เมื่อเร็วๆ นี้หนังสือพิมพ์ประชาชาติพาดหัวว่า "กานต์ ตระกูลฮุน EEC เป็นเพชรเม็ดใหม่ ใหญ่กว่าอีสเทิร์นซีบอร์ด" ดร.โสภณ มองต่างมุม ติ 'กานต์' อย่ามองแง่ดีจนเกินไป จนพาคนลงเหว
ตามหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ (3-5 กรกฎาคม 2560 หน้า 1) เขียนถึงคำสัมภาษณ์ของคุณกานต์ ตระกูลฮุน เกี่ยวกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (Easter Economic Corridor: EEC) ว่า
1. EEC ใหญ่กว่าอีสเทิร์นซีบอร์ดที่เป็นแค่อำเภอเท่านั้น และเน้นอุตสาหกรรมอย่างเดียว แต่ EEC ยังเน้นอุตสาหกรรมใหม่และการท่องเที่ยวด้วย
2. สนามบินอู่ตะเภาจะเป็นศูนย์ซ่อมเครื่องบิน แทนสิงคโปร์ เบื้องต้นรองรับคนได้ 3 ล้านคน แต่ถ้ารันเวย์ 2 เสร็จจะได้มากกว่านี้และจะมีรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน
3. จะมีโครงการใหม่ ๆ เช่น หุ่นยนต์ ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เมืองท่องเที่ยว ท่าเรือจุกเสม็ด
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ให้ความเห็นว่า
1. นับเป็นความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงของคุณกานต์ที่เข้าใจว่าโครงการพัฒนาภูมิภาคชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard Region) เป็นแค่ระดับอำเภอ ทั้งที่ในการพัฒนาเมือง 35 ปีก่อน ก็เน้นทั้งระยองและชลบุรี โดยมีค่าเรือน้ำลึก 3 แห่ง การพัฒนานิคมอุตสาหกรมจำนวนมาก รวมทั้งโครงการตัดถนนใหม่ ๆ เป็นจำนวนมาก จำนวนนิคมอุตสาหกรรมที่จะพัฒนาใหม่ในโครงการ EEC ยังน้อยกว่าของโครงการพัฒนาภูมิภาคชายฝั่งทะเลตะวันออกเดิมเสียอีก
2. อุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียวที่คุณกานต์พูดถึงในการพัฒนาโครงการภูมิภาคชายฝั่งทะเลตะวันออก คงหมายถึงอุตสาหกรรมน้ำมัน-แก๊ส-ปิโตรเคมี ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักและเป็นอุตสาหกรรมรากฐานที่ต่อยอดไปถึงอุตสาหกรรมอื่นเกือบทั้งหมด อุตสาหกรรมต่อยอดใน EEC เป็นแค่อุตสาหกรรมเสริมต่างหาก
3. ที่ว่าการพัฒนา EEC รวมถึงการท่องเที่ยวด้วย แต่ดูเปะปะสับสนไปหมด ไม่แน่ว่าการพัฒนาปนเปกันจนอาจบั่นทอนหรือทำลายการท่องเที่ยวก็เป็นไปได้ จะเห็นได้ว่ารัฐบาลไม่ได้กำหนดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ แล้วแต่นักลงทุนจะไปพัฒนาบริเวณไหน อาจกินพื้นที่สีเขียวหรือเกษตรกรรมใด ๆ ก็สุดแต่จะตกลงกันเอง ไม่มีการเวนคืน ไม่มีการจัดระเบียบเท่าที่ควร
4. การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้สามารถรองรับคนได้ 3 ล้านคน จะเป็นในปี 2561 แต่ถ้าจะให้ได้คน 15 ล้านคน คงต้องรออีกนาน และจะได้ให้ได้คนถึง 60 ล้านคน ก็คงต้องรอไปอีก 20 ปีข้างหน้า ดังนั้นจึงไม่ได้รวดเร็วดังที่วาดฝันไว้ (http://bit.ly/2tGKr7A)
5. โครงการหุ่นยนต์ อุทยานวิทยาศาสตร์ ก็ต้องลองว่า "ราคาคุย" กับของจริงจะเกิดขึ้นหรือไม่อย่างไร
6. สิ่งที่น่ากลัวก็คือที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติในไทยได้ "หนี" ไปประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ เป็นอันมาก ประเทศอื่นๆ เหล่านี้ก็ต่างพยายามดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศกันอย่างสุดฤทธิ์ ลำพังเพียงสิ่งที่ทำจะเป็นคำตอบที่ "ใช่หรือ" สำหรับการกระตุ้นการลงทุนต่างประเทศหรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องคิดให้ดี
ดังนั้นสำหรับนักลงทุนไทย ก็คงต้องติดตามสถานการณ์โดยใกล้ชิด กรองข่าวต่าง ๆ ให้ดีก่อนจะเชื่อตามเครดิตเดิมๆ ของคนพูด อย่าลืมว่า "ไม่เห็นกระรอก อย่าเพิ่งโก่งหน้าไม้" อย่าให้ใคร "พาลงเหว" และโปรดสังวรว่า "การลงทุนมีความเสี่ยง" ซึ่งหลายโครงการอาจมีความเสี่ยงสูงมาก