สัมปทานรถไฟฟ้าคือการทุจริตหรือเปล่า
  AREA แถลง ฉบับที่ 253/2560: วันอังคารที่ 27 มิถุนายน 2560

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ในขณะที่หลายคนหลายประเทศดีใจที่ประเทศของตนจะมีระบบขนส่งมวลชนที่ดีขึ้นทั้งทางด่วนและรถไฟฟ้า แต่เจ้าของประเทศเหล่านั้นอาจช็อค หากรู้ว่ารัฐบาลของเขาไม่ได้กำลังทำเพื่อประชาชน แต่กำลังทำโครงการเพื่อโกงกินบ้านเมืองต่างหาก

            อันที่จริง ถ้านึกถึงการให้สัมปทานทำรถไฟฟ้าหรือทำทางด่วนนั้น มักหมายถึงการประมูลให้ นักลงทุนเจ้าใดเจ้าหนึ่งทำการก่อสร้างจนเสร็จ ดำเนินการแล้วค่อยโอนให้รัฐบาลหลังสิ้นสุดอายุสัมปทาน หรืออาจก่อสร้างแล้วโอนให้รัฐบาลเลยแต่ให้ดำเนินการจนเสร็จสิ้นอายุสัมปทานค่อยจบกันไป ในประเทศไทยของเราก็มีให้เห็น เช่น

            1. รถไฟฟ้าบีทีเอสสายแรกเมื่อปี 2542 ทางธนายงก็รับผิดชอบงานโยธา งานจัดหาตู้รถไฟฟ้าและระบบไฟฟ้าทุกอย่างเอง โดยรัฐให้ใช้ถนนในการก่อสร้าง

            2. ทางด่วนขั้นที่สอง บริษัทกูมาไกกูมิจากญี่ปุ่นก็ได้รับสัมปทาน แต่เสียดายภายหลังได้ขายคืนให้กับการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเพราะความขัดแย้งทางธุรกิจ

            3. ดอนเมืองโทลเวย์ รัฐบาลไทยก็ให้สัมปทาน 30 ปีไปเช่นกัน โดยผู้รับสัมปทานรับผิดชอบเองทุกอย่างรัฐบาลไม่ต้องไปประเคนให้แต่อย่างใด

            4. โครงการโฮปเวลล์ นายกอร์ดอน วู จากฮ่องกง ก็ได้รับสัมปทานสร้างจะทำศึกผ่านดอนเมืองหรือสุวรรณภูมิแต่เสียดายที่เจ๊งไปเสียก่อน เป็นต้น

            แต่ทุกวันนี้แม้จะบอกว่ามีการให้สัมปทาน แต่ดูเหมือนจะไม่ใช่แต่ก็ยังเรียกว่าเป็น "สัมปทาน" อยู่ อันนี้อาจทำให้ชาวบ้านงุนงงสับสน ถือเป็นการตบตาประชาชนหรือไม่ ก็ไม่อาจทราบได้ การให้สัมปทานแบบข้างต้นแม้รัฐจะแทบไม่ต้องเสียงเงินสักบาท  แต่ก็ทำให้ผู้มีอำนาจรัฐคือข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำไม่อาจโกงกินได้เท่าที่ควร

            ยกตัวอย่างเช่นการก่อสร้างทางด่วนหรือรถไฟฟ้าในบางประเทศที่ทำทีละขยัก เช่น สัญญาแรกเป็นการออกแบบช่วงที่หนึ่ง สัญญาที่สองออกแบบช่วงที่สอง สัญญาที่สามออกแบบช่วงที่สาม สัญญาที่สี่ก่อสร้าง สัญญาที่ห้าก็ก่อสร้างอีก สิ่งที่น่าสงสัยก็คือทำไมไม่ทำแบบเดิมที่ให้คนรับเหมารับสัมปทาน ได้ทำไปให้จบสิ้นกระบวนความไปเลย ที่น่าคิดก็คือการมีสัญญาหลายๆ สัญญาทำให้มีการชักเปอร์เซ็นต์การโกงได้มากครั้งกว่าใช่หรือไม่

            การสร้างทางด่วน รถไฟฟ้าหรือสาธารณูปโภคอื่นๆ นั้นน่าจะมีนายทุนใหญ่ๆ ทั้งในประเทศและจากต่างประเทศสนใจมาลงทุน มูลค่างานที่ 20,000 ถึง 100,000 ล้านบาท ก็ไม่ได้น่าจะมากมายเกินไปนักสำหรับนายทุนใหญ่จริงๆที่สนใจประเทศกำลังพัฒนา เช่น ไทยหรือประเทศอื่นๆ รัฐบาลที่ไม่โกงก็เพียงต้องรอบคอบในการทำสัญญาจะได้ไม่ต้องเสียค่าโง่ เป็นต้น

            ควรส่งเสริมให้ประชาชนได้รับความรู้ว่าในทั่วโลก การก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าโมโนเรล ไลท์เรล หรือระบบรถไฟครบเครื่อง มีค่าก่อสร้างอยู่ที่เท่าไหร่กันแน่ ถ้ามีข้อมูลเหล่านี้ ก็จะเห็นได้ชัดว่าโครงการไหนมีการโกงกินกันบ้าง อันที่จริงถ้าหากมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้โปร่งใส แม้แต่เรือดำน้ำ รถถัง ก็ยังสามารถเปรียบเทียบราคาตลาดกันได้ จะได้เห็นชัดว่าการจัดซื้อ การรับสัมปทานอันไหนสุจริตจริง

            นอกจากการคิดโครงการระบบทางด่วนรถไฟฟ้าขึ้นมาเพื่อการโกงกินแล้ว รัฐบาลยังส่งเสริมให้เกิดการผูกขาดเสียอีก อย่างเช่นในประเทศมาเลเซีย ทางด่วนที่ให้เอกชนทำในยุคแรกๆ ซึ่งยังไม่หมดอายุสัมปทาน ก็ได้รับการขยายอายุเชื่อมต่อเส้นทางออกไปเรื่อยๆ โดยผู้รับสัมปทานเดิม เลยไม่หมดอายุสัมปทานเสียทีแถมยังส่งเสริมให้กลุ่มทุนเหล่านี้ผูกขาดเสียอีก

            พวกที่ต้องการโกงกินมักจะสร้างเรื่องเท็จให้เราหลงเชื่อหลายอย่างซึ่งประชาชนพึงรู้จะได้ไม่ถูกหลอกอีก เช่น

            1. ตอนที่จะสร้างรถไฟฟ้าแบบลอยฟ้าก็สร้างเรื่องเท็จมาบอกว่าดินในกรุงเทพอ่อนไม่สามารถสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินได้

            2. ตอนที่อยากจะโกงกินหนักๆ ก็บอกว่าไม่ควรให้สัมปทานแก่นายทุนใหญ่รายเดียวในแต่ละเส้นทางเพราะจะเป็นการผูกขาด ทั้งที่เราสามารถเขียนสัญญาให้รัดกุมได้และให้แต่ละนายทุนประสานงานกันได้

            3. ตอนที่อยากทำหลายๆ สัญญา เพื่อกลุ่มหลายๆ ทอด ก็บอกว่าควรมีการรับเหมาหลายช่วง แต่หากรายใดรายหนึ่งทำไม่สำเร็จขึ้นมาก็อาจจะทำให้ระบบโดยรวมเกิดปัญหาได้

            4. ตอนที่จะส่งเสริมให้เกิดการผูกขาด ก็จะต่ออายุสัมปทานก่อนกำหนดหรือหาเรื่องขยายเส้นทางเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับผู้รับสัมปทานเดิมและกีดกันผู้จะมาประมูลรายอื่น เป็นต้น

            เราคงดีใจที่จะมีรถไฟฟ้าจนมองข้ามการโกงกิน มโหฬารไป โปรดสังวร

อ่าน 5,834 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved