552 เรื่อยมา ราคาก็ขยับขึ้นเป็นอย่างมาก ณ ปัจจุบัน เชื่อว่า ราคาที่ดิน ณ ปี 2554 ขยับมากกว่าเดือนพฤษภาคม 2548 เป็นอย่างมาก โดยเชื่อว่า หาดไม้ขาว ขยับขึ้นถึง 60% หาดบางเทา ขยับขึ้น 50% หาดกมลา ขยับขึ้น 70% หาดป่าตองขยับขึ้น 100% โดยราคาที่ดินเปล่าริมหาดน่าจะเพิ่มขึ้นสูงเกินกว่าไร่ละ 80 ล้านบาทแล้ว
ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ราคาที่ดินไม่ได้ลดลงเพราะสึนามิครั้งร้ายแรงที่สุดที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทยแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามหากกรณีอาคารพังเสียหาย ย่อมส่งผลต่อราคาที่ดินพอสมควร หรือไม้ยืนต้นตายเพราะน้ำท่วม เป็นต้น แต่กรณีราคาที่ดินเปล่า แม้ในคราวนั้นมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ก็ไม่ได้ทำให้ราคาที่ดินมี ‘ตำหนิ’ ลดราคาลงแต่อย่างใด กรณีนี้อาจต่างจากราคาบ้านซึ่งเป็นที่รโหฐาน หากมีผู้เสียชีวิตอย่างอนาถ อาจทำให้ราคาตกต่ำลงไปบ้าง แต่ก็เป็นเพียงความเชื่อเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ ประชาชนจึงไม่ควรตกใจจนเกินไปกับภัยธรรมชาติต่าง ๆ ซึ่งอาจทำให้ราคาที่ดิน ‘ช็อค’ หรือหยุดไปบ้าง แต่ไม่อาจหยุดยั้งการเจริญเติบโตของราคาที่ดินได้โดยเฉพาะเมื่อหาย ‘ช็อค’ ในระยะสั้น ๆ แล้ว
ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน |